นิฮอน ฮิดันเคียว (Nihon Hidankyo) ซึ่งเป็นองค์กรเคลื่อนไหวรากหญ้าของเหยื่อที่รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2024 ในการประกาศรางวัลที่กรุงออสโลของนอร์เวย์วันนี้ (11 ต.ค.)
“รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพถูกมอบแก่เหล่าฮิบาคุชะ (hibakusha : คำเรียกเหยื่อผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู) จากความพยายามของพวกเขาที่จะทำให้โลกปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ และแสดงให้เห็นผ่านคำบอกเล่าจากผู้เห็นเหตุการณ์จริงว่า อาวุธนิวเคลียร์ไม่สมควรจะถูกนำมาใช้อีก” คณะกรรมการโนเบลแห่งนอร์เวย์ ระบุในการประกาศรางวัล
“ฮิบาคุชะช่วยให้พวกเราสามารถอธิบายสิ่งที่ยากจะอธิบาย ช่วยให้พวกเราได้คิดถึงสิ่งที่เราคาดคิดไม่ถึง และช่วยให้เราเข้าใจถึงความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานจากอาวุธนิวเคลียร์ที่พวกเราเองยากที่จะเข้าใจได้”
เหยื่อชาวญี่ปุ่นซึ่งรอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู 2 ลูกที่เคยถูกนำมาใช้จริงครั้งแรกในสงครามได้อุทิศชีวิตของพวกเขาเพื่อรณรงค์เรียกร้องให้โลกปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์
เจอร์เกน วัตเน ฟรีดเนส (Joergen Watne Frydnes) ประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ ยังเอ่ยเตือนโดยไม่พาดพิงถึงประเทศใดอย่างเฉพาะเจาะจงว่า ชาติที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ไม่ควรที่จะคิดนำอาวุธทำลายล้างสูงเหล่านี้ออกมาใช้
“อาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบันนี้มีอำนาจในการทำลายล้างมากกว่าแต่ก่อน มันสามารถเข่นฆ่าคนเป็นล้านๆ และก่อให้เกิดหายนะต่อสภาพอากาศของโลก” เขาระบุในงานแถลงข่าว “สงครามนิวเคลียร์อาจทำลายล้างอารยธรรมของมนุษย์”
ทั้งนี้ คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องอาวุธนิวเคลียร์อยู่เสมอ โดยเมื่อไม่นานนี้ก็ได้ตัดสินมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้แก่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ (International Campaign to Abolish Nuclear Weapons - ICAN) ในปี 2017
รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพซึ่งมีเงินรางวัลจำนวน 11 ล้านโครนาสวีเดน หรือประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะถูกมอบให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่ได้รับเลือกในพิธีมอบรางวัลซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงออสโลในวันที่ 10 ธ.ค. ซึ่งตรงกับวันครบรอบการเสียชีวิตของ อัลเฟรด โนเบล นักเคมีชาวสวีเดน วิศวกร นักประดิษฐ์ ผู้ผลิตอาวุธ และผู้คิดค้นดินระเบิดไดนาไมต์ ซึ่งได้ก่อตั้งรางวัลนี้ขึ้นตามคำสั่งเสียในพินัยกรรมของเขาเมื่อปี 1895
ที่มา : รอยเตอร์