xs
xsm
sm
md
lg

ช่วยกันรุมกินโต๊ะ! US ยุพันธมิตรจัดตั้ง 'กลุ่มนาโตเศรษฐกิจ' ล็อกเป้าจัดการจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ และพันธมิตรควรตัดตั้งแนวร่วมหนึ่งขึ้นมาในรูปแบบเดียวกับนาโต เพื่อตอบโต้การบีบบังคับทางเศรษฐกิจจากจีน ด้วยจุดยืนที่เป็นหนึ่งเดียวกัน จากคำกล่าวของผู้แทนทูตอเมริกาประจำญี่ปุ่น ที่แสดงความคิดเห็นในบทความหนึ่งซึ่งเผยแพร่เมื่อช่วงกลางสัปดาห์

ราห์ม เอ็มมานูเอล เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น ระบุในบทความที่เขียนลงหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประสบความสำเร็จในการขยายความเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงพหุภาคี ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และเวลานี้ถึงเวลาแล้วที่จะพิจารณาเพิ่มเติมมาตรการใหม่ทางเศรษฐกิจเล่นงานจีน

หนึ่งในแนวคิดดังกล่าวคือแนวร่วมปกป้องทางการค้า เอ็มมานูเอลกล่าว และเพื่อให้แนวร่วมดังกล่าวมีประสิทธิภาพ เขาชี้แนะว่า "มันควรเป็นกลุ่มเศรษฐกิจเทียบเท่ากับมาตรา 5 ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่ระบุว่าการโจมตีรัฐหนึ่งๆ เทียบเท่ากับการโจมตีสมาชิกนาโตทั้งมวล"

เอ็มมานูเอล บอกว่าประเทศต่างๆ อย่างเช่นออสเตรเลีย ที่ต้องเผชิญกับการกำหนดมาตรการรีดภาษีระดับสูงจากจีน หลังจากส่งเสียงเรียกร้องให้ตรวจสอบอย่างเป็นทางการต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2022 คือบทเรียนที่มีค่ายิ่งสำหรับเรื่องนี้

เขาชี้แนะว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศต่างๆ ที่มีความคิดแบบเดียวกันต้องทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งในกรณีนี้จะช่วยออสเตรเลียลดการพึ่งพาจีนในด้านเศรษฐกิจ ด้วยการขยายการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ แทน ภายใต้ความช่วยเหลือของเครือขายพันธมิตร และมีความเป็นไปได้สำหรับแคนเบอร์ราที่จะสามารถบีบให้ปักกิ่งยอมอ่อนข้อให้

ข้อเสนอของเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น มีขึ้นในขณะที่แนวคิดของนายกรัฐมนตรีชิเกรุ อิชิบะ ในการจัดตั้งพันธมิตรป้องกันตนเองแบบเดียวกับนาโตในเอเชีย กำลังเป็นที่ถกเถียงอย้างกว้างขวาง

ทั้งนี้ เอ็มมานูเอล เป็นที่รู้จักกันดีในท่าทีแข็งกร้าวกับจีน เขาเคยเป็นหัวหน้าคณะทำงานของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ระหว่างปี 2009 และ 2010 และถูกคาดหมายว่าอาจได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ หากรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส คว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนนี้

แม้รู้ดีถึงความจำเป็นกรณีต้องยกระดับรับมือกับภัยคุกคามจากจีน เกาหลีเหนือและรัสเซีย แต่พวกเจ้าหน้าที่ทั้งในโตเกียวและวอชิงตัน เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ต่างมองแนวคิดจัดตั้งนาโตเอเชียของอิชิบะ ว่าไม่มีความเป็นไปได้ในความเป็นจริง ขณะเดียวกันทาง อิชิบะ เองก็พยายามลดกระแสแนวคิดดังกล่าว นับตั้งแต่ก้าวมาเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในวันที่ 1 ตุลาคม

(ที่มา : เจแปนทูเดย์)


กำลังโหลดความคิดเห็น