xs
xsm
sm
md
lg

พวกมองจีนเวลานี้ว่าอนาคตมืดมนเนื่องจากปัญหาประชากร กำลังผิดพลาดซ้ำรอย ‘พอล ครุกแมน’ที่เคยฟันธงเมื่อ 30 ปีก่อนว่า‘พวกเสือเอเชีย’จะไปไม่รอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี โกลด์แมน


การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ ซึ่งขับดันโดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และการรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง  หลายฝ่ายเห็นว่ากำลังถือกำเนิดขึ้นแล้วในประเทศจีน
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China’s demographic doomsayers cite the wrong data
By DAVID P GOLDMAN
01/07/2023

เหมือนกับ พอล ครุกแมน ที่เคยทำนายพลาดร้ายแรงเกี่ยวกับอนาคตของพวกเสือแห่งเอเชีย เวลานี้บรรดาบัณฑิตผู้รู้ในอเมริกาจำนวนมากก็กำลังอ่านผิดในเรื่องความหมายของการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ของจีน

มุกขบขันมุกหนึ่งซึ่งพวกบัณฑิตผู้รู้ชาวอเมริกันนิยมกันมาก คือการอำกันสนุกสนานโดยมุ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของจีนมีอนาคตอันมืดมน สืบเนื่องจากจำนวนประชากรที่กำลังลดน้อยลงไปอย่างช้าๆ อย่างไรก็ดี สิ่งซึ่งสำคัญยิ่งเสียกว่าประชากรชาวจีนที่นำเอาแค่จำนวนตัวเลขมาบวกๆ กัน ก็คือ ความชำนาญเชี่ยวชาญทางเทคนิคของประชากรชาวจีน

ในแง่นี้ จีนมีอัตราเติบโตขึ้นมาในระดับ 20 เท่าตัว หรือราวๆ 2,000% ทีเดียวในรอบ 40 ปีมานี้ ประเทศเอเชียอื่นๆ โดยเฉพาะที่โดดเด่นมากคือเกาหลีใต้ ก่อนหน้านี้ก็เคยมีผลบวกทางด้านผลิตภาพพุ่งพรวดขึ้นมาในระดับทำลายสถิติ จากการมีทักษะความชำนาญเพิ่มพูนขึ้นอย่างน่าตื่นใจในทำนองเดียวกันนี้

ก่อนหน้านี้ เราเคยได้ยินเหตุผลข้อโต้แย้งที่กำลังถูกนำมาใช้กับจีนอยู่ในเวลานี้แล้ว โดยตอนนั้นเป็นการนำมาใช้กับพวกเสือแห่งเอเชีย (Asian Tigers) ทั้งหลาย พวกมองโลกในแง่ร้ายเหล่านี้มีช่วงเวลาอันรุ่งเรืองที่สุดของพวกเขาในช่วงก่อนหน้าที่อัตราเติบโตของเอเชียตะวันออกจะทะยานขึ้นลิ่วๆ ไม่นานนัก โดยที่บางทีการพยากรณ์เศรษฐกิจที่เลวร้ายย่ำแย่ที่สุดเท่าที่เคยบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ น่าจะเป็นการยืนกรานหัวชนฝาเมื่อปี 1994 ของ พอล ครุกแมน (Paul Krugman) ที่ว่า ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของเอเชียซึ่งพูดๆ กันอยู่ในเวลานั้นเป็นเพียงภาพมายา และ เสือเอเชีย –ที่ประกอบด้วย สิงคโปร์, เกาหลีใต้, และไต้หวัน –จะพังครืนลงมาทำนองเดียวกับสหภาพโซเวียต

ครุกแมน นักวิชาการผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ และเป็นบัณฑิตผู้รู้ที่เป็นคอลัมนิสต์ของนิวยอร์กไทมส์ กล่าวอ้างเอาไว้ในบทความตีพิมพ์ทางนิตยสารซึ่งได้รับการยกย่องสรรเสริญอย่าง ฟอเรนจ์แอฟแฟร์ส (Foreign Affairs) โดยบอกว่า “พวกประเทศที่กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมของเอเชีย ก็ทำนองเดียวกับสหภาพโซเวียตในยุคทศวรรษ 1950 การที่พวกเขาสามารถบรรลุอัตราเติบโตอย่างรวดเร็วได้ ที่สำคัญแล้วก็โดยผ่านการระดมทรัพยากรอย่างมหาศาลชวนตื่นตระหนกเข้ามาใช้สอย แต่ในทันทีที่เราพิจารณาถึงบทบาทของอินพุตซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอัตราการเติบโตขยายตัวของประเทศเหล่านี้แล้ว เราก็พบว่าแทบไม่มีอะไรเหลือแล้วที่จะต้องอธิบายกันอีก การเติบโตของเอเชีย ก็เฉกเช่นเดียวกับของสหภาพโซเวียตในสมัยซึ่งมีการเติบโตขยายตัวอย่างสูงของพวกเขา ดูเหมือนถูกขับดันด้วยการเติบโตอย่างมากมายเป็นพิเศษในด้านอินพุตที่ใส่เข้าไป อย่างเช่นแรงงานและเงินทุน แทนที่จะเป็นดอกผลซึ่งมาจากความมีประสิทธิภาพ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.foreignaffairs.com/articles/asia/1994-11-01/myth-asias-miracle)

ครุกแมน ยืนยันอย่างมั่นใจว่า พวกเสือแห่งเอเชียเหล่านี้ กำลัง “วิ่งเข้าสู่ภาวะผลตอบแทนลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ” (diminishing returns) อย่างไรก็ดีปรากฏว่า ผลิตภาพทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตในเกาหลีใต้ กลับทะยานพรวดขึ้นมากว่า 5 เท่าตัวในช่วงระหว่างปี 1994 ถึงปี 2012 ถือเป็นความสำเร็จที่น่าตื่นตะลึง

กราฟฟิก: เอเชียไทมส์

เป็นความจริงที่ว่ากำลังแรงงานทางอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ได้ลดต่ำลง ในระหว่างช่วงแห่งความรุ่งเรืองทางอุตสาหกรรมการผลิตอย่างยิ่งใหญ่ของตน ทว่าเกาหลีใต้ยังคงตามไล่ทันญี่ปุ่นได้สำเร็จ และในบางกรณีกระทั่งแซงหน้าแดนอาทิตย์อุทัยด้วยซ้ำในอุตสาหกรรมหลักๆ เป็นต้นว่า เซมิคอนดักเตอร์, จอภาพ, และรถยนต์ ทุกวันนี้ไม่มีบริษัทญี่ปุ่นแห่งใดเลยที่สามารถแข่งขันกับ ซัมซุง ในเรื่องชิปคอมพิวเตอร์


ในปี 1990 มีผู้จบการศึกษาระดับมัธยมปลายของเกาหลีใต้เพียงแค่ 35% เท่านั้น ที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่เมื่อถึงปี 2010 สัดส่วนนี้พุ่งพรวดขึ้นมายืนอยู่ที่ตัวเลขอันน่าเตะตายิ่ง นั่นคือ 100% เต็ม กรุงโซลเวลานี้มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก PhD มากยิ่งกว่านครแห่งไหนๆ ในโลก ชาวเกาหลีใต้นั้นได้ลงทุนอย่างน่าประทับใจในด้านโรงงาน, เครื่องจักรอุปกรณ์, และด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าอะไรอื่นทั้งหมด คือพวกเขาให้การศึกษาแก่ประชาชนของพวกเขาจนขึ้นสู่ระดับมาตรฐานโลก

จีนเวลานี้กำลังพยายามทำสิ่งที่เกาหลีใต้ทำมาแล้วระหว่างช่วงปลายทศวรรษ 1990 ถึงต้นทศวรรษ 2000 โดยที่กระทำกันในขนาดขอบเขตที่ใหญ่โตมโหฬารยิ่ง เหตุผลข้อโต้แย้งของครุกแมน ในเรื่องอัตราผลตอบแทนที่กำลังลดน้อยลง ซึ่งเขาเคยใช้เมื่อปี 1994 ได้หวนกลับปรากฏตัวอีกครั้งหนึ่งโดยคราวนี้เป็นกรณีของจีน นั่นคือ มีการโต้แย้งว่า จีนนั้นได้เคลื่อนย้ายประชากรชนบทของตนมาอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ กันแทบทั้งหมดแล้ว และจึงไม่สามารถที่จะพึ่งพาอาศัยปัจจัยเรื่องการพุ่งพรวดขึ้นมาของซัปพลายด้านแรงงาน ซึ่งเคยให้พลังแก่การเติบโตของแดนมังกรในช่วงระหว่างทศวรรษ 2000 ได้อีกแล้ว

อัตราเติบโตในอดีตของจีนนั้นพึ่งพาอาศัยอินพุตด้านแรงงานและเงินทุนอย่างมากมายมหาศาล ไม่ใช่อาศัยผลดีจากความมีประสิทธิภาพ แล้วประชากรที่กำลังสูงวัยขึ้นเรื่อยๆ ของแดนมังกรก็จะไม่ประหยัดอดออมมากเหมือนเมื่อก่อน โดยที่พวกอยู่ในวัยเกษียณจะเริ่มต้นใช้จ่ายซึ่งทำให้เงินออมของพวกเขาลดน้อยลง ดังนั้นเงินทุนจะหายากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้น ยังมีข้อโต้แย้งในทำนองว่า จีนได้ดำเนินการส่งออกจนกระทั่งตลาดส่งออกในบรรดาประเทศพัฒนาแล้วของพวกเขา อยู่ในสภาพอิ่มตัวกันไปหมด

เหตุผลข้อโต้แย้งทั้งหมดเหล่านี้มีความถูกต้องในทางตัวเลข ทำนองเดียวกับที่เหตุผลข้อโต้แย้งของ ครุกแมน เกี่ยวกับพวกเสือเอเชีย เมื่อปี 1994 มีความถูกต้องในทางตัวเลขนั่นแหละ กล่าวคือ มันเป็นความถูกต้องเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาในอดีตซึ่งหลังจากเวลาผ่านไปมันก็ไม่ใช่อย่างนั้นอีกต่อไปแล้ว สิ่งที่ ครุกแมน เคยพลาดในอดีต และพวกนักมองจีนแง่ร้ายในทุกวันนี้ยังคงพลาดกันอยู่ คือเรื่องการบรรจบกันของ การลงทุนด้านทุนมนุษย์แบบกระโจนพรวดพราด และการปรากฏขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ

กำลังแรงงานที่ได้รับการศึกษาสูงขึ้นใหม่ๆ หมาดๆ ของเกาหลีใต้ สามารถยึดกุมพวกเทคโนโลยีในยุคการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่สาม (Third Industrial Revolution technologies) และเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมประเทศที่เคยเป็นหนึ่งในชาติยากจนที่สุดของโลก ให้กลายเป็นมหาอำนาจไฮเทคภายในชั่วคนเจนเนอเรชั่นเดียว

เมื่อตอนที่ เติ้ง เสี่ยวผิง เริ่มต้นการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของเขาในปี 1979 มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายของจีนเพียงแค่ 3% ที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ทุกวันนี้ สัดส่วนดังกล่าวนี้อยู่ที่ 63% อันเป็นระดับใกล้เคียงกับพวกประเทศยุโรปส่วนใหญ่ เวลาเดียวกัน นักศึกษาระดับปริญญาตรีของจีนเวลานี้ราวหนึ่งในสามทีเดียวเข้าศึกษาในสาขาวิชาวิศวกรรม เปรียบเทียบกับที่มีเพียงแค่ 6% ในสหรัฐฯ

เกาหลีใต้นั้นถือเป็นตัวอย่างยอดนิยมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงกันในเรื่องความสำเร็จของการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่สาม ซึ่งก็คือยุคของคอมพิวเตอร์และการสื่อสารโทรคมนาคม ประเทศจีนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นผู้นำในการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ ซึ่งขับดันโดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และการรับส่งข้อมูลด้วยอัตราความเร็วสูง

เศรษฐกิจใหม่ของจีน ตั้งครรภ์อยู่ภายในท้องของเศรษฐกิจอย่างเก่านั่นแหละ เศรษฐกิจแบบโรงงานอุตสาหกรรมควันโขมงและทักษะต่ำของเติ้ง คือสิ่งที่จะทำให้จีนได้รับอัตราผลตอบแทนจากแรงงานและเงินทุนที่ลงไปในระดับลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ทว่ามันไม่ใช่เช่นนั้นเลยสำหรับเศรษฐกิจแห่งการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ซึ่งจีนกำลังสร้างขึ้นมาในทุกวันนี้

ตามตัวเลขข้อมูลของ หัวเว่ย เวลานี้มีธุรกิจจีน 10,000 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงงานราวๆ 6,000 แห่ง ซึ่งติดตั้งเครือข่าย 5จีประเภทส่วนตัว (private) นั่นคือใช้กันเฉพาะพวกเขากันเองเท่านั้นขึ้นมาแล้ว ตอนนี้มันยังคงเป็นช่วงแรกๆ เท่านั้นก็จริง แต่ผลลัพธ์เบื้องต้นที่ออกมาต้องถือว่าโดดเด่นเตะตา

ภายในเขตท่าเทียบเรืออัจฉริยะของท่าเรือเทียนจิน ((Tianjin Port)) เครนยกประจำท่าเทียบเรือซึ่งควบคุมโดยระบบทางไกล ทำงานยกตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้าจากเรือสินค้าต่างๆ ไปวางบนรถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ โดยที่มีการสื่อสารสั่งงานกันด้วยระบบสื่อสารไร้สาย 5จี (ภาพเผยแพร่โดย หัวเว่ย)
ณ ท่าเรือเมืองเทียนจิน (Tianjin Port) พวกเครนยกของที่ชี้นำโดยเทคโนโลยีเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) ซึ่งต่อเชื่อมกันโดยเครือข่ายบรอดแบนด์ไร้สาย 5จี สามารถที่จะเลือกยกตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นมาจากเรือสินค้าต่างๆ และนำเอาตู้คอนเทนเนอร์เหล่านี้ขึ้นรถบรรทุกที่เคลื่อนตัวเข้า


กำลังโหลดความคิดเห็น