xs
xsm
sm
md
lg

‘อเมริกัน’ เป็นปลื้ม ‘จีน’ สั่งแบน ‘บิตคอยน์’ ทำให้ ‘เหมืองคริปโต’ โยกย้ายมายังสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พนักงานติดตั้งเครื่องจักรขุดเหมืองคริปโตแถวใหม่ ณ โรงงานขุดเหมืองของ วินสโตน ในเมืองร็อคเดล รัฐเทกซัส เมื่อวันที่ 9 ต.ค.
แถวอาคารโรงงานยาวเหยียด ณ เหมืองขุดเหรียญคริปโตแห่งใหญ่ที่สุดของอเมริกาเหนือ แลดูสุดลูกหูลูกตาท่ามกลางแสงอาทิตย์จัดจ้านของเทกซัส ภายในโรงงานเหล่านี้ติดตั้งแน่นขนัดด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องอุปกรณ์ประเภทต่างๆ ซึ่งเพิ่งช่วยให้สหรัฐฯ กลายเป็นฮับระดับโลกแห่งใหม่สำหรับสกุลเงินตราดิจิทัล

กิจการที่เปิดดำเนินการอยู่ในเมืองเล็กเงียบๆ อย่าง ร็อคเดล แห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจซึ่งอึกทึกครึกโครมอยู่แล้วของสหรัฐฯ มิหนำซ้ำเวลานี้ยังยิ่งเฟื่องฟูขึ้นไปอีกด้วยแรงหนุนส่งจากการที่ปักกิ่งลงมือปราบปรามกำจัดคริปโตอย่างเข้มข้นจริงจัง จนผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้ต้องเร่งหลบลี้โยกย้ายกันออกไป

พวกผู้เชี่ยวชาญพูดกันว่า การที่สหรัฐฯ มีทั้งการปกครองแบบยึดถือหลักนิติธรรม และกระแสไฟฟ้าราคาถูก คือมนตร์เสน่ห์ดึงดูดพวกนักขุดเหมืองบิตคอยน์ ซึ่งต้องอาศัยบรรดาคอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วในการประมวลผลสูงลิ่ว ขณะเดียวกันก็กินไฟอย่างระเบิดระเบ้อ ในการแข่งขันกันเพื่อไขรหัสปลดล็อกได้เหรียญเงินตราดิจิทัลมาครอบครอง

“มีผู้แข่งขันเยอะแยะเลยกำลังเดินทางมาที่เทกซัสนี่ เพราะพวกเขามองเห็นสิ่งเดียวกันกับที่พวกเราเห็นเมื่อตอนที่พวกเรามาที่นี่” เป็นคำกล่าวของ แชด เอเวอเรตต์ แฮร์ริส ซีอีโอของกิจการขุดเหมือง วินสโตน ซึ่งดำเนินงานที่ไซต์ ร็อคเดล ให้เจ้าของตัวจริง คือ บริษัทสหรัฐฯ ชื่อ ไรอ็อต บล็อกเชน

จีนเคยเป็นศูนย์กลางของการทำเหมืองคริปโตอย่างชนิดที่ไม่มีกล้าโต้แย้ง โดยที่เป็นเจ้าของศักยภาพในเรื่องนี้ของทั่วโลกอยู่ประมาณสองในสาม ณ เดือนกันยายน 2019 อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนที่แล้วปักกิ่งประกาศว่าธุรกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเงินคริปโตถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขณะที่จีนเองกำลังหาทางออกสกุลเงินดิจิทัลของตนเอง

ตัวเลขที่เผยแพร่ในวันพุธ (13) ที่ผ่านมาโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมด้านคริปโตในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงเวลาเพียงแค่ 4 เดือน จากพฤษภาคมจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ทำให้ส่วนแบ่งตลาดในกิจการนี้ของชาติเจ้าของระบบเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้ทะยานขึ้นไปเป็น 35.4%

ขณะที่ ซามีร์ ตาบาร์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านยุทธศาสตร์ของกิจการขุดเหมือง บิต ดิจิทัล บรรยายสิ่งที่พวกเขาประสบอยู่อย่างเป็นรูปธรรมว่า บริษัทเริ่มถอนตัวออกจากจีนตั้งแต่ปี 2020 และเร่งรัดกระบวนการให้รวดเร็วขึ้นอีกขณะที่การปราบปรามเข้มข้นมากขึ้น จนเวลานี้การดำเนินงานของพวกเขาอยู่ที่สหรัฐฯ และแคนาดาเป็นสำคัญ

“การที่จีนห้ามทำเหมืองบิตคอยน์ โดยพื้นฐานแล้วคือการมอบของขวัญแบบไม่ได้ตั้งใจให้แก่สหรัฐฯ” เขากล่าวด้วยคำพูดซึ่งฟังดูแล้วเหมือนกับเย้ยเยาะระคนขุ่นเคือง “ต้องขอบคุณการที่พวกเขาสั่งแบนนะ เซ็กเตอร์ทั้งเซ็กเตอร์เลยอพยพโยกย้ายมาที่อเมริกาเหนือ - พร้อมๆ กับนวัตกรรม แรงงาน และเครื่องจักรอุปกรณ์”

ภาพถ่ายจากทางอากาศ แถวอาคารโรงงานขุดเหมืองคริปโตของ วินสโตน ในเมืองร็อคเดล รัฐเทกซัส
สำหรับปัจจัยซึ่งดึงดูดให้พากันย้ายมาที่สหรัฐฯ นั้น ที่พูดถึงกันอยู่มากได้แก่ การที่อเมริกามีรัฐบาลแบบประชาธิปไตย มีระบบศาลที่น่าเชื่อถิอ และมีอำนาจในการปกป้องสิทธิในทรัพย์สิน

“ถ้าคุณกำลังจะทำการลงทุนระยะยาวและสั่งสมความมั่งคั่งร่ำรวยในประเทศใดประเทศหนึ่ง คุณย่อมต้องการที่จะให้มีความมั่นอกมั่นใจกันบ้างว่า มันจะไม่ถูกรัฐบาลของประเทศนั้นยึดเอาไป” เดวิด เยอร์แมค ผู้เชี่ยวชาญด้านคริปโตอยู่ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวสำทับ

เป็นเพียงการหวนกลับอเมริกันชั่วคราว?

เยอร์แมค คาดหมายว่า การโยกย้ายมาที่สหรัฐฯ น่าจะเป็นเพียงชั่วคราว โดยบอกว่าสถานที่อย่างเช่นพวกประเทศแถบนอร์ดิก (เดนมาร์ก ฟินแลดน์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน) นั้นน่าสนใจมากกว่า ตรงที่มีพลังงานหมุนเวียนสำหรับการผลิตไฟฟ้าในปริมาณมหาศาลและราคาถูก ขณะเดียวกัน อากาศก็เย็นซึ่งช่วยลดความร้อนของพวกเครื่องจักรเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการทำเหมืองคริปโต

อันที่จริง การเข้ามาตั้งกิจการขุดเหรียญในสหรัฐฯ กันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมาอย่างไม่ขาดสายแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการที่อุตสาหกรรมนี้บริโภคไฟฟ้าอย่างมหาศาล ปีหนึ่งๆ มากกว่าที่ใช้กันอยู่ในฟิลิปปินส์ทั่วประเทศด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ตามข้อมูลของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

ปฏิกิริยาในทางลบซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญแล้วมาจากความวิตกที่ว่าอุตสาหกรรมนี้ต้องพึ่งพาอาศัยกระแสไฟฟ้าซึ่งผลิตขึ้นจากกระบวนการที่ต้องมีปล่อยไอเสียคาร์บอน อันเป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

อย่างไรก็ดี แฮร์ริสแห่ง วินสโตน โต้แย้งว่า “การคิดว่าพวกเรากำลังทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นตัวสร้างมลพิษ หรืออะไรต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้ขึ้นที่นี่ ... แต่ไฟฟ้าที่พวกเราใช้ส่วนใหญ่แล้วมาจากโครงข่ายไฟฟ้า ERCOT ซึ่งมีการแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับพลังงานที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าว่ามีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง” ทั้งนี้ ERCOT ที่เขาพูดถึง คือกิจการผู้ประกอบการโครงข่ายไฟฟ้าของเทกซัส

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ ERCOT สำหรับปี 2020 ระบุว่า ประมาณ 46% ของกระแสไฟฟ้าของตนผลิตขึ้นมาโดยใช้แก๊สธรรมชาติ ขณะที่มาจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์รวมกันเป็นอีกราว 25% ส่วนที่มาจากถ่านหินมีราว 18%

สภาพภายในโรงงานขุดเหมืองคริปโตของ วินสโตน ในเมืองร็อคเดล รัฐเทกซัส
ทางด้าน วิกเตอริยา โซโตวา อาจารย์ในคณะบริหารธุรกิจ ของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ย้ำว่า ในธุรกิจเหมืองคริปโต ราคาค่าไฟฟ้าที่นักขุดต้องจ่ายคือกุญแจสำคัญที่สุด เรื่องนี้ทำให้เทกซัสกลายเป็นสถานที่ซึ่งได้รับความชื่นชอบเป็นพิเศษ เพราะตลาดกระแสไฟฟ้าที่นี่มีการเปิดเสรีลดเลิกระเบียบควบคุมกันไปแล้ว ดังนั้นบริษัทต่างๆ สามารถที่จะหาทางทำให้ได้เงื่อนไขที่ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น

“ในหลักการแล้ว พวกเขาสามารถซื้อไฟฟ้าตอนที่มันถูกลง และไม่ซื้อในตอนที่มันแพงขึ้น” เธออธิบาย

ขณะที่มีเหตุผลซึ่งมองเห็นได้ชัดเจนสำหรับการที่โลกคริปโตอพยพกลับมายังอเมริกา กระนั้น ยังมีบางคนรู้สึกเป็นพิเศษว่ามันเป็นสิ่งที่สวยงาม

ตาบาร์ แห่งกิจการนักขุดบิต ดิจิทัล เล่าว่า เวลานี้บริษัทของเขามีไซต์งานแห่งหนึ่งอยู่ในเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางสำคัญด้านอุตสาหกรรมการผลิตแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ทว่าต้องสูญเสียตำแหน่งงานและความมั่งคั่งไป เมื่องานการผลิตถูกโยกย้ายไปยังสถานที่อื่นๆ อย่างประเทศจีน

เขาพูดแบบดูเหมือนครื้มอกครื้มใจว่า การที่กิจการขุดเหมืองคริปโตแบบบริษัทของเขา เวลานี้ย้ายออกจากจีนกลับมาตั้งในเมืองบัฟฟาโล ทำให้เขาเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่าสิ่งต่างๆ กำลังเดินมาบรรจบกันจนกลายเป็นวงกลมครบวง และเรื่องนี้ทำให้เขารู้สึกนิดหน่อยว่า มันเป็นสิ่งที่สวยงาม

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น