xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ‘เกาหลีเหนือ-ใต้’ เปิดศึกประชันขีปนาวุธ ทำคาบสมุทรร้อนระอุ-ไม่มีใครยอมใคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ขีปนาวุธ SLBM ถูกยิงขึ้นจากเรือดำน้ำชั้น Dosan Ahn Chang-ho ขนาด 3,000 ตันของเกาหลีใต้ ระหว่างปฏิบัติการฝึกซ้อมที่ไม่ระบุทั้งเวลาและสถานที่ ภาพเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 ก.ย.
สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีเป็นที่น่าจับตามองอีกครั้ง หลังเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้งัดขีปนาวุธรุ่นใหม่ของตนเองออกมายิงทดสอบในเวลาไล่เลี่ยกันในสัปดาห์นี้ ในปรากฏการณ์ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นสัญญาณเตือนถึงการแข่งขันด้านอาวุธระหว่างเกาหลีทั้ง 2 ฝ่าย หลังความพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ผ่านเวทีการทูตไร้ผล

กองทัพเกาหลีใต้ประกาศความสำเร็จในการทดสอบยิงขีปนาวุธจากเรือดำน้ำ (submarine-launched missile - SLBM) เมื่อวันพุธ (15 ก.ย.) ซึ่งทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นชาติที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์รายแรกของโลกที่พัฒนาอาวุธชนิดนี้ได้

ในวันเดียวกันนั้น เกาหลีเหนือได้ทดสอบยิงขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missiles) จำนวน 2 ลูกไปตกในทะเลนอกชายฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นการทดสอบขีปนาวุธประเภทนี้ครั้งแรกตั้งแต่เดือน มี.ค. และยังเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่พวกเขาเพิ่งประสบความสำเร็จในการทดสอบ “ขีปนาวุธร่อนพิสัยไกล” ที่หลายฝ่ายคาดว่าอาจจะสามารถติดตั้ง “หัวรบนิวเคลียร์” ได้ด้วย

คณะประธานเสนาธิการทหารร่วมเกาหลีใต้ระบุว่า “ขีปนาวุธทิ้งตัวไม่ทราบชนิด” ถูกยิงออกจากตอนกลางของเกาหลีเหนือ เมื่อเวลาราว 12.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันพุธ (15) โดยขีปนาวุธนั้นพุ่งทะยานสู่ระดับความสูง 60 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก และเดินทางไปไกลประมาณ 800 กิโลเมตร ก่อนจะตกลงสู่ทะเล

ด้านกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นแถลงเมื่อค่ำวันพุธ (15) ว่า ขีปนาวุธโสมแดงทั้ง 2 ลูกเข้าไปตกในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของแดนปลาดิบ ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลที่รัฐบาลโตเกียวแถลงก่อนหน้านั้นว่าขีปนาวุธเกาหลีเหนือไม่ได้ตกในเขตน่านน้ำของญี่ปุ่น

ต่อมา ในเช้าวันพฤหัสบดี (16) สำนักข่าว KCNA ของเกาหลีเหนือรายงานว่า อาวุธที่นำมาทดสอบล่าสุดนี้คือ “ระบบขีปนาวุธติดตั้งบนรถไฟ” (railway-borne missile system) ที่ถูกออกแบบมาเพื่อยิงตอบโต้กองกำลังฝ่ายศัตรูที่คุกคามรัฐโสมแดง

เกาหลีเหนือภายใต้การปกครองของผู้นำสูงสุดที่ชื่อ “คิม จองอึน” ยังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีด้านขีปนาวุธอย่างไม่หยุดยั้ง ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ที่พยายามโน้มน้าวกดดันทุกวิถีทางให้เปียงยางยอมทิ้งขีปนาวุธและนิวเคลียร์ แลกกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร

เกาหลีเหนือเผชิญวิบากกรรมทางเศรษฐกิจเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรที่นานาชาติใช้ตอบโต้โครงการขีปนาวุธและนิวเคลียร์ของพวกเขา ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ คิม ก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ผู้นำเมื่อปลายปี 2011

สหรัฐฯ ในยุคของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้หันมาใช้นโยบายสานสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ โดยมีผู้นำเกาหลีใต้รับบทคนกลาง จนนำไปสู่การจัดประชุมซัมมิตหนแรกกับ คิม จองอึน ที่สิงคโปร์เมื่อปี 2018 ทว่าสุดท้ายการเจรจาได้หยุดชะงักไป หลังซัมมิตครั้งที่ 2 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อต้นปี 2019 พังครืนลงอย่างไม่เป็นท่า

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประณามการยิงทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือว่าเป็นการฝ่าฝืนมติหลายข้อของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และยังก่อภัยคุกคามให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่กองบัญชาการอินโด-แปซิฟิกของกองทัพสหรัฐฯ ยืนยันว่า ขีปนาวุธโสมแดง “ไม่ได้เป็นภัยคุกคามเฉพาะหน้า” ต่อบุคลากร ดินแดน หรือชาติพันธมิตรของอเมริกา แต่ก็ย้ำว่าโครงการพัฒนาขีปนาวุธที่ผิดกฎหมายนี้มีส่วนบั่นทอนเสถียรภาพในภูมิภาค

นายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ แห่งญี่ปุ่นวิจารณ์การกระทำของเปียงยางว่าเป็นสิ่งที่ “รับไม่ได้” และส่งผลคุกคามสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ขณะที่ จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่ารัฐบาลปักกิ่งคาดหวังให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง “ใช้ความอดทนอดกลั้น” ให้มาก

เกาหลีใต้เริ่มทุ่มเทงบประมาณจัดซื้อและพัฒนาระบบอาวุธรุ่นใหม่ๆ ของตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขีปนาวุธทิ้งตัว เรือดำน้ำ หรือเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ยังคงไว้ซึ่งนโยบายอย่างเป็นทางการที่จะไม่สะสมและแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ และสนับสนุนให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นดินแดนปลอดนิวเคลียร์


รามอน พาเชโค พาร์โด ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีจากมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน ระบุว่า การแข่งขันด้านอาวุธกับเกาหลีเหนือมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นในยุคของประธานาธิบดีมุน แจอิน โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือผลพวงจากนโยบายของทรัมป์ และความเคลื่อนไหวด้านการทหารในจีนและเกาหลีเหนือที่ทำให้ มุน เริ่มเบื่อหน่ายการพึ่งพาสหรัฐฯ และต้องการให้เกาหลีใต้มีอิสระในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของตัวเองมากยิ่งขึ้น

“เกาหลีใต้จะต้องเผชิญอุปสรรคทั้งทางการเมืองและกฎหมายมากมายหลายประการ หากคิดที่จะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ไม่ว่าจะจากภายในหรือนอกประเทศ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือการพัฒนาศักยภาพด้านอื่นๆ เพื่อป้องปรามเกาหลีเหนือ และแสดงให้เห็นว่าเกาหลีฝ่ายไหนเข้มแข็งกว่ากัน” พาเชโค พาร์โด ให้ความเห็น

มุน ยอมรับว่า เกาหลีใต้จำเป็นจะต้องพัฒนาขีปนาวุธให้มีศักยภาพสูงยิ่งขึ้นกว่าเดิมเพื่อป้องปรามการยั่วยุจากเกาหลีเหนือ ขณะเดียวกัน ก็ย้ำว่า การทดสอบ SLBM “ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า” ไม่ได้ทำเพื่อตอบโต้การยิงขีปนาวุธของโสมแดงแต่อย่างใด

ด้าน น.ส.คิม โยจอง น้องสาวผู้นำคิม จองอึน ได้ออกมาแถลงตอบโต้ผู้นำโสมขาวว่า การทดสอบอาวุธของเปียงยางเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันตนเองเท่านั้น พร้อมเตือนว่าความสัมพันธ์สองเกาหลีอาจเลวร้ายลงไปอีก หาก มุน ยังไม่เลิกพฤติกรรม “ใส่ร้ายป้ายสี”

น้องสาวผู้นำโสมแดงยังเอ่ยถึง “ทัศนคติที่โง่เขลาและไร้เหตุผล” ของใครบางคนที่มองว่า การทดสอบอาวุธของเกาหลีใต้เป็นสิ่งชอบธรรมและส่งเสริมสันติภาพ ในขณะที่เกาหลีเหนือซึ่งกระทำในสิ่งเดียวกันกลับถูกมองว่าเป็นภัยคุกคาม

เดือน พ.ย. ปี 2017 เกาหลีเหนือได้ทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) ที่เชื่อกันว่าสามารถโจมตีเป้าหมายได้ทั่วดินแดนสหรัฐฯ และล่าสุดเมื่อไม่กี่วันมานี้ พวกเขายังประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธร่อนพิสัยไกล ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าอาจจะเป็นขีปนาวุธร่อนรุ่นแรกของโสมแดงที่สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้

การยิงขีปนาวุธครั้งนี้มีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ หวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีน เดินทางไปเยือนกรุงโซล โดย หวัง นั้นเรียกร้องให้ทุกฝ่าย “ร่วมกันส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพบนคาบสมุทรเกาหลี”

“ไม่ใช่แค่เกาหลีเหนือ แต่ประเทศอื่นๆ ก็ดำเนินกิจกรรมทางทหารเช่นกัน ดังนั้น เราทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูการเจรจา” หวัง ระบุ

ด้านประธานาธิบดีเกาหลีใต้ก็เรียกร้องให้จีนซึ่งเป็นมหามิตรที่คอยโอบอุ้มเกาหลีเหนือทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ช่วยสนับสนุนและโน้มน้าวโสมแดงให้ยอมกลับสู่โต๊ะเจรจานิวเคลียร์ เนื่องจากที่ผ่านมา คณะผู้นำเกาหลีเหนือยังเพิกเฉยต่อข้อเสนอของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเจรจา หรือความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ขีปนาวุธซึ่งถูกยิงขึ้นจากรถไฟขบวนหนึ่ง ระหว่างการฝึกซ้อมของกองกำลังขีปนาวุธเคลื่อนที่ทางรางของเกาหลีเหนือ ภาพเผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ก.ย.
กำลังโหลดความคิดเห็น