xs
xsm
sm
md
lg

Analysis: ‘โจ ไบเดน’ มีทางเลือกอะไรบ้างในการคว่ำบาตร ‘พม่า’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มาตรการคว่ำบาตร, การตัดเงินช่วยเหลือ รวมถึงการขึ้นบัญชีดำนายทหารระดับสูง และบริษัทที่พวกนายพลเหล่านี้เป็นเจ้าของ ถูกคาดหมายว่าอาจจะเป็นแนวทางที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ นำมาใช้เพื่อดึงพม่ากลับสู่หนทางประชาธิปไตยอีกครั้ง หลังจากที่กองทัพก่อการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ.

ปฏิเสธไม่ได้ว่า มาตรการตอบสนองของสหรัฐฯ ต่อเหตุการณ์ในพม่า ย่อมจะเป็นข้อพิสูจน์ได้ดีว่า ไบเดน จริงจังแค่ไหนกับคำมั่นสัญญา 2 ข้อที่เคยให้ไว้ ซึ่งได้แก่ การผูกโยงหลักสิทธิมนุษยชนเข้ากับนโยบายต่างประเทศ และการฟื้นฟูความร่วมมือกับชาติพันธมิตร

ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศวานนี้ (1) ว่าจะ “ยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตย” และขู่ฟื้นมาตรการคว่ำบาตรที่อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา เคยยกเลิกให้แบบค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่รัฐบาลทหารพม่ายอมริเริ่มกระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตยและปล่อยตัวนักโทษการเมืองเมื่อช่วง 10 ปีก่อน

“การก้าวถอยหลังของกระบวนการดังกล่าว ทำให้เราจำเป็นต้องทบทวนกฎหมายและอำนาจคว่ำบาตรของเราในทันที ตามด้วยการดำเนินการอย่างเหมาะสม” ไบเดน ระบุ

สหรัฐฯ ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เคยสั่งคว่ำบาตรผู้นำทหารพม่า 4 คน รวมถึง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เพื่อตอบโต้ปฏิบัติการกวาดล้างของกองทัพพม่าเมื่อปี 2017 ที่ทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คน ในรัฐยะไข่ต้องอพยพหนีตายข้ามไปยังฝั่งบังกลาเทศ

ปีเตอร์ คูซิก (Peter Kucik) อดีตที่ปรึกษาอาวุโสด้านการคว่ำบาตรของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ไบเดน อาจฟื้นมาตรการคว่ำบาตร โดยออกคำสั่งบริหารให้ประกาศภาวะฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปในพม่า ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะเปิดทางให้วอชิงตัน “สามารถแถลงจุดยืนว่าพวกเขามองรัฐประหารครั้งนี้อย่างไร และต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด” เพื่อนำไปสู่มาตรการกดดันที่เหมาะสม

คูซิก ชี้ว่า ไบเดน สามารถออกคำสั่งลักษณะนี้ได้ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศ (International Emergency Economic Powers Act - IEEPA)


อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการลงทุนของสหรัฐฯ ในพม่าคนหนึ่ง มองว่า แนวทางนี้อาจถูกต่อต้านจากภาคธุรกิจที่ยังต้องการให้สหรัฐฯ คงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับพม่าไว้ และเขาเชื่อว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ต้องการเห็นบทลงโทษที่พุ่งเป้าเฉพาะเจาะจงไปยังตัวบุคคลในคณะรัฐประหารมากกว่า

อดีตเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่า สหรัฐฯ มีอำนาจต่อรองค่อนข้างจำกัดกับกลุ่มนายพลพม่า ที่ทำการยึดอำนาจ เนื่องจากคนเหล่านี้มักมีอิทธิพลใกล้ชิดกับบริษัทใหญ่ๆ ภายในประเทศ แต่ไม่ค่อยมีผลประโยชน์หรือทรัพย์สินในต่างแดนให้อายัดหรือคว่ำบาตรได้มากนัก

ผู้เชี่ยวชาญยังเชื่อว่า มาตรการคว่ำบาตรในอดีตทำให้ประชาชนชาวพม่ายากจนลง แต่แทบไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อพวกนายพลอาวุโส ซึ่งส่วนใหญ่มีชื่ออยู่ในบัญชีคว่ำบาตรภายใต้กฎหมายแมกนิตสกี (Global Magnitsky Human Rights Accountability Act) อยู่แล้ว

“การคว่ำบาตรกองทัพพม่าให้หนักขึ้น ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา” แดเนียล รัสเซลล์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในยุคโอบามา ให้ความเห็น “กลยุทธ์ทางการทูตที่แยบยลและยั่งยืน ทั้งในระดับทวิภาคีและการร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วน คือ สิ่งจำเป็นที่จะช่วยปลดล็อกวิกฤตครั้งนี้ และนำพม่ากลับสู่เส้นทางแห่งการปฏิรูปและการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย”

องค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์ (HRW) เรียกร้องให้ ไบเดน ใช้บทลงโทษอย่างเฉพาะเจาะจงกับบริษัทซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกองทัพพม่า ตัวอย่างเช่น Myanmar Economic Holdings Limited (MEHL) และ Myanmar Economic Corp (MEC) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนในหลายภาคส่วน ทั้งด้านธนาคาร, อัญมณี, ทองแดง, การสื่อสาร และเครื่องแต่งกาย

ทางเลือกอื่นๆ ที่ผู้นำสหรัฐฯ อาจทำได้ ก็คือ เพิ่มบทลงโทษภายใต้กฎหมายแมกนิตสกี ซึ่งจะนำไปสู่การอายัดทรัพย์สินต่างๆ ในอเมริกาของบุคคลที่ถูกคว่ำบาตร รวมถึงห้ามชาวอเมริกันทำธุรกิจกับคนเหล่านี้

ไบเดน ยังอาจรื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรภายใต้กฎหมายห้ามนำเข้าทับทิมและหยกจากพม่าไปยังสหรัฐอเมริกา (JADE Act) ที่ประธานาธิบดี โอบามา ได้ยกเลิกไปบางส่วนเมื่อปี 2016 รวมถึงบังคับใช้คำสั่งห้ามเดินทาง (travel ban) ต่อเจ้าหน้าที่พม่าและสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น

กฎหมายสหรัฐฯ กำหนดให้รัฐบาลต้องตัดเงินช่วยเหลือประเทศที่มีการก่อรัฐประหาร ซึ่งที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้มอบเงินช่วยเหลือแก่พม่าจำนวน 606.5 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020 โดยเป็นเงินทุนสนับสนุนทั้งในด้านสาธารณสุขและการบรรเทาภัยพิบัติ

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในพม่า “มีองค์ประกอบของการก่อรัฐประหาร” อยู่ ทว่าทางกระทรวงยังต้องวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและรายละเอียดในทางกฎหมายก่อนที่จะสรุปยืนยัน

ที่มา: รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น