xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตโรคระบาด ‘โควิด-19’ และมาตรการล็อกดาวน์ปี 2020 ทำให้โลกเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชายผู้หนึ่งถือภาพถ่ายขณะยืนอยู่ด้านนอกของสุสานในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ของจีน เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2020 ขณะที่เมืองซึ่งเกิดการระบาดของโควิด-19 แห่งแรกในโลกฟื้นตัวขึ้นมาจากฝันร้ายอันยาวนาน พลเมืองที่ถูกล็อกดาวน์มาเป็นแรมเดือนก็เริ่มปรากฏให้เห็นกันอีกครั้ง ทว่าสำหรับหลายๆ คนแล้ว สิ่งแรกที่พวกเขาทำเมื่อออกมานอกที่พักได้คือการทำพิธีศพผู้เป็นที่รัก
ตอนที่ชาวโลกฉลองทศวรรษใหม่กันอย่างครื้นเครง คงมีน้อยคนนักที่จะนึกฝันจินตนาการได้ว่ามีสิ่งใดรอพวกเขาอยู่ในปี 2021 

ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ไวรัสโคโรนาทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเป็นอัมพาต ผู้คนเกือบ 4,000 ล้านคนต้องกักตัวเองอยู่บ้าน เรียกได้ว่า นี่คือปีที่เปลี่ยนโลกแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อย่างน้อยในชั่วหนึ่งชั่วอายุคน หรือกระทั่งอาจนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาได้ทีเดียว

เมื่อเหลือเวลาอีกไม่กี่วันก่อนปี 2020 ผ่านพ้นไป ทั่วโลกมีคนตายจากโควิด-19 เกือบ 1.8 ล้านคน และติดเชื้อเกิน 80 ล้านคน เด็กมากมายกลายเป็นกำพร้า หลายคนเศร้าโศกจากการต้องปล่อยคนรักตายอย่างโดดเดี่ยวในโรงพยาบาล

สเตน เวอร์มันด์ นักระบาดวิทยาโรคติดต่อและคณบดีคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเยล บอกว่า โควิด-19 คือประสบการณ์โรคระบาดที่ชั่วชีวิตหนึ่งจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวสำหรับทุกคนบนโลก และแทบไม่มีใครที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้

ถึงแม้ตัวเลขสถิติจากโควิด-19 ยังห่างไกลจากโรคระบาดร้ายแรงที่สุดในอดีต เช่น กาฬโรคต่อมน้ำเหลืองในศตวรรษที่ 14 ที่ทำให้ประชากรโลก 1 ใน 4 ล้มหายตายจาก ไข้หวัดใหญ่สเปนที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 ล้านคนในปี 1918-1919 และเอดส์ที่มีคนตาย 34 ล้านคน

แต่ความน่ากลัวของโควิด-19 คือ แค่หายใจผิดที่ผิดเวลาก็สามารถติดเชื้อได้แล้ว

ว่าน ชุนฮุ่ย ผู้รอดชีวิตวัย 44 ปี เล่าว่า เขารอดพ้นความตายมาหวุดหวิดหลังรักษาตัวในโรงพยาบาล 17 วัน และเห็นกับตาว่า อีกหลายคนไม่โชคดีเหมือนเขา

ระดับความรุนแรงของวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้แทบไม่มีใครนึกออกตอนที่จีนประกาศเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2019 ว่า พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสปริศนา 27 คนในเมืองอู่ฮั่น

วันต่อมา ทางการปิดตลาดค้าสัตว์ในอู่ฮั่นที่เชื่อมโยงกับการระบาดในระยะแรกอย่างเงียบกริบ กระทั่งวันที่ 7 มกราคม เจ้าหน้าที่จีนจึงประกาศว่า พบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในชื่อ 2019-nCoV

วันที่ 11 มกราคม จีนประกาศว่า มีผู้เสียชีวิตรายแรกในอู่ฮั่น หลังจากนั้นไม่กี่วัน พบผู้ติดเชื้อทั่วเอเชีย ในฝรั่งเศสและอเมริกา

ปลายเดือนมกราคม ประเทศต่างๆ ส่งเครื่องบินไปขนพลเมืองของตัวเองออกจากจีนและเริ่มปิดพรมแดน ขณะที่ประชาชนกว่า 50 ล้านคนในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ถูกล็อกดาวน์

โรคระบาดใหม่-ล็อกดาวน์

ภาพชายคนหนึ่งนอนตายในร้านเฟอร์นิเจอร์ในอู่ฮั่นในสภาพสวมหน้ากากและมือถือถุงพลาสติกที่สำนักข่าวเอเอฟพีเผยแพร่ สะท้อนความกลัวที่ปกคลุมเมืองนี้เป็นอย่างดี แม้ตอนนั้นเอเอฟพีไม่สามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิตได้ก็ตาม

ภาพแห่งความน่าสะพรึงกลัวปรากฏอย่างชัดเจนเช่นกันในเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นบนเรือสำราญ “ไดมอนด์ ปรินเซส” ที่จอดเทียบท่าที่ญี่ปุ่นโดยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 700 คน และเสียชีวิต 13 คน

เมื่อความน่าหวาดหวั่นพรั่นพรึงนี้แผ่ขยายไปทั่วโลก การแข่งขันพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาจึงเริ่มต้นขึ้น ไบโอเอ็นเทค บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพขนาดเล็กของเยอรมนี ระงับโปรเจ็กต์เกี่ยวกับโรคมะเร็งและริเริ่มโปรเจ็กต์ใหม่ในชื่อ “ความเร็วแสง” อย่างเงียบๆ

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งชื่อโรคระบาดใหม่นี้ว่า โควิด-19 และ 4 วันต่อมา ฝรั่งเศสพบผู้เสียชีวิตรายแรกนอกเอเชีย ไม่เพียงเท่านั้น ยุโรปยิ่งผวาหนักหลังจากพื้นที่ตอนเหนือของอิตาลีกลายเป็นศูนย์กลางการระบาด

“โควิดเลวร้ายยิ่งกว่าสงคราม นึกไม่ถึงว่าจะเกิดโรคระบาดรุนแรงขนาดนี้ได้ในปี 2020” ออร์แลนโด ควาลดี นายกเทศมนตรีของหมู่บ้านเวอร์โตวา ในแคว้นลอมบาร์ดี ทางเหนือของอิตาลี กล่าวเมื่อเดือนมีนาคม จาการที่ประชากรในท้องที่ของเขา 36 คนเสียชีวิตภายในเวลาเพียง 25 วัน

อิตาลีล็อกดาวน์เป็นประเทศแรกในยุโรป ตามด้วยสเปน ฝรั่งเศส และอังกฤษ และ WHO ประกาศว่าโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ของโลก อเมริกาที่งดรับผู้เดินทางจากจีนไปแล้วหันมาแบนยุโรปเพิ่มด้วย และโอลิมปิกฤดูร้อนในโตเกียวกลายเป็นมหกรรมกีฬาโอลิมปิกหนแรกซึ่งถูกเลื่อนในช่วงที่โลกปลอดสงคราม

กลางเดือนเมษายน ผู้คน 3,900 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรโลก อยู่ภายใต้คำสั่งล็อกดาวน์ในบางรูปแบบ จากปารีสจนถึงนิวยอร์ก เดลี ลากอส ลอนดอน บัวโนสไอเรส ถนนหนทางเงียบกริบ เสียงที่ได้ยินบ่อยที่สุดคือไซเรนรถพยาบาล

ที่ผ่านมา นักวิจัยเตือนมาหลายทศวรรษแล้วว่า จะเกิดวิกฤตโรคระบาดใหญ่ระดับโลก แต่แทบไม่มีใครสนใจ ในที่สุดแล้วตั้งแต่ประเทศที่รวยที่สุดจนถึงจนที่สุดล้วนต้องเผชิญศัตรูที่มองไม่เห็นนี้เหมือนกัน ห่วงโซ่อุปทานในระบบเศรษฐกิจโลกหยุดชะงัก ชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตว่างเปล่าเพราะคนแตกตื่นไปซื้อของกินของใช้ไปตุนไว้

การเพิกเฉยในการลงทุนด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังได้รับการเปิดโปงให้เห็นอย่างโหดร้าย ในสภาพที่โรงพยาบาลและแผนกผู้ป่วยวิกฤตเต็มล้นอย่างรวดเร็ว บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานหนักด้วยค่าแรงต่ำต้องต่อสู้กับไวรัสโคโรนาโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล

นิลิมา เวทยา-บาแมร์ แพทย์ในมุมไบ อินเดีย หนึ่งในประเทศที่เผชิญวิกฤตโควิด-19 หนักที่สุด บอกว่า เธอเรียนจบปี 1994 และตั้งแต่ตอนนั้นแล้วพวกโรงพยาบาลรัฐคือสถานที่ซึ่งถูกทิ้งๆ ขว้างๆ อย่างเลวร้าย “ทำไมต้องรอจนเกิดโรคระบาดถึงค่อยรู้ว่ามีปัญหา” เธอตั้งปุจฉา

ทว่าที่นิวยอร์ก เมืองซึ่งมีเศรษฐีพันล้านมากที่สุดในโลก ก็เกิดสภาพที่ย่ำแย่อย่างเหลือเชื่อเช่นกัน ชาวโลกได้พบเห็นภาพหมอสวมถุงรองถังขยะเพื่อป้องกันตัวเองขณะรักษาผู้ป่วยโควิด โรงพยาบาลสนามผุดขึ้นกลางเซ็นทรัลปาร์ก และหลุมศพสำหรับฝังศพหมู่ถูกขุดขึ้นที่เกาะฮาร์ต

หายนะชัดๆ

เวอร์จิลิโอ เนโต นายกเทศมนตรีเมืองมานาอัสในบราซิล บอกว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายหลุดมาจากหนังสยองขวัญ

“เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินอีกต่อไป แต่เป็นสถานการณ์ความหายนะชัดๆ” เนโตพูดถึงภาพศพจำนวนมากถูกวางอยู่ในรถห้องเย็น และรถแทร็กเตอร์ตีนตะขาบที่กำลังเร่งขุดดินเพื่อสร้างหลุมศพขนาดใหญ่

ร้านค้า คลับ บาร์ ร้านอาหาร และสถานศึกษาถูกสั่งปิด การแข่งขันกีฬาถูกยกเลิก ธุรกิจสายการบินพาณิชย์เผชิญภาวะตกต่ำรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

มาตรการล็อกดาวน์ของสเปนเข้มงวดขนาดที่ห้ามเด็กออกจากบ้านโดยเด็ดขาด และประชาชนมากมายถูกล็อกดาวน์อยู่ในอพาร์ตเมนต์แคบๆ นานหลายสัปดาห์

คนจำนวนมากต้องทำงานจากบ้าน การพบปะเจรจากันผ่านแพลตฟอร์ม “ซูม” เข้าแทนที่การประชุมแบบเจอกันตัวเป็นๆ รวมทั้งการเดินทางเพื่อธุรกิจ ตลอดจนการสังสรรค์ทางธุรกิจ แต่สำหรับคนซึ่งอยู่ในงานที่ทำจากบ้านไม่ได้ ก็อาจต้องเจอถูกปลดหรือถูกบีบให้ต้องเสี่ยงเดินทางไปทำงานตามปกติ

เดือนพฤษภาคม วิกฤตโรคระบาดทำให้ชาวอเมริกัน 20 ล้านคนตกงาน ธนาคารโลกเตือนว่า โควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่เกิดสืบเนื่องมา อาจทำให้ประชากรโลก 150 ล้านคนดำเนินชีวิตในสภาพแร้นแค้นสุดขีดในปี 2021

ความไม่เท่าเทียมทางสังคมลุกลามอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน การกอด จูบ จับมือ กลายเป็นสิ่งต้องห้าม ผู้คนต้องมีปฏิสัมพันธ์กันด้านหลังของแผ่นเพล็กซิกลาสส์ หน้ากากอนามัย และเจลล้างมือ ขณะปัญหาความรุนแรงในครอบครัวแพร่หลายมากขึ้น เช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพจิต

สหรัฐอเมริกา ประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดในโลกแต่ไม่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า กลายเป็นประเทศซึ่งเผชิญการระบาดหนักที่สุด ด้วยยอดผู้เสียชีวิตกว่า 330,000 คน ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดูเบาโควิด-19 ตั้งแต่ต้น แถมแนะนำวิธีรักษาที่ชวนกังขาอย่างเช่น การใช้ยาไฮดรอกซีคลอโรควินที่ใช้รักษามาเลเรีย และการฉีดยาฆ่าเชื้อเข้าร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม ทรัมป์ริเริ่มโครงการ “โอเปอเรชัน วาร์ป สปีด” อัดฉีดเงิน 11,000 ล้านดอลลาร์สำหรับส่งเสริมการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาให้ลุล่วงภายในปลายปี 2020 และคุยว่า นี่เป็นความพยายามครั้งใหญ่ที่สุดของอเมริกานับจากการสร้างระเบิดปรมาณูในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

โควิด-19 เป็นโรคที่ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ เดือนตุลาคม ทรัมป์ติดโควิด เช่นเดียวกับประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู ของบราซิล และนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษ ต้องรักษาตัวในห้องไอซียู 3 วันจากไวรัสโคโรนาเมื่อเดือนเมษายน

นักแสดงเกรดเออย่างทอม แฮงก์ และภรรยา หนีไม่พ้นโควิด เช่นเดียวกับคริสเตียโน โรนัลโด หนึ่งในนักฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุค, โนวัค ยอโควิก แชมป์เทนนิส, นักร้องดาวค้างฟ้า มาดอนนา, เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และเจ้าชายอัลแบร์ที่สองของโมนาโก

นอกจากนั้นยังดูเหมือนว่า มาตรการรับมือวิกฤตโรคระบาดของทรัมป์คือปัจจัยสำคัญที่ส่งให้โจ ไบเดน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน

2021 ปีแห่งวัคซีน

ขณะที่ปี 2020 กำลังจะปิดม่านลาจากไป รัฐบาลประเทศต่างๆ เริ่มต้นหรือเตรียมพร้อมสำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาให้ประชาชน โดยเริ่มจากผู้สูงวัย บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ก่อนขยายไปยังประชาชนส่วนใหญ่ โดยเชื่อกันว่า นี่คือใบเบิกทางสู่วิถีชีวิตปกติ

เดือนธันวาคม อังกฤษเป็นประเทศแรกในตะวันตกที่อนุมัติการใช้วัคซีนฉุกเฉินและเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชน โดยเป็นวัคซีนที่ไบโอเอ็นเทคร่วมพัฒนากับไฟเซอร์ บริษัทยายักษ์ใหญ่ของอเมริกา ตามด้วยสหรัฐฯ และล่าสุดสหภาพยุโรป (อียู) ที่อนุมัติการใช้วัคซีนฉุกเฉิน และสมาชิกบางชาติเริ่มฉีดให้ประชาชนแล้วเมื่อวันอาทิตย์ (27 ธ.ค.)

“ถ้าฉันฉีดได้ ทั้งที่อายุ 90 พวกคุณก็ฉีดได้เหมือนกัน” มาร์กาเร็ต คีแนน ชาวอังกฤษคนแรกที่ได้ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคกล่าว

ขณะที่ประเทศร่ำรวยเร่งสั่งซื้อวัคซีนตุนไว้ มีแนวโน้มว่า ปี 2021 จีนและรัสเซียจะอาศัยวัคซีนที่ราคาถูกกว่าวัคซีนของตะวันตก ขยายอิทธิพลในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ขณะนี้ยังไม่มีใครฟันธงได้ว่า โควิด-19 จะระบาดอีกนานแค่ไหน ผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนว่า อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จากโครงการฉีดวัคซีนให้มวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในบางประเทศมีกระแสต่อต้านเนื่องจากไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีน แต่ก็มีบางประเทศซึ่งมองแง่ดีว่า วิถีชีวิตปกติอาจเริ่มกลับมาได้ในประมาณช่วงกลางปี 2021

แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร หลายๆ คนคาดหมายว่า วิถีทางของการทำงานจากบ้านจะยืนยาวต่อไป และมีความยืดหยุ่นมากขึ้นจากเทคโนโลยีที่พัฒนาต่อเนื่อง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตก็หันมาพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่นมากขึ้น การเดินทางนั้นมีแนวโน้มฟื้นตัว เพียงแต่ยังไม่แน่ว่า จะฟื้นเร็วแค่ไหนเท่านั้น

หากการทำงานจากบ้านของพวกพนักงานคอปกขาวยังคงเป็นเรื่องปกติธรรมดากันต่อไปแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับพวกอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในย่านดาวน์ทาวน์ของเมืองใหญ่ๆ เป็นไปได้หรือไม่ที่พวกศูนย์กลางต่างๆ ของชุมชนเมืองจะเริ่มต้นแนวโน้มมีประชากรลดลง สืบเนื่องจากผู้คนไม่ถูกผูกมัดกับเรื่องการเดินทางไปกลับที่ทำงานอีกต่อไป จึงโยกย้ายไปหาไลฟ์สไตล์ที่เขียวขจีกว่าหรือเงียบสงบกว่า

นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสต่อเสรีภาพพลเมือง โดยกลุ่มคลังสมอง ฟรีดอม เฮาส์ ชี้ว่า สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเสื่อมลงใน 80 ประเทศ และรัฐบาลใช้อำนาจผิดวัตถุประสงค์ในการบังคับใช้มาตรการรับมือไวรัส

บางคนคาดว่า ความกังวลในการอยู่ท่ามกลางฝูงชนจำนวนมากอาจส่งผลกระทบลึกซึ้ง อย่างน้อยต่อระบบขนส่งสาธารณะ สถานที่ทางวัฒนธรรม กิจกรรมบันเทิง และการแข่งขันกีฬา รวมถึงอุตสาหกรรมเรือสำราญ

เศรษฐกิจโลกเผชิญเส้นทางวิบากเช่นกัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า อาจเกิดภาวะถดถอยรุนแรงกว่าผลกระทบจากวิกฤตการเงินปี 2008

แต่สำหรับ ลูอิส ดาร์ตเนลล์ นักชีวดาราศาสตร์ที่เคยเขียนหนังสือเรื่อง “เดอะ โนว์เลดจ์” ว่าด้วยวิธีกอบกู้โลกจากหายนะเมื่อปี 2014 มองว่า โควิด-19 เป็นแค่คลื่นลูกใหญ่ที่ซัดสาดชาวโลก แต่สิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้คือสึนามิของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนที่รุนแรง ท้าทาย และเป็นหายนะที่จะเปลี่ยนชีวิตมากกว่าโควิดหลายเท่า

(ที่มา : เอเอฟพี, เอเจนซีส์)

คนงานกำลังฝังศพผู้เสียชีวิตจำนวนมากในหลุมฝังศพหมู่ที่เกาะฮาร์ต ในเขตบร็องซ์ ของนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2020

ผู้คนยืนอยู่ตามระเบียงที่พักอาศัยของพวกตน ในเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2020 ระหว่างที่รัฐบาลสเปนประกาศล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดทั่วประเทศ

คนไข้ผู้หนึ่งได้รับการรักษาในแผนกผู้ป่วยวิกฤตโรคโควิด-19 ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองปอร์โตอเลเกร ประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2020

ทหารผ่านศึก เมลลิสซา แอนน์ คล็อคเกอร์ ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก เอดเวิร์ด ไฮน์ส จูเนียร์ ในเมืองไฮน์ส รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2020
กำลังโหลดความคิดเห็น