xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง : วิกฤต ‘โควิด’ ยิ่งเผยให้เห็นสภาพ ‘กลวงใน’ ของผู้คนในสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักแสดงตามท้องถนนซึ่งแต่งกายเป็นตัวละครต่างๆ เพื่อถ่ายภาพกับนักท่องเที่ยวแลกเปลี่ยนกับเงินค่าทิป ต้องพากันยืนเหงารอคอยลูกค้า ณ ย่านจัตุรัสไทม์สแควร์ของนครนิวยอร์ก เนื่องจากนักท่องเที่ยวหนีหายเพราะโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ก่อนที่มหานครแห่งนี้จะถูกประกาศล็อกดาวน์ ทั้งนี้ โรคระบาดคราวนี้ทำให้คนยากจนและชนชั้นกลางในสหรัฐฯ เดือดร้อนหนักกว่าเพื่อน
เพียงเมื่อ 3 อาทิตย์ก่อน มิเกล โรดริเกซ ยังกำลังใช้ชีวิตที่เขารู้สึกว่าชื่นมื่นอยู่เลย ขณะกำลังทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอยู่ที่ภัตตาคารแห่งหนึ่งในรัฐแมริแลนด์ ที่เขาทำมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว

เศรษฐกิจอเมริกันยังคงเข้มแข็ง และสถานการณ์ความเป็นอยู่ของตัวเขาเองก็สุขสบายน่าพอใจ

แต่แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อ ลา แฟเมอ ภัตตาคารฝรั่งเศสในย่านเชฟวีเชส ย่านชานเมืองอันหรูหราของกรุงวอชิงตัน ถูกบังคับให้ปิดทำการ ท่ามกลางการประกาศชัตดาวน์ทั่วทั้งรัฐแมริแลนด์ ในความพยายามที่จะควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา

ภรรยาของเขาซึ่งทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ภัตตาคารอีกแห่งหนึ่งก็ต้องตกงานด้วยเหตุผลเดียวกัน

โรคระบาดใหญ่คราวนี้กำลังทำให้คนงานสหรัฐฯ จำนวนเป็นล้านๆ คนต้องกลายเป็นผู้ว่างงานอย่างฉับพลัน และจมดิ่งลงสู่ความยากจน นับเป็นวิกฤตการณ์ซึ่งกำลังเผยโฉม (รวมทั้งกำลังเร่งทวี) ความไม่เสมอภาคในระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้

ครอบครัวที่อยู่ในระดับรายได้ต่ำและระดับชนชั้นกลาง จะเป็นกลุ่มแรกที่ประสบปัญหาและก็เป็นกลุ่มที่เผชิญปัญหาหนักหน่วงที่สุดด้วย ในสภาพที่พวกเขาส่วนใหญ่แทบไม่ได้มีเงินออมเงินเก็บกันเอาเลย

“นี่คือการกระหน่ำใส่อย่างรุนแรงเป็นพิเศษต่อชาวอเมริกันหลายล้านคน ผู้ซึ่งเพิ่งจะฟื้นตัวลืมตาอ้าปากได้บ้างจากครั้งวิกฤตการณ์ภาคการเงินปี 2008” นี่เป็นความเห็นของ เอดเวิร์ด แอลเดน ผู้เชี่ยวชาญซึ่งทำงานอยู่ที่กลุ่มคลังสมองชื่อดัง “เคาน์ซิล ออน ฟอเรนจ์ รีเลชันส์”

แอลเดนชี้ว่า ค่าจ้างที่แท้จริง (เมื่อหักอัตราเงินเฟ้อออกไปแล้ว) ใช้เวลาอยู่ 8 ปีกว่าจะกลับฟื้นขึ้นมาภายหลังวิกฤตการณ์ปี 2008 และค่าจ้างค่าแรงของพวกคนงานระดับรายได้น้อยเพิ่งมีการเร่งตัวเพิ่มทวีขึ้นมา ก็เพียงในช่วง 2 ปีหลังนี่เอง

ทั้งนี้ ค่าจ้างในปี 2019 เพิ่มขึ้นด้วยอัตราเร็วที่สุดในรอบ 20 ปี ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากการที่บางมลรัฐปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

“วิกฤตการณ์ครั้งล่าสุดนี้ เมื่อดูที่ผลกระทบของมันซึ่งทำให้คนตกงานกันเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลแล้ว คาดได้ว่ามันจะลบล้างสิ่งที่เพิ่งได้กันมาเหล่านี้ไปหมด” แอลเดน กล่าวต่อ

สหรัฐฯ นั้น ระดับการจ้างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาราว 10 ปีแล้ว ก่อนที่จะชะงักลงอย่างกะทันหันในเดือนมีนาคม เมื่อเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ฉับพลันทำให้มีการตัดลดตำแหน่งงานไป 701,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มสูงสู่ระดับ 4.4% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างแรงที่สุดในรอบ 45 ปี

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้กำลังรณรงค์หาเสียงเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งอีกสมัยในเดือนพฤศจิกายนนี้ ปกติแล้วคอยคุยโวอยู่เสมอเรื่องตัวเลขการว่างงานในกลุ่มฮิสแปนิก (ผู้พูดภาษาสเปน ส่วนใหญ่หมายถึงพวกที่อพยพมาจากแถบละตินอเมริกา) และในกลุ่มคนผิวดำ กำลังอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

แต่แล้วอัตราการว่างงานของทั้ง 2 กลุ่มนี้ กลับพุ่งพรวดพราดในเดือนที่แล้ว

อันที่จริง กระทั่งในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตได้อย่างเข้มแข็ง ความไม่เสมอภาคทางรายได้ก็ยังคงถ่างกว้างออกไปอย่างต่อเนื่อง ระหว่างชาวอเมริกันกลุ่มผู้ร่ำรวยที่สุด ซึ่งสั่งสมความมั่งคั่งและเก็บกวาดดอกผลเอาจากตลาดวอลล์สตรีทเป็นสำคัญ กับชาวอเมริกันอีก 90% ที่อยู่ข้างล่าง

โรคระบาดใหญ่จากไวรัสโควิด-19 กำลังฉุดกระชากเศรษฐกิจโลกให้เข้าสู่ภาวะถดถอย และการทรุดตัวเช่นนี้ “จะยิ่งเร่งความไม่เสมอภาค” เกรกอรี ดาโค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของออกซฟอร์ด อีโคโนมิกส์ กล่าวให้ความเห็น

คนงานเกือบๆ 10 ล้านคนยื่นเรื่องขอรับสวัสดิการประกันการว่างงาน ใน 2 อาทิตย์สุดท้ายของเดือนมีนาคม โดย “พวกที่ตกงานอย่างกะทันหันเหล่านี้ รวมศูนย์อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำในภาคบริการ” ในประเทศอย่างสหรัฐฯซึ่งแทบไม่มีเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมเอาไว้รองรับคนว่างงาน แถมยังเป็นชาติที่ผู้คนมีอัตราการออมเงินต่ำอย่างสุดๆ นั่นคือราวๆ 8% เท่านั้น

<i>วิกฤตไวรัสระบาดคราวนี้ ทำให้มีผู้คนจำนวนเพิ่มขึ้นซึ่งเดือดร้อนต้องมาขอรับอาหารฟรีจากสถานสงเคราะห์ต่างๆ ของภาคเอกชนในสหรัฐฯ  ขณะที่ข้าวของต่างๆ มีราคาแพงขึ้น  แถมอาสาสมัครที่มาช่วยจัดหีบห่อและแจกจ่ายก็ลดน้อยลง เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ ทำให้ประสบความลำบากในการออกจากบ้าน </i>
แทบไม่มีเงินออมกันเลย

โรดริเกซซึ่งปัจจุบันอายุ 55 ปี รู้สึกเศร้าใจที่จะต้องอาศัยเงินสวัสดิการประกันการว่างงานเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ที่เขาเดินทางจากเอลซัลวาดอร์มาพำนักอาศัยในสหรัฐฯ เมื่อปี 1983

เขายังวิตกกังวลว่า เงินสวัสดิการที่ได้รับมาซึ่งคิดคำนวณจากเงินเดือนค่าจ้าง แต่ไม่รวมถึงค่าทิป ซึ่งเป็นรายได้หลักของเขาด้วยซ้ำไป จะไม่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงดูลูกๆ 3 คนของเขา

“เวลานี้ผมยังมีเงินเก็บอยู่บ้าง แต่ผมคงอยู่รอดไปได้สักแค่สองสามเดือนเท่านั้น” โรดริเกซกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี

เขาไม่ได้เป็นคนงานที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้เพียงลำพังหรอก เพราะราวครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันทั้งหมดทีเดียวซึ่งไม่ได้มีเงินออมฉุกเฉินเผื่อเอาไว้ใช้รับมือกับความยากลำบากที่เกิดขึ้นแบบปุบปับ ทั้งนี้ตามผลการสำรวจที่จัดทำโดยออกซฟอร์ด อีโคโนมิกส์

ยิ่งในกลุ่มครอบครัวที่ระดับรายได้ต่ำสุดด้วยแล้ว สถานการณ์ก็ยิ่งน่าเป็นห่วง โดยที่สามในสี่ ไม่ได้มีตัวช่วยที่จะใช้บรรเทาความย่ำแย่ทางการเงิน

“ดังนั้น ในหมู่คนซึ่งต้องการมากที่สุดนั่นแหละ กลับเป็นกลุ่มที่มีอยู่น้อยที่สุด” ดาโค บอก

แล้วในขณะที่ไวรัสโคโรนายังคงระบาดอยู่เช่นนี้ จึงทำให้ยังคงไม่ชัดเจนว่าการชัตดาวน์เศรษฐกิจจะยืดเยื้อไปยาวนานแค่ไหน

แบรดลีย์ ฮาร์ดี อาจารย์ของอเมริกัน ยูนิเวอร์ซิตี พูดเตือนว่า “เราจะต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบต่างๆ จากเรื่องการจ้างงานและค่าจ้างค่าแรง ว่ามันจะยาวไปจนถึงอย่างน้อยที่สุดต้นปี 2021 ทีเดียวกว่ามันจะจบ”

“เมื่อดูจากอัตราการออมที่ต่ำมาก และการเป็นหนี้เงินผ่อนอยู่ในระดับสูงมาก ครอบครัวสหรัฐฯเยอะแยะทีเดียวไม่ได้มีเครื่องบรรเทาแรงกระแทกที่จำเป็นต้องมี เพื่อให้สามารถผ่านอันตรายทางเศรษฐกิจซึ่งกำลังมาถึงกันอยู่แล้ว” เขากล่าว

จุดอ่อนขนาดใหญ่เบ้อเริ่ม

ทำนองเดียวกับวิกฤตการณ์ภาคการเงินเมื่อปี 2008 แอลเดนบอกว่า “ในครั้งนี้มันก็ไฮไลต์ให้เห็นถึงจุดอ่อนขนาดใหญ่เบ้อเริ่มของชาวอเมริกันจำนวนมาก”

ผู้มีรายได้น้อยเมื่อดูกันเป็นรายบุคคลแล้ว ต่างอยู่ในสภาพขาดการเตรียมพร้อมอย่างร้ายแรงสำหรับรับมือวัยเกษียณอายุ และชาวอเมริกันจำนวนมากทีเดียวกระทั่งเมื่ออายุเข้าสู่วัย 70 เศษและ 80 ปีเศษแล้ว มีหวังยังจะต้องทำงานกันต่อไปอีก

การศึกษาของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ พบว่า ในบรรดาผู้ที่เรียนไม่จบชั้นมัธยมปลายนั้น มีเพียง 22% เท่านั้นซึ่งมีแผนออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ และกระทั่งพวกที่มีแผนดังกล่าว ค่ากลาง (median) ของแผนเหล่านี้ก็ยังอยู่ที่เพียง 35,000 ดอลลาร์เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ฮาร์ดีเตือนว่า “เศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้จะส่งผลกระทบทางลบตลอดทั่วการกระจายรายได้ทั้งหมด รวมทั้งครอบครัวที่มองจากภายนอกอาจเห็นว่ามั่งคั่งร่ำรวยบางครอบครัวด้วย”

“ด้วยเหตุนี้ ภัยคุกคามใดๆ ก็ตามทีที่มีต่อการไหลเวียนด้านรายได้ของพวกเขา จึงอาจเป็นอันตรายต่อครอบครัวเหล่านี้” เขาบอก และย้ำเป็นพิเศษว่า เรื่องนี้ยิ่งเป็นจริงสำหรับครอบครัวชนชั้นกลางชาวผิวดำ

โรดริเกซนั้น กำลังพยายามที่จะมองโลกอย่างมีความหวัง ถึงแม้เขาต้องผ่อนทั้งบ้านและผ่อนทั้งรถ

“ผมคิดว่าอีกไม่ช้าไม่นานเราจะสามารถหาทางแก้ไขได้ และเศรษฐกิจก็จะกลับมาแข็งแรงยิ่งขึ้นกว่าเก่า”

(เก็บความจากเรื่อง Coronavirus reveals, exacerbates US inequality ของสำนักข่าวเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น