xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์” มั่นใจดีลการค้าเฟส 1 เซ็นกัน พ.ย.นี้ จีนรับลูก “คุยคืบหน้า” ย้ำร่วมมืออย่างเท่าเทียม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
เอเจนซีส์ - “ทรัมป์” เผยมีความคืบหน้าในการร่างเอกสารข้อตกลงการค้าเฟส 1 กับจีน มั่นใจได้ลงนามร่วมกับประมุขแดนมังกรเดือนหน้า ด้านปักกิ่งรับลูก ย้ำปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ตราบที่สองฝ่ายเคารพและร่วมมือกันอย่างเท่าเทียม กระนั้น ในอีกด้านหนึ่งพญามังกรกำลังเดินเรื่องเรียกร้องค่าชดเชย 2,400 ล้านดอลลาร์จากการที่อเมริกาไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของดับเบิลยูทีโอในกรณีขัดแย้งเกี่ยวกับภาษีตอบโต้การอุดหนุนเมื่อหลายปีที่แล้ว

สงครามการค้าอเมริกา-จีนผ่อนคลายลงอย่างชัดเจน โดยในวันจันทร์ (21 ต.ค.) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้สัมภาษณ์พวกผู้สื่อข่าวในทำเนียบขาวแสดงความมั่นใจว่า จะสามารถลงนามข้อตกลงการค้าขั้นแรกกับจีนได้ในเดือนหน้า

โรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ขานรับว่า ความพยายามในการร่างเอกสารข้อตกลง ให้เสร็จก่อนการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่ชิลีเดือนหน้า กำลังดำเนินไปตามแผนแม้มีภารกิจบางอย่างที่ต้องจัดการให้แล้วเสร็จก็ตาม

ก่อนหน้านี้ทรัมป์คาดว่า จะลงนามข้อตกลงการค้าขั้นที่ 1 กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ระหว่างที่ททั้งคู่เดินทางไปประชุมซัมมิตเอเปก

นอกจากนั้น ถึงแม้ยังไม่มีรายละเอียดใดๆ ออกมา แต่ทางทำเนียบขาวแย้มว่า ข้อตกลงขั้นแรกนี้ครอบคลุมประเด็นสำคัญหลายอย่าง เช่น การที่จีนตกลงสั่งซื้อสินค้าเกษตรอเมริกันเพิ่ม และดำเนินการในเรื่องการปกป้องสินทรัพย์ทางปัญญา บริการทางการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งทรัมป์ย้ำเมื่อวันจันทร์ว่า ปักกิ่งเริ่มสั่งซื้อสินค้าจากอเมริกาแล้ว

อย่างไรก็ดี เห็นได้ชัดว่าในคณะบริหารทรัมป์เอง ยังคงมีฝ่ายที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการทำตกลงกับจีนเพียงแค่บางส่วนก่อน โดยในวันจันทร์เช่นกัน วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวว่า วอชิงตันไม่รีบร้อนลงนามในเดือนหน้า แต่ต้องการแน่ใจว่า ข้อตกลงที่ออกมาถูกต้องเหมาะสม

รอสส์ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในคณะเจรจาการค้าด้วย ตั้งคำถามว่า สหรัฐฯ ต้องลงนามในเฟส 1 แต่เนิ่นๆ หรือ และสหรัฐฯ ได้อะไรมากแค่ไหนแล้วสำหรับเฟส 2 หรือเฟส 3 โดยที่เขาเห็นว่า สิ่งที่เป็นเนื้อเป็นหนังจริงๆ คือเฟส 2 และ 3 นี่แหละ
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ(ขวา) ระหว่างเปิดทำเนียบขาวต้อนรับ หลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน(ซ้าย) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2019 ระหว่างการเจรจาทางการค้ารอบล่าสุด
ทางด้านจีนนั้นแสดงความเห็นแง่บวกเช่นเดียวกัน โดยเล่อ อี้ว์เฉิง รองรัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวเมื่อวันอังคาร (22) ในงานประชุมด้านกลาโหม เซียงซาน ฟอรัม ที่จัดขึ้นในปักกิ่งว่า ปักกิ่งและวอชิงตันมีความคืบหน้าบางประการในการเจรจาการค้า และไม่ว่าปัญหาใดๆ ก็สามารถแก้ไขได้ตราบที่ทั้งสองฝ่ายเคารพกันและกัน และร่วมมือกันอย่างเท่าเทียม

ทั้งนี้ สงครามภาษีศุลกากรที่สองมหาอำนาจขับเคี่ยวกันมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์กำลังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก และกดดันให้ทั้งจีนและอเมริกาต้องเร่งรีบบรรลุข้อตกลงการค้า

เล่อเสริมว่า ปักกิ่งไม่เห็นด้วยกับยุทธวิธีการงัดภาษีศุลกากรออกมาใช้พร่ำเพรื่อและเพิ่มความกดดันสูงสุดต่อจีน ซึ่งเป็นแนวคิดโบราณที่ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป

รองรัฐมนตรีต่างประเทศจีนสำทับว่า โลกต้องการให้จีนและอเมริกายุติสงครามการค้า ซึ่งจำเป็นต้องมีการเปิดกว้าง ไม่ใช่การทำให้สองประเทศแยกขาดออกจากกัน หรือการทำสงครามเย็นรูปแบบใหม่

อย่างไรก็ตาม แม้บรรยากาศการเจรจาข้อตกลงทางการค้าดูเหมือนผ่อนคลายลง แต่ในอีกด้านนั้นจีนกำลังเรียกร้องค่าชดเชย 2,400 ล้านดอลลาร์จากการที่อเมริกาไม่ยอมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)

จากเอกสารที่มีการเผยแพร่เมื่อวันจันทร์นั้น คณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของดับเบิลยูทีโอ จะตรวจสอบกรณีนี้ในวันจันทร์หน้า (28)

ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คณะผู้ตัดสินระดับอุทธรณ์ของดับเบิลยูทีโอวินิจฉัยว่า อเมริกาไม่ปฏิบัติตามกฎของดับเบิลยูทีโอ จากกรณีการเรียกเก็บภาษีศุลกากรจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ กังหันลม และกระบอกสูบเหล็กกล้าของจีน ดังนั้น ปักกิ่งจึงมีสิทธิ์ใช้มาตรการแซงก์ชันตอบโต้นับจากกลางเดือนสิงหาคม หากอเมริกาไม่ยุติการเก็บภาษีศุลกากรเหล่านั้น

ทว่า วอชิงตันได้ท้าทายความชอบธรรมในการตีความข้อพิพาททางกฎหมายของดับเบิลยูทีโอ และคัดค้านมาตรการแซงก์ชันตอบโต้มูลค่า 2,400 ล้านดอลลาร์ของจีน รวมทั้งส่งเรื่องต่อให้คณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นผู้ตัดสิน

กรณีความขัดแย้งนี้เริ่มต้นขึ้นจากการที่จีนร้องเรียนต่อดับเบิลยูทีโอในปี 2012 เพื่อคัดค้านภาษีตอบโต้การอุดหนุนที่อเมริกาภายใต้คณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา เรียกเก็บจากสินค้าออกของจีนมูลค่า 7,300 ล้านดอลลาร์ ภายหลังการสอบสวนของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระหว่างปี 2007-2012
กำลังโหลดความคิดเห็น