xs
xsm
sm
md
lg

กรณี NBA สะท้อนอคติของอเมริกันในการมองจีน

เผยแพร่:   โดย: จอร์จ คู

<i>เมื่อวันพุธ (9 ต.ค.) คนงานรื้อถอนบิลบอร์ดโฆษณาเกมแข่งขันบาสเกตบอลพรีซีซั่นของ NBA ที่เดิมกำหนดจัดขึ้นในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ในวันพฤหัสบดี (10) ทั้งนี้NBA ต้องประกาศระงับกิจกรรมในแดนมังกรไปหลายอย่าง หลังเกิดกระแสความไม่พอใจของชาวจีนต่อการอ้าง “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ของผู้บริหาร NBA </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

NBA grovels to China over ‘insult’
By George Koo
08/10/2019

ถึงเวลาที่จะต้องตระหนักและยอมรับกันแล้วว่า จีนจะไม่มีทางเหมือนอเมริกาไปได้ ชาวจีนนั้นมีค่านิยมของพวกเขาเองและมีความรู้สึกสำนึกเกี่ยวกับเสรีภาพส่วนบุคคลในวิถีทางของพวกเขาเอง

กรณีเอะอะโวยวายล่าสุดระหว่างสมาคมบาสเกตบอลแห่งชาติ (National Basketball Association หรือ NBA) ของสหรัฐฯ กับประเทศจีน เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่า เงินทองนั้นมีอำนาจบงการเหนือคำพูด และการเมืองนั้นเก่งกาจกว่าเศรษฐกิจ เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา พวกนักวิจารณ์ผ่านสื่อและนักการเมืองในสหรัฐฯจำนวนมากต่างกำลังพลั้งพลาดพลัดหลงจากจุดประเด็นที่ละเอียดอ่อนบางจุดของเรื่องราว ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่สมควรที่จะถูกขยายให้ใหญ่โตจนกลายเป็นหนามแหลมอีกอันหนึ่งในความสัมพันธ์ทวิภาคีสหรัฐฯ-จีน

แดรีล มอเรย์ (Daryl Morey) ผู้จัดการใหญ่ของทีมฮุสตันร็อกเกตส์ (Houston Rockets) ย่อมมีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะทวิตข้อความว่า “ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ยืนหยัดอยู่กับฮ่องกง” (Fight for freedom. Stand with Hong Kong) ส่วนมันเป็นการฉลาดที่จะทำอย่างนั้นหรือไม่ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถึงแม้ทวิตนี้ได้ถูกลบออกจากไซเบอร์สเปซอย่างรวดเร็ว (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.bbc.com/news/business-49956385) แต่มันก็ไม่ได้หลุดพ้นจากการสังเกตพบเห็นของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนเป็นล้านๆ ในจีน และจึงกระตุ้นให้เกิดทะเลเพลิงแห่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์และเสียงคัดค้านโหมกระหน่ำจากชาวจีน ซึ่งจำนวนมากสารภาพว่าเป็นแฟนเหนียวแน่นดายฮาร์ดของทีมร็อกเกตส์

ข้อความที่พวกเขาส่งถึงมอเรย์นั้น โดยพื้นฐานเลยก็คือ “คุณไม่ได้เข้าอกเข้าใจความสลับซับซ้อนของเรื่องฮ่องกงหรอก เก็บความคิดเห็นของคุณเอาไว้แค่กับตัวคุณเองดีกว่า” เห็นได้อย่างชัดเจนว่า คนจีนไม่ได้เห็นอกเห็นใจซาบซึ้งอะไรกับไอเดียเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของอเมริกันหรอก

คณะบริหารของทั้งสมาคมเอ็นบีเอ และทั้งทีมร็อกเกตส์ ต่างมองเห็นกันได้ว่าความไม่รอบคอบในการระบุชื่อแบรนด์นั้น สามารถที่จะสร้างความเสียหายให้แก่ธุรกิจของพวกเขาในประเทศจีนได้ขนาดไหน โดยในสถานการณ์ที่ย่ำแย่มากๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นมาได้ก็คือ มันอาจนำไปสู่การถูกเพิกถอนออกจากตลาดจีนกันทั้งยวง พวกเขาเข้าใจเป็นอย่างดีว่าปฏิกิริยาชนิดไม่นิยมชมชื่นอย่างกว้างขวางของคนจีน สามารถที่จะกัดแทะตัวเลขรายได้ผลกำไรของวงการบาสเกตบอลอาชีพอเมริกันได้รวดเร็ว

ด้วยเหตุนี้เองพวกเขาจึงทำให้ทวิตของมอเรย์หายวับไปอย่างว่องไว ยิ่งหนีหายไปได้ไกลเท่าใดก็ยิ่งดีเท่านั้น การทำเงินทำทองเป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนือกว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของมอเรย์

ครั้นแล้วพวกนักการเมืองสหรัฐฯจากทั้งสองพรรคก็กระโจนเข้ามาในเวทีแบบที่ไม่ต้องมีการเชื้อเชิญ พวกผู้นำที่แสนดีงามของระบอบประชาธิปไตยเหล่านี้ไม่สามารถแยกแยะให้ออกถึงความแตกต่างระหว่างเสียงของประชาชนชาวจีน กับนโยบายแห่งชาติของประเทศจีน

ทวิตชิ้นหนึ่งของ จูเลียน คาสโตร (Julian Castro) หนึ่งในผู้ที่ลงแข่งขันหวังให้ได้เป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตในการเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยหน้า ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของอคติแบบที่ปรากฏอยู่ในหมู่คณะผู้นำชาวอเมริกัน เขาโพสต์เอาไว้ดังนี้ “จีนกำลังใช้อำนาจทางเศรษฐกิจของตนมาปิดปากพวกที่วิพากษ์วิจารณ์ –แม้กระทั่งพวกที่อยู่ในสหรัฐฯ”

ขอให้สังเกตนะครับว่า คาสโตรบอกว่า “จีน” ไม่ใช่ประชาชนจีนในประเทศจีน ในฉับพลันทันใดนั้นเอง ปฏิกิริยาตอบโต้ตามสัญชาตญาณของประชาชนก็ได้กลับกลายเป็นนโยบายอันกดขี่จากจงหนานไห่ (Zhongnanhai คือสถานที่ซึ่งพวกผู้นำชาวจีนไปทำงานกันครับ มิสเตอร์คาสโตร)

ธุรกิจจีนจำนวนมากได้เริ่มตีตัวออกห่างจากทีมฮุสตันร็อกเกตส์และแม้กระทั่งเอ็นบีเอกันแล้ว สมาคมบาสเกตบอลจีน (Chinese Basketball Association หรือ CBA) ที่ปัจจุบันนายกสมาคมคือ เหยา หมิง (Yao Ming) นักบาสเกตบอลที่เคยเล่นให้ทีมร็อกเกตส์และได้รับคัดเลือกเข้าสู่หอเกียรติยศ (Hall of Fame) มาแล้ว ได้ประกาศว่ากำลังระงับความสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่กับทีมนี้

ธุรกิจต่างๆ ในจีนและสมาคม CBA กำลังตอบสนองความคิดเห็นอันเสรีของประชาชนชาวจีนจำนวนล้านๆ และก็เหมือนกับที่ NBA กำลังพยายามที่จะแก้ไขซ่อมแซมความเสียหายทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นกับชื่อเสียงการปรากฏตัวของตนในประเทศจีน พวกธุรกิจและ CBA ก็กำลังพิทักษ์ปกป้องความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับแฟนเบส (fan base) ของตน ด้วยการพาตัวเองให้ถอยห่างจาก NBA

อย่างไรก็ตาม บาสเกตบอลนั้นใหญ่โตเกินไปและมีความสำคัญมากเกินไปสำหรับประชาชนชาวจีน ดังนั้นเราจึงสามารถคาดหมายได้ว่าพายุอันเกรี้ยวกราดลูกนี้จะพัดผ่านพ้นไปในไม่ช้า และแฟนานุแฟนทั้งหลายก็จะกลับมาเป็นแฟนานุแฟนกันอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับพวกนักการเมืองสหรัฐฯที่มุ่งหวังจะเรียกคะแนนนิยมด้วยการโจมตีเล่นงานจีนอย่างไม่ยั้งคิดนั้น นี่แสดงให้เห็นถึงการที่พวกเขาบกพร่องล้มเหลวไม่เข้าอกเข้าใจประเทศจีนและประชาชนชาวจีน ในกระบวนการซึ่งกำลังทำให้เรื่องที่ไม่สลักสำคัญอะไรกลับทวีความใหญ่โตขึ้นไปเรื่อยๆ และสภาพการแบ่งแยกเหินห่างกันระหว่างสองประเทศนี้ก็ถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ

ถึงเวลาที่จะต้องตระหนักและยอมรับกันแล้วว่า จีนจะไม่มีทางเหมือนอเมริกาไปได้หรอก ชาวจีนนั้นมีค่านิยมของพวกเขาเองและมีความรู้สึกสำนึกเกี่ยวกับเสรีภาพส่วนบุคคลในวิถีทางของพวกเขาเอง เท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ประชากรจีนในอัตราส่วนสูงลิ่วถึง 90% ทีเดียวที่รับรองเห็นชอบกับทิศทางซึ่งรัฐบาลของพวกเขากำลังมุ่งหน้าไป ตรงกันข้ามกับในสหรัฐฯที่มีเพียง 35% เท่านั้นเห็นชอบกับแนวทางของรัฐบาล (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.weforum.org/agenda/2017/01/which-countries-are-on-the-right-track-according-to-their-citizens/)

อเมริกาควรที่จะต้องยอมรับจีนอย่างที่จีนเป็น แต่ไม่ใช่อย่างที่สหรัฐฯต้องการที่จะให้จีนเป็น ยิ่งอเมริกาสามารถยอมรับเช่นนี้ได้รวดเร็วเท่าใด มันก็จะยิ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเริ่มต้นโฟกัสไปยังจุดซึ่งพวกเขามีพื้นฐานร่วมกันและมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ รวมทั้งเสาะแสวงหาหนทางที่จะได้ประโยชน์สูงสุดสำหรับทั้งสองฝ่าย ได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

ดร. จอร์จ คู เกษียณอายุจากสำนักงานให้บริการด้านคำปรึกษาระดับโลกแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการดำเนินการทางธุรกิจของพวกเขาในประเทศจีน เขาสำเร็จการศึกษาจาก MIT, Stevens Institute, และ Santa Clara University และเป็นผู้ก่อตั้งตลอดจนเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของ International Strategic Alliances ปัจจุบันเขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการของเฟรชฟิลด์ (Freschfield) แพลตฟอร์มการก่อสร้างล้ำยุคแบบสีเขียว
กำลังโหลดความคิดเห็น