xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารกลางมาเลเซียเตรียมสั่งให้สถาบันการเงินรายงานความเสี่ยงที่เกิดจาก ‘สภาพอากาศ’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นูร์ ชัมเซียะห์ โมฮาหมัด ยูนุส ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย
เอเจนซีส์ - ธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia - BNM) เตรียมสั่งให้สถาบันการเงินทุกแห่งส่งรายงานความเสี่ยงจากปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยจะนำข้อมูลที่ได้ไปพิจารณาเพื่อออกกฎระเบียบทางการเงินที่เหมาะสม

นูร์ ชัมเซียะห์ โมฮาหมัด ยูนุส ผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย ระบุว่า หมอกควันจากการเผาป่าที่แผ่ปกคลุมมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทั้ง 3 ชาติกำลังเผชิญอยู่

“นี่คือประเด็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อเสถียรภาพทางการเงิน” นูร์ ชัมเซียะห์ ระบุในงานเสวนาเรื่องสภาพอากาศซึ่งจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์

“ด้วยเหตุนี้ BNM และธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับความเสี่ยงซึ่งเกิดจากสภาพภูมิอากาศ”

BNM จะออกกฎให้สถาบันการเงินต้องแจ้งรายงานความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพอากาศ ทันทีที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (Securities Commission Malaysia) บรรลุข้อตกลงกับธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เกี่ยวกับการจัดประเภทสินทรัพย์สีเขียว (green assets)

“ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาประกอบการตัดสินใจและวิเคราะห์เรื่องการระดมทุน การปล่อยกู้ และกิจกรรมการลงทุนต่างๆ” นูร์ ชัมเซียะห์ ระบุ

ทั้งนี้ BNM คาดว่าจะเผยแพร่ร่างบัญชีสินทรัพย์สีเขียวได้ภายในสิ้นปี และจะเปิดให้สถาบันการเงินต่างๆ ร่วมแสดงความคิดเห็น

“ธนาคารกลางจะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการพิจารณาปรับเปลี่ยนเกณฑ์กำกับดูแลความมั่นคง (prudential standards) เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงจากปัญหาสภาพอากาศมากยิ่งขึ้น” ผู้ว่าการหญิง ระบุ

สัปดาห์นี้ ซีไอเอ็มบี กรุ๊ป โฮลดิงส์ เบอร์ฮัด ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 2 ของมาเลเซีย ได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับสถาบันการเงิน 130 แห่งทั่วโลก ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์รวมกันมากกว่า 47 ล้านล้านดอลลาร์ ในการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals) และข้อตกลงภูมิอากาศปารีส

คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียแปซิฟิก (ESCAP) เตือนเมื่อปีที่แล้วว่า ภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้เกินกว่า 160,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2030

ข้อมูลจากยูเอ็นระบุว่า เอเชียแปซิฟิกเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยกว่าภูมิภาคอื่นใดในโลก โดยระหว่างปี 2014-2017 เกิดแผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายรวมทั้งสิ้น 55 ครั้ง, พายุและไซโคลน 217 ลูก และอุทกภัยที่รุนแรงอีก 236 ครั้ง

ในส่วนของมาเลเซียก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักจากสภาพอากาศที่แปรปรวนสุดขั้ว ตัวอย่างเช่นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่รัฐกลันตันและตรังกานูเมื่อปี 2014 ซึ่งทำให้มีการอพยพประชาชนกว่า 200,000 คน และรัฐต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูบ้านเมืองกว่า 2,000 ล้านริงกิต

ภัยแล้งที่ยาวนานในปี 2016 ทำให้ภาคการเกษตรของมาเลเซียหดตัว 5.2% ทว่าอีก 1 ปีต่อมากลับเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่รัฐปีนังและเกดะห์

กำลังโหลดความคิดเห็น