xs
xsm
sm
md
lg

หรือว่าปักกิ่งกำลังวางแผนรวม ‘ฮ่องกง’เข้ากับ‘เซินเจิ้น’ ภายในปี 2047 ?

เผยแพร่:   โดย: แฟรงค์ เฉิน

<i>เซินเจิ้น เมืองซึ่งรุ่งเรืองจากเทคและอุตสาหกรรมการผลิตไฮเอน  กำลังได้รับการส่งเสริมจากปักกิ่ง เพื่อก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของมหานครระดับโลก </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Is Beijing planning a HK-Shenzhen merger by 2047?
By Frank Chen
20/08/2019

การที่ปักกิ่งกำลังมอบหมายบทบาทใหม่ให้ ‘เซินเจิ้น’ ก้าวเข้าสู่ฐานะการเป็น “นครแห่งโลก” ทัดเทียมมหานครแถวหน้าทั้งหลายของพื้นพิภพ รวมทั้งให้เป็นเมืองที่สาธิตถึงคุณงามความดีและผลสำเร็จต่างๆ ของระบบ “สังคมสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะแบบจีน” ขณะเดียวกับที่ฮ่องกงกลับยังคงต้องดิ้นรนอยู่ปัญหาต่างๆ อย่างยืดเยื้อ ถ้าหากแนวโน้มเช่นนี้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ มันก็น่าจะกลายเป็นหนทางตามธรรมชาติโดยไม่ต้องมีการบีบบังคับ ที่ “ฮ่องกง” จะควบรวมเข้ากับ “เซินเจิ้น”

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ในเวลาเดียวกันกับที่ผู้คนเรือนล้านเดินขบวนผ่านไปตามถนนสายต่างๆ ของฮ่องกงเพื่อประท้วงอยู่นั้น ปักกิ่งก็ได้เปิดเผยสาระสำคัญในแผนการอันใหญ่โตมโหฬารของตนที่จะเปลี่ยนให้ เซินเจิ้น เข้าสู่ฐานะการเป็น “นครแห่งโลก” (world city) [1]

จากจังหวะเวลาเช่นนี้ ทำให้หลายๆ คนหลายๆ ฝ่ายบนแผ่นดินใหญ่ ขบคิดเชื่อมโยงเรื่องนี้เข้ากับความวาดหวังอันสูงส่งของปักกิ่งที่มุ่งทำให้ เซินเจิ้น เป็นผู้สืบทอดศักยภาพและอิทธิพลบารมีทางเศรษฐกิจซึ่งกำลังอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ ของฮ่องกง โดยที่กระบวนการแห่งความเสื่อมทรุดนี้ยังมีความซับซ้อนยุ่งยากเพิ่มขึ้นอีกจากการที่ปักกิ่งไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจเอาเสียเลยในอดีตอาณานิคมของอังกฤษแห่งนี้

ปักกิ่งต้องการให้เซินเจิ้นเป็นนครนำร่อง เป็นตัวสาธิตให้เห็นถึงคุณงามความดีและผลสำเร็จต่างๆ ของระบบ “สังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะแบบจีน” (socialism with Chinese characteristics) หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นตัวสาธิตให้เห็นถึงคุณงามความดีและผลสำเร็จต่างๆ ของกระบวนทัศน์ (paradigm) แห่งระบบทางการเมือง, ระเบียบกฎหมาย, และทางเศรษฐกิจของจีนเอง

เอกสารนโยบายอันยาวเหยียดของปักกิ่งสำหรับนครทางภาคใต้แห่งนี้ บรรจุเป้าหมายอันสูงส่งที่ครอบคลุมหมวดต่างๆ ถึง 19 หมวดด้วยกัน ตั้งแต่การเงินไปจนถึงเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) รวมทั้งในเอกสารฉบับนี้ยังได้มีการแจกแจงเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ สำหรับการทำให้เมืองที่รุ่งเรืองด้วยเรื่องเทคแห่งนี้ พลิกตัวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งใหม่แห่งหนึ่งในกระบวนการทำให้สกุลเงินหยวนของจีนกลายเป็นสกุลเงินระหว่างประเทศ [2] รวมทั้งมีการแจกแจงนโยบายต่างๆ สำหรับการทำให้ เซินเจิ้น กับ ฮ่องกง อุดหนุนจุนเจือซึ่งกันและกัน ในโลกยุคใหม่อันท้าทายที่ทางผู้จัดทำเอกสารคาดการณ์วาดภาพอนาคตเอาไว้

เอกสารฉบับนี้ยังประกาศด้วยว่า ชาวฮ่องกงและชาวมาเก๊าที่กำลังทำงานและกำลังพำนักอาศัยอยู่ในเซินเจิ้น จะมีสิทธิได้รับสวัสดิการทางสังคมและทางการแพทย์ ตลอดจนผลประโยชน์อย่างอื่นๆ ทุกๆ อย่าง ซึ่งก่อนหน้านี้สงวนเอาไว้ให้เฉพาะคนท้องถิ่นเท่านั้น

ปักกิ่งกำลังมุ่งลดความสำคัญของฮ่องกง

จากความเคลื่อนไหวเช่นนี้ ได้ถูกตีความกันอย่างกว้างขวางว่า ปักกิ่งจะต้องเปลี่ยนใจแล้ว และก็ตัดสินใจแล้วที่จะลดฐานะความสำคัญของฮ่องกงลง หลังจากรู้สึกผิดหวังกับความปั่นป่วนวุ่นวายและการกบฎแข็งข้อในนครแห่งนี้ในช่วงหลังๆ มานี้

คณะกรรมการส่วนกลางว่าด้วยกิจการทางการเมืองและกฎหมายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Communist Party’s Central Commission on Political and Legal Affairs) ได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้ในบัญชีสื่อสังคม “วีแชต” (WeChat) ของตนเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมว่า การยกระดับฐานะของเซินเจิ้นให้ขึ้นสู่ระดับโลก โดยสาระสำคัญแล้วจะเป็นการช่วยเหลือให้นครแห่งนี้สามารถที่จะปลดปล่อยศักยภาพของตนออกมาอย่างเต็มที่ เพื่อก้าวเข้าไปอยู่ในลีกชั้นนำลีกเดียวกันกับนิวยอร์ก, ลอนดอน, และโตเกียว และในทางกลับกันก็จะทำให้กรอบโครง “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของฮ่องกงมีคุณค่ามากขึ้น ตลอดจนช่วยเหลือนครเพื่อนบ้านรายนี้ในการแก้ไขจัดการกับประเด็นปัญหาบางประการที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานานของตน

ความเห็นในสื่อสังคม “วีแชต” ดังกล่าว ชี้อีกว่า แผนการริเริ่มพื้นที่ “เกรตเทอร์ เบย์ แอเรีย” (Greater Bay Area) ซึ่งถือเอาเมืองเซินเจิ้นเป็นแกนกลางของแผน จะให้กำเนิดโอกาสอันมากมายมโหฬารในด้านการบริโภค, การผลิตทางอุตสาหกรรม, และการว่าจ้างแรงงานพนักงาน ทั้งสำหรับวิสาหกิจต่างๆ และสำหรับปัจเจกบุคคลต่างๆ นอกจากนั้นแล้วยังจะเป็นการปลดชนวนความขัดแย้งต่างๆ ของฮ่องกง ตลอดจนบรรเทาความลำบากเดือดร้อนต่างๆ ของฮ่องกงอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) ผู้หนึ่ง ซึ่งไม่ต้องการให้ระบุชื่อ บอกกับเอเชียไทมส์ว่า การฟูมฟักบ่มเพาะเซินเจิ้น ให้เข้าแทนที่บทบาทบางส่วนในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินของฮ่อกง –ถึงแม้เรื่องนี้ยังแทบเป็นไปไม่ได้เลยในระยะสั้น เมื่อพิจารณาจากข้อจำกัดต่างๆ ทั้งทางด้านเงินทุนและทางด้านระเบียบกฎหมายที่เป็นอยู่ในเวลานี้— อาจจะถูกปักกิ่งใช้เป็นแผนการแก้ปัญหาแบบที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด หากสิ่งต่างๆ ในฮ่องกงพัฒนาไปในทางเลวร้ายลงในระยะเวลาไม่กี่ปีหรือไม่กี่สิบปีต่อจากนี้ หรือถ้าหากกองทหารจีนซึ่งประจำรักษาการณ์อยู่ในฮ่องกงถูกบังคับให้เคลื่อนกำลังออกมาแทรกแซง

เขากล่าวต่อไปว่า จากแผนการคราวนี้ ยังเท่ากับว่าปักกิ่งกำลังเสนอทางเลือกอีกทางหนึ่งแก่ชาวฮ่องกง ได้แก่การตัดสินใจข้ามชายแดนจีนเข้าไปที่เซินเจิ้น โดยที่พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและประดุจดังคนในท้องถิ่น ขณะที่ทางนครของพวกเขาเองนั้นอาจจะถูกกรรมลิขิตให้ต้องประสบกับอนาคตซึ่งอุดมไปด้วยเหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นยิ่งขึ้นไปอีก จวบจนกระทั่งถึงปี 2047 ซึ่งเป็นปีที่ข้อตกลงของปักกิ่งที่ให้ใช้นโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ในฮ่องกง หมดอายุลงอย่างเป็นทางการ

แผ้วถางทางสำหรับการควบรวม

บนกระดานวางแผนของ สี จิ้นผิงนั้น เซินเจิ้นต้องเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมไปเป็นนครที่ดีกว่าฮ่องกงในด้านหลักๆ ต่างๆ ภายในระยะเวลา 10 ถึง 20 ปีข้างหน้านี้ –โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ, โครงสร้างพื้นฐาน, และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน— เพื่อสาธิตให้ชาวฮ่องกงมองเห็นวิถีชีวิตที่ดีกว่า และหว่านมนตร์เสน่ห์ชักชวนผู้คนบางส่วนให้ตัดสินใจอพยพโยกย้ายขึ้นเหนือ และรับรองเห็นชอบกับระบบของปักกิ่ง

การยกระดับนครเซินเจิ้นเช่นนี้ ยังทำให้เกิดการหวนกลับไปสู่ข่าวลือในช่วงก่อนหน้าที่ฮ่องกงจะถูกลอนดอนส่งมอบมาให้อยู่ในมือปักกิ่งเมื่อปี 1997 โดยที่ในตอนนั้นหลายๆ คนหลายๆ ฝ่ายคาดเดากะเก็งกันว่า “หนึ่งประเทศ สองระบบ” อาจจะเป็นมาตรการชั่วคราว และสิ่งที่ปักกิ่งวาดหวังเอาไว้มากที่สุดจะเป็นการดูดกลืนดินแดนแห่งนี้เข้ากับแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเมื่อมาถึงในยุคสมัยนี้แล้ว ก็คือการควบรวมเข้ากับเซินเจิ้น

เซินเจิ้นตั้งอยู่บนพื้นฐานอันหนักแน่นมั่นคง พรักพร้อมอยู่แล้วที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว โดยที่ปัจจุบันมีผลผลิตทางเศรษฐกิจรายปีที่มีขนาดใหญ่โตกว่าของฮ่องกงไปเรียบร้อย ขณะที่ภาคเทคและภาคอุตสาหกรรมการผลิตระดับไอเอนของเซินเจิ้น ก็ทำให้ฮ่องกงดูเร่อร่าล้าหลังอย่างน่าเศร้าใจมานานแล้ว ในเซินเจิ้นนั้น บ้านพักอาศัยยังคงมีราคาถูกกว่าและขนาดพื้นที่ก็กว้างขวางกว่าที่ฮ่องกงมากมายนัก เวลาเดียวกัน ผู้คนที่ยากไร้ด้อยสิทธิ์ทั้งหลายยังคงสามารถเข้าถึงที่พักอาศัยในลักษณะอาคารสงเคราะห์ซึ่งรัฐให้การอุดหนุน

พวกผู้สังเกตการณ์เชื่อว่า ถ้าหากเมื่อถึงช่วงประมาณทศวรรษ 2030 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (จีดีพี) ของเซินเจิ้นสามารถเติบโตจนอยู่ในระดับประมาณสองเท่าตัวของที่ฮ่องกงทำได้ ขณะเดียวกันระดับจีดีพีต่อหัวประชากร ตลอดจนตัวเลขรายรับของประชาชนก็ขยับเข้าใกล้กับทางฮ่องกง แล้วเมื่อเซินเจิ้นสามารถที่จะเสนอลู่ทางโอกาสทางอาชีพที่ดีกว่า และความช่วยเหลือทางด้านที่พักอาศัยและชีวิตความเป็นอยู่ซึ่งดีกว่า ขณะที่พวกซึ่งอยู่ในฮ่องกงยังคงต้องต่อสู้ดิ้นรนกันต่อไปกับปัญหาต่างๆ ในเรื่องการหาเลี้ยงปากท้องแล้ว การควบรวมกันในช่วงปี 2047 หรือประมาณราวๆ ปีดังกล่าว ก็อาจกลายเป็นหนทางการแก้ไขปัญหาตามธรรมชาติธรรมดาไปเลย

เมื่อเซินเจิ้นเปล่งรัศมีเจิดจ้าบดบังฮ่องกง และอยู่บนเส้นทางของวงโคจรที่ไต่สูงขึ้นไป ซึ่งจะเหนือล้ำกว่านครเพื่อนบ้านของตนในด้านต่างๆ มากมายหลากหลาย เมื่อนั้น แรงต่อต้านการควบคุมในฮ่องกงก็ย่อมจะลดน้อยถอยลงจนกระทั่งเหลืออยู่น้อยที่สุด
<i>กว่างโจว เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง  เป็นหนึ่งเมืองสำคัญรวมกลุ่มกันอยู่ในเขตพัฒนา “เกรตเทอร์ เบย์ แอเรีย” ของจีน </i>
หมายเหตุผู้แปล

[1] เกี่ยวกับแผนแม่บทในการพัฒนาเมืองเซินเจิ้น ให้กลายเป็นนครแห่งโลกนี้ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม เอเชียไทมส์ ได้เผยแพร่ข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่ง พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ จึงขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้:


ปักกิ่งเผยแผนในการทำให้ ‘เซินเจิ้น’ เข้าแทนที่ ‘ฮ่องกงเด็กดื้อรั้น’
โดย แฟรงค์ เฉิน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Beijing’s plan for Shenzhen to supplant ‘unruly HK’
By Frank Chen
19/08/2019

พรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีนเปิดแผนแม่บทที่ระบุรายละเอียดในการพลิกโฉมเซินเจิ้นให้กลายเป็นนครระดับโลก ขณะเดียวกับที่ฮ่องกงต้องตะเกียกตะกายออกจากพายุทางการเมืองลูกหนึ่งเพื่อเข้าไปยังอีกลูกหนึ่งอย่างไม่หยุดไม่หย่อน

แผนแม่บทฉบับใหม่ที่จะเลื่อนชั้นยกฐานะโปรไฟล์ของเซินเจิ้น กำลังถูกจับตามองว่าคือสัญญาณประการหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปักกิ่งกำลังสูญเสียความศรัทธาเชื่อมั่นในฮ่องกง ที่กำลังปั่นป่วนวุ่นวายจากการประท้วงเป็นระลอกซึ่งมุ่งโจมตีประณามจีน

จุดสำคัญที่สุดของเอกสารนโยบายที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม โดยคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและคณะรัฐมนตรีจีนก็คือ การผลักดันพลิกโฉมเซินเจิ้น ให้กลายเป็นตัวอย่างอันดีเลิศยอดเยี่ยมตัวอย่างหนึ่งของระบบสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะแบบจีน รวมทั้งให้กลายเป็นมหานครยักษ์ใหญ่ที่มีความสอดคล้องเข้ากันกับความจำเป็นและความต้องการต่างๆ ของประเทศจีนในฐานะที่เป็นอภิมหาอำนาจรายหนึ่งของโลก

เอกสารที่มีเนื้อหายาวเหยียดฉบับนี้ได้ชี้เน้นเอาไว้เป็นพิเศษว่า เซินเจิ้นจะต้องพุ่งพรวดขึ้นไปสู่แถวหน้าในหมู่ศูนย์กลางประชาคมเมืองทั่วโลกให้สำเร็จภายในปี 2025 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวรบด้านหลักๆ เป็นต้นว่า นวัตกรรม, การวิจัยและการพัฒนา, ตลอดจนการพัฒนาแบบมีคุณภาพสูง

เอกสารฉบับนี้ยังบรรจุเอาไว้ด้วยการริเริ่มเชิงนโยบายชุดใหญ่ที่มุ่งวางรากฐานเอาไว้สำหรับให้เซินเจิ้นสร้างเสริมต่อยอดไปสู่ความทะเยอทะยานอันสูงส่งต่างๆ ที่ปักกิ่งมอบหมายให้ ทั้งนี้สิ่งที่ได้รับการเน้นย้ำก็มีดังเช่น การกระตุ้นส่งเสริมภาคการเงินและภาคนวัตกรรมของนครแห่งนี้, การจัดงานการจัดรายการระดับเมกะอีเวนต์ และการมีสถานที่ประชุมระดับนานาชาติ, ตลอดจนการสร้างเสน่ห์ดึงดูดพวกสถาบันอุดมศึกษาและพวกองค์การจากต่างแดน ให้มาตั้งฐานตั้งที่มั่นกันในนครแห่งนี้

ยกระดับฐานะของ เซินเจิ้น ขึ้นไปอีก

นโยบายใหม่ในการพัฒนาเซินเจิ้นนี้ ปรากฏขึ้นมาหลังจากที่เมื่อประมาณครึ่งปีก่อน คือในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ปักกิ่งได้ประกาศเอกสารพิมพ์เขียวที่จะนำเอา ฮ่องกง กับ มาเก๊า ซึ่งเป็น 2 ดินแดนที่เคยเป็นอดีตอาณานิคมของพวกชาติยุโรปจวบจนกระทั่งเมื่อไม่ถึง 20 ปีมานี้ มารวมกลุ่มเข้ากับ เซินเจิ้น กับ กว่างโจว (เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง) เพื่อจัดตั้งให้เป็นเขตพื้นที่พัฒนา “เกรตเทอร์ เบย์ แอเรีย” (Greater Bay Area) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bayarea.gov.hk/filemanager/en/share/pdf/Outline_Development_Plan.pdf)

ในเอกสารฉบับดังกล่าว ฮ่องกงได้รับมอบหมายให้แสดงบทบาทหลายหลาก รวมทั้งปักกิ่งยังวางแผนจะดำเนินนโยบายส่งเสริมสนับสนุนต่างๆ เพื่อสร้างเสริมความมั่นคงแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก ให้แก่ฐานะการเป็นศูนย์กลางที่ทรงความสำคัญอย่างเหนือล้ำกว่าใครๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของฮ่องกง ทั้งในด้านการเงิน, การค้า, การบิน, นวัตกรรม, ตลอดจนบริการทางกฎหมายและบริการทางวิชาชีพ

จากบทบาทที่ปักกิ่งมอบหมายให้แก่ฮ่องกงเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นการลดทอนศักยภาพความสามารถของเซินเจิ้นในระดับหนึ่งอยู่ในตัว เนื่องจากว่าเซินเจิ้นเองก็มีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะแข่งขันท้าทายนครเพื่อนบ้านของตนรายนี้ แต่ว่าฐานะและบทบาทหน้าที่ของเซินเจิ้นส่วนใหญ่ กลับถูกจำกัดให้เป็นเพียงศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมระดับชาติแห่งหนึ่งเท่านั้น

มาถึงตอนนี้ คำชี้แนะล่าสุดของปักกิ่งที่ให้ยกฐานะเซินเจิ้นขึ้นไปสู่ระดับโลก เพื่อเปลี่ยนแปลงพลิกรูปโฉมของเมืองนี้ ให้กลายเป็นหนึ่งในมหานครแถวหน้าของพื้นพิภพ ที่มีการเติบโตขยายตัวอย่างเต็มที่ จึงถูกผู้สังเกตการณ์บางส่วนมองว่า นี่เป็นทั้งการปรับปรุงแก้ไขแผนการเกรตเทอร์ เบย์ แอเรีย และเวลาเดียวกันก็เป็นการส่งคำเตือนถึงฮ่องกงอย่างอ้อมๆ

บางคนบางส่วนในอดีตอาณานิคมของอังกฤษแห่งนี้ ได้แสดงการก่อกบฎต่อต้านปักกิ่งอย่างเปิดเผย ขณะที่กระแสการประท้วงและความไม่สงบทางสังคมยังคงแผดเสียงก้องกระหึ่ม การชุมนุมเดินขบวนขนาดใหญ่ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าโดยเฉพาะในช่วงสุดสัปดาห์ บ่อยครั้งทีเดียวที่จบลงด้วยการปะทะและการวิ่งไล่เอาเถิดกันระหว่างพวกหัวรุนแรงกับตำรวจ ซึ่งนำไปสู่การยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง เหตุการณ์เหล่านี้ไม่เพียงทำให้ตลาดท้องถิ่นอยู่ในอาการโซซัดโซเซเท่านั้น แต่ยังสร้างความเครียดเค้นขึ้นในสายสัมพันธ์ที่ฮ่องกงมีอยู่กับปักกิ่งอีกด้วย

ในหน้าบทบรรณาธิการ-หน้าทัศนะ ของหนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเสียงของปักกิ่งอย่าง เหรินหมินรึเป้า (People’s Daily) และ โกลบอลไทมส์ (Global Times) ได้ตำหนิติเตียนการประท้วงเหล่านี้ ซึ่งมีชนวนเหตุมาจากร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีน ที่เวลานี้ถูกพับเก็บกลับไปแล้ว (ปัจจุบัน ทางการฮ่องกงประกาศถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกจากสภานิติบัญญัติแล้ว –ผู้แปล) พร้อมกับเตือนว่าถ้าหากความปั่นป่วนวุ่นวายเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไป สิ่งซึ่งกำลังถูกวางเป็นเดิมพันอยู่ในตอนนี้ ย่อมได้แก่เรื่องที่ฮ่องกงจะสามารถดำรงฐานะการเป็นศูนย์กลางทางการเงินและทางธุรกิจเอาไว้อย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ได้หรือไม่ สื่อทางการของปักกิ่งเหล่านี้บอกด้วยว่า พวกนครต่างๆ บนแผ่นดินใหญ่เวลานี้ต่างกำลังพุ่งตัวทะยานไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วกันอยู่แล้ว ในเมื่อพวกเขาสามารถวางการต่อสู้ทางการเมืองภายในเอาไว้ก่อน และหันมาโฟกัสอยู่ที่เรื่องการรับใช้ประเทศชาติเป็นสำคัญ

อารมณ์ความรู้สึกที่ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในตอนนี้จึงมีอยู่ว่า ขณะที่เซินเจิ้นมีความเด็ดเดี่ยวที่จะแสดงออกอย่างดีที่สุดในการแข่งขันระดับภูมิภาครอบใหม่ ฮ่องกงกลับดูเหมือนกับเด็กที่ถูกตามใจจนเสียคน กำลังทำตัวหัวแข็งดื้อรั้น และสูญเสียนิสัยใจคอความกล้าหาญของตนเองซึ่งเกิดขึ้นมาจากความรู้สึกในสิทธิศักดิ์ศรีของตน

ความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ของปักกิ่งคราวนี้ กลายเป็นเชื้อเพลิงทำให้เกิดการคาดหมายกันขึ้นมาอีกครั้ง ว่าปักกิ่งอาจจะหันมาทุ่มเทอุ้มชูเซินเจิ้น และกว่างโจว (ซึ่งมีฐานะเป็นศูนย์กลางทางการพาณิชย์และทางการผลิตทางอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วแห่งหนึ่งอยู่แล้ว) เพื่อเข้าแทนที่และแย่งตำแหน่งจากเด็กดื้อดึงอย่างฮ่องกงในระยะยาว ถึงแม้ปักกิ่งชี้เอาไว้ด้วยว่า การบ่มเพาะฟูมฟักนครในแผ่นดินใหญ่ 2 แห่งนี้ น่าที่จะมีส่วนช่วยเหลือการดำเนินการตามหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่กำลังใช้อยู่ในฮ่องกงเวลานี้

เซินเจิ้นนั้นอันที่จริงได้แซงหน้าฮ่องกงไปเรียบร้อยแล้วในเรื่องผลผลิตทางเศรษฐกิจประจำปี โดยเมื่อปี 2018 ลงบัญชีว่ามีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (จีดีพี) คิดเป็นมูลค่า 2.42 ล้านล้านหยวน ( 343,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เปรียบเทียบกับฮ่องกงซึ่งทำได้ที่ 2.4 ล้านล้านหยวน

ในครึ่งแรกของปี 2019 นครแห่งนี้ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพวกบริษัทเทค และอุตสาหกรรมการผลิตอันก้าวหน้าของจีน อย่างเช่น เทนเซนต์ (Tencent), หัวเว่ย (Huawei), ดีเจไอ (DJI), บีวายดี (BYD), และว่านเคอ (Vanke) ยังคงวิ่งนำฮ่องกงไกลออกไปอีกด้วยอัตราเติบโตอันแข็งแกร่งที่ 7.4% ขณะที่ฮ่องกงเวลานี้กำลังตะเกียกตะกายอยู่ตรงปากเหวของภาวะเศรษฐกิจซบเซา โดยที่จีดีพีแท้จริงมีการขยายตัวได้เพียงแค่ 0.5% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า

เวลาเดียวกับที่เศรษฐกิจฮ่องกงได้รับผลกระทบหนักอยู่แล้วจากสงครามการค้าอันยืดเยื้อระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กระแสความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเขตบริหารพิเศษของจีนแห่งนี้ก็มีแต่เป็นการซ้ำเติมความยากลำบากของฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม แผนการต่างๆ ของปักกิ่งที่เตรียมไว้สำหรับเซินเจิ้น น่าจะยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นมาตรการที่จับต้องได้และนำไปปฏิบัติได้จริงๆ โดยที่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ พวกบริษัทระหว่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศทั้งหลาย ซึ่งกำลังกังวลใจอยู่แล้วเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางการเมืองและทางระเบียบกฎหมายที่เข้าใจยากและคาดการณ์ทำนายล่วงหน้าไม่ได้ของประเทศจีน ยังไม่น่าที่จะถูกดึงดูดจากเอกสารนโยบายฉบับล่าสุด จนกระทั่งตัดสินใจทอดทิ้งฮ่องกง และเสี่ยงเดิมพันเดินหน้าข้ามพรมแดนขึ้นไปทางเหนือ
<i>ยามราตรีที่เซินเจิ้น </i>
[2] เรื่องการให้เซินเจิ้นรับบทบาทหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งใหม่แห่งหนึ่งในกระบวนการทำให้สกุลเงินหยวนของจีนกลายเป็นสกุลเงินระหว่างประเทศนั้น ปักกิ่งได้เริ่มออกมาตรการที่ถือเป็นก้าวแรกในเรื่องนี้แล้ว ดังที่ระบุไว้ในข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งของเอเชียไทมส์ จึงขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้ดังนี้:

‘เซินเจิ้น’มีอิสระมากขึ้นในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและกระแสเงินสด
โดย เคจี ชาน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Shenzhen to free currency conversion, cash flows
By KG Chan
01/09/2019

ปักกิ่งออกมาตรการใหม่ทำให้เซินเจิ้นสามารถแลกเปลี่ยนสกุลเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินหยวนได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก อย่างไรก็ตาม เรื่องการนำเงินทุนออกไปนั้น ยังคงถูกจำกัดอย่างเข้มงวด

เซินเจิ้น นครที่รุ่งเรืองจากเรื่องเทคและอุตสาหกรรมการผลิตไอเอนของจีน ซึ่งตั้งอยู่ ประชิดติดกับฮ่องกง เริ่มต้นก้าวเดินแรกได้เป็นอย่างดีในความพยายามที่จะพลิกตัวเองให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินด้วย โดยได้รับความเอื้อเฟื้อจากนโยบายส่งเสริมสนับสนุนจากปักกิ่ง อันมุ่งหมายที่จะทำให้เมืองนี้ผงาดขึ้นสู่ฐานะการเป็น “นครแห่งโลก” เทียบชั้นกับนิวยอร์ก, ลอนดอน, และโตเกียว

ในมาตรการล่าสุดที่ทางการจีนประกาศออกมาสำหรับเซินเจิ้นคราวนี้ เป็นการยกเลิกระบบการต้องขออนุญาตเพื่อแลกเปลี่ยนสกุลเงินตราต่างประเทศให้เป็นสกุลเงินเหรินหมินปี้ (หรือก็คือเงินหยวน) ของจีน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจต่างๆ และปัจเจกบุคคลต่างๆ ในนครแห่งนี้ ต้องเผชิญความล่าช้าของระบบราชการลดน้อยลง เมื่อพวกเขาต้องการที่จะแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสกุลแข็งให้เป็นเงินหยวนจีน ณ ธนาคารและร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราในท้องถิ่น

ภายใต้การอุปถัมภ์ของแบงก์ชาติจีนที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People’s Bank of China) และ สำนักงานบริหารแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแห่งรัฐ (State Administration of Foreign Exchange) เซินเจิ้นจะกลายเป็นนครบนแผ่นดินใหญ่แห่งแรกที่จะค่อยๆ ได้รับอิสรเสรีมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องการแลกเปลี่ยนสกุลเงินตราของเงินทุนต่างประเทศ นี่ก็หมายความว่า ถึงอย่างไรเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแผ่นดินใหญ่จีน ซึ่งได้รับการปิดล้อมระแวดระวังจากมาตรการควบคุมเงินทุนอันเข้มงวดของปักกิ่ง ที่มีจุดมุ่งหมายเพี่อสกัดกั้นการไหลออกไปของเงินทุน ไม่ว่าจะในรูปของการไปลงทุนใหม่ในต่างแดน หรือการส่งเงินกำไรกลับไปต่างประเทศ

สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนรายงานว่า ทางการผู้รับผิดชอบเรื่องการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของเมืองเซินเจิ้น ได้ปรับปรุงแก้ไขกระบวนการในการนำสกุลเงินตราต่างประเทศมาแลกเปลี่ยนและในการแลกซื้อเงินหยวน ให้มีประสิทธิภาพขึ้นมากแล้ว และระยะเวลาที่ต้องใช้กว่าจะสิ้นสุดการทำธุรกรรม จะตัดลดลงจากระดับหลายๆ ชั่วโมงในอดีต (เวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสารต่างๆ และในการออกใบอนุญาต) จนเหลือเพียงแค่สองสามนาทีเท่านั้น ทว่าโครงการนำร่องนี้ยังจะใช้เฉพาะที่เซินเจิ้นเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ เซินเจิ้น ซึ่งก็มีฐานะเป็นหนึ่งในเหล่านครที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของจีน ต้องอยู่ในอาการตะกุกตะกักติดขัดจากกฎระเบียบเรื่องการแลกเปลี่ยนเงินตราซึ่งจัดทำขึ้นมาตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน ทั้งนี้ นครที่เป็นศูนย์กลางด้านเทคที่กำลังเติบโตรุ่งเรืองแห่งนี้ คือที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทยักษ์อย่าง เทนเซนต์, หัวเว่ย, ดีเจไอ, และบีวายดี ซึ่งมียอดปริมาณการนำเข้าและส่งออกอยู่ในระดับ 3 ล้านล้านหยวน (420,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปี 2018 เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อนหน้านั้น

การที่สามารถนำเอาสกุลเงินตราต่างประเทศซึ่งได้จากการได้เปรียบทางการค้าและการลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ มาแลกเปลี่ยนให้เป็นสกุลเงินเหรินหมินปี้ได้อย่างเสรีเช่นนี้ สามารถที่จะกระตุ้นการไหลเวียนของเงินทุนและการลงทุนด้านเงินทุนในนครแห่งนี้ให้คึกคักยิ่งขึ้นไปอีก เป็นการช่วยเหลือบริษัทต่างๆ และเทรดเดอร์รายต่างๆ ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น โดยผ่านการทำธุรกรรมที่รวดเร็วยิ่งขึ้น

พวกผู้สังเกตการณ์ให้ความเห็นว่า หากแผนการนำร่องนี้สามารถดำเนินการไปได้อย่างดี และมีการขยับขยายออกไปทั้งในเรื่องจำนวนและในเรื่องพื้นที่ ตัวอย่างเช่น ให้ครอบคลุมทั่วทั้งมณฑลกวางตุ้งแล้ว บริษัทต่างประเทศบางแห่งก็อาจจะตัดสินใจละทิ้งฮ่องกงและรวบรวมเอาเงินทองของพวกเขาตรงมาไว้ในเซินเจิ้น เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินเหรินหมินปี้สำหรับใช้ในการลงทุน

แต่ถึงแม้มีความคืบหน้า “ก้าวเล็กๆ” เช่นนี้แล้ว พวกผู้สังเกตการณ์ยังคงชี้ว่าเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญจริงๆ ยังอยู่ที่ว่า ปักกิ่งจะต้องเปิดทางให้เซินเจิ้นค่อยๆ ผ่อนคลายการแลกเปลี่ยนเงินเหรินหมินปี้ให้เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศด้วย รวมทั้งลดกำแพงกีดขวางลงมาเพื่อให้สามารถนำเงินทุนออกไป โดยที่เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปต่างๆ ทางด้านการบริหารจัดการบัญชีเงินทุน ซึ่งปักกิ่งได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะกระทำครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ยังคงล้มเหลวไม่ได้ขยับอะไรจริงๆ มาเป็นปีๆ แล้ว

คาดการณ์กันว่า ปักกิ่งยังอาจจะนำเอานโยบายอย่างเดียวกันนี้ไปใช้ในเมืองหลักอื่นๆ อีกสองสามเมือง เป็นต้นว่า เขตการค้าเสรีในนครเซี่ยงไฮ้

ก่อนหน้านี้เมื่อกลางเดือนสิงหาคม ปักกิ่งได้เปิดเผยแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาเซินเจิ้นให้กลายเป็นนครตัวอย่างระดับโลก เพื่อโอ่อวดให้เห็นคุณงามความดีของระบบการเมืองและเศรษฐกิจของจีน อีกทั้งได้มอบหมายให้เซินเจิ้นซึ่งปัจจุบันมีพลเมือง 15 ล้านคน แสดงบทบาทใหม่ในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งใหม่ที่เติบโตเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเสริมส่ง ถ้าหากไม่ใช่เข้าแทนที่ ในการทำหน้าที่บางส่วนของฮ่องกง และในการเร่งรัดกระบวนการทำให้สกุลเงินเหรินหมินปี้กลายเป็นสกุลเงินตราระหว่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น