xs
xsm
sm
md
lg

ใจชื้น!! ศูนย์อวกาศอินเดียพบตำแหน่ง ‘จันทรายาน-2’ แล้ว แต่ยังติดต่อไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 22 ก.ค. ขณะที่จรวด GSLV-mark III-M1 กำลังพุ่งออกจากฐานยิงที่ศูนย์อวกาศ สาทิศ ธาวัน ในเมืองศรีหริโคตา เพื่อนำยานอวกาศ ‘จันทรายาน-2’ ขององค์การวิจัยด้านอวกาศอินเดีย (ISRO) มุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์
รอยเตอร์ – องค์การวิจัยด้านอวกาศอินเดีย (ISRO) ยืนยันวันนี้ (10 ก.ย.) ว่าสามารถระบุตำแหน่งของ ‘จันทรายาน-2’ ซึ่งขาดการติดต่อขณะพยายามลงจอดบนดวงจันทร์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (7) ได้แล้ว ทว่ายังไม่สามารถเชื่อมสัญญาณติดต่อกับตัวยานลงจอดได้

ยานสำรวจลำนี้พยายามที่จะลงจอดแบบควบคุม หรือ ‘soft-landing’ ใกล้ๆ ขั้วใต้ของดวงจันทร์ แต่เกิดเหตุขัดข้องจนทำให้ศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินไม่สามารถติดต่อได้ระหว่างการลงจอดขั้นสุดท้าย

ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศชี้ว่า ตัวยานลงจอด ‘วิกรม’ (Vikram) อาจทิ้งตัวดิ่งลงมาด้วยความเร็วเกินกว่าที่วางแผนไว้ ทำให้ตกกระแทกพื้นดวงจันทร์ ซึ่งจะกลายเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ของภารกิจสำรวจอวกาศที่ชาวอินเดียนับล้านๆ คนเฝ้ารอชมด้วยความหวัง

ISRO ยืนยันว่า ยานโคจรซึ่งเวลานี้กำลังหมุนวนรอบดวงจันทร์สามารถระบุตำแหน่งของยานลงจอดได้แล้ว แต่ไม่เปิดเผยว่ามันได้รับความเสียหายหรือไม่

“เรากำลังพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อเชื่อมการสื่อสารกับยานลงจอด” ISRO แถลงผ่านทวิตเตอร์

จันทรายาน-2 ออกเดินทางมุ่งหน้าไปสู่ดวงจันทร์เมื่อวันที่ 22 ก.ค. พร้อมกับยานโคจร (orbiter), ยานลงจอด (lander) และยานสำรวจ (rover) ซึ่งถูกออกแบบและผลิตในอินเดียเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

สำหรับโครงการอวกาศของอินเดียนั้นน่าสนใจเป็นพิเศษตรงที่ใช้งบประมาณน้อยมาก โดยรัฐบาลอินเดียระบุว่าใช้งบเพียง 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4,300 ล้านบาท) ในการเตรียมส่ง ‘จันทรายาน-2’ ขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งถือเป็นภารกิจที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ซึ่งใช้งบสูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ หรือถ้าเทียบเป็นค่าเงินในปัจจุบันก็มากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการอะพอลโลในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970

ก่อนหน้านี้มีเพียงสหรัฐฯ รัสเซีย และจีนเท่านั้นที่สามารถส่งยานไปลงจอดอย่างนุ่มนวลบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ โดยยานสำรวจ ‘ฉางเอ๋อ-4’ ของจีนได้ลงแตะพื้นด้านไกลของดวงจันทร์เมื่อเดือน ม.ค. ปีนี้

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ขั้วใต้ของดวงจันทร์อาจมีน้ำที่เกิดจากการละลายของน้ำแข็งอยู่ในปริมาณมาก ซึ่งทำให้การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความเป็นไปได้สูง
กำลังโหลดความคิดเห็น