xs
xsm
sm
md
lg

‘กำลังทหารสหรัฐฯในเอเชีย’อาจถูกทำลายยับเยิน‘ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง’

เผยแพร่:   โดย: ดีเอ็ม ชาน

<i>ยานยนต์ทหารของจีนบรรทุกขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) แบบ ดีเอฟ-26 แล่นผ่านประตูเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง ระหว่างการตรวจพลสวนสนามเมื่อเดือนกันยายน 2015 <i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

US military in Asia, destroyed in hours: study
By DM Chan
02/09/2019

รายงานการศึกษาของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ชี้ว่า ขีปนาวุธจำนวนมหาศาลของจีนสามารถยังความพ่ายแพ้ให้แก่ฐานทัพต่างๆ ของสหรัฐฯในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง พร้อมกันนั้นรายงานเตือนว่า ยุทธศาสตร์ของอเมริกาในการปกป้องคุ้มครองเหล่าชาติพันธมิตรในภูมิภาคนี้มีข้อบกพร่องที่ร้ายแรงยิ่ง

กองทัพสหรัฐฯไม่ได้เป็นกองกำลังอาวุธที่สำคัญที่สุดในเอเชียอีกต่อไปแล้ว และขีปนาวุธจากกองทัพจีนที่กำลังปรับปรุงยกระดับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว สามารถที่จะยังความพ่ายแพ้ปราชัยให้แก่ฐานทัพต่างๆ ของพวกเขาภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง นี่คือข้อสรุปจากรายงานผลการศึกษาวิจัยฉบับใหม่ฉบับหนึ่งซึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้

ผลการศึกษาที่จัดทำโดย ศูนย์การศึกษาสหรัฐฯ (United States Study Center) แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) ในออสเตรเลียฉบับนี้ เตือนว่า ยุทธศาสตร์ด้านกลาโหมของอเมริกันในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก “กำลังมีอาการเจ็บแปลบของวิกฤตซึ่งไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน” รวมทั้งอาจจะอยู่ในภาวะต้องดิ้นรนหนักเพื่อพิทักษ์ปกป้องเหล่าพันธมิตรของตนจากการโจมตีของจีน โทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานข่าว

นี่หมายความว่า ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, และชาติหุ้นส่วนของสหรัฐฯรายอื่นๆ จำเป็นที่จะต้องสร้างสมและปรับโฟกัสกำลังของพวกตนในภูมิภาคนี้เสียใหม่ และพิจารณาเรื่องการเพิ่มความร่วมมือกับสหรัฐฯให้มากขึ้นเพื่อเป็นการรับประกันความมั่นคงปลอดภัยของพวกตน การศึกษาวิจัยนี้ระบุ

รายงานการศึกษานี้ย้ำเน้นพื้นที่ต่างๆ ซึ่งกองทัพของจีนกำลังมีความคืบหน้าไปเป็นก้าวมหึมา เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐฯตลอดจนเหล่าพันธมิตรและหุ้นส่วนในเอเชียของสหรัฐฯ โดยเรื่องสำคัญที่สุดในบรรดาพื้นที่ซึ่งถูกเน้นย้ำเหล่านี้ ได้แก่ เรื่องขีปนาวุธ

“จีนเพิ่งติดตั้งประจำการขีปนาวุธที่มีความแม่นยำสูงน่าเกรงขามหลายรุ่นหลายชนิด รวมทั้งระบบต่อสู้การเข้าแทรกแซงอย่างอื่นๆ ซึ่งสามารถที่จะลดทอนอำนาจความเหนือล้ำกว่าใครในทางทหารของอเมริกา” รายงานบอก และกล่าวด้วยว่า ขีปนาวุธเหล่านี้มีจำนวนเป็นพันๆ ลูกทีเดียว

สถานที่ตั้งทางทหารที่อยู่ในอาณาบริเวณแปซิฟิกตะวันตกของสหรัฐฯแทบทุกแห่ง รวมทั้งของพวกหุ้นส่วนและพันธมิตรรายสำคัญๆ ของอเมริกา “สามารถที่จะถูกถือว่าไร้ประโยชน์ โดยอาจจะถูกโจมตีอย่างแม่นยำตั้งแต่ในชั่วโมงต้นๆ ของการสู้รบขัดแย้ง” นี่เป็นข้อความตอนหนึ่งที่อยู่ในรายงานการศึกษานี้

ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศของจีน เมื่อถูกสอบถามขอความคิดเห็น ได้ตอบว่ายังไม่ได้เห็นรายงานฉบับนี้ แต่ เกิ่ง ส่วง โฆษกของกระทรวงเน้นย้ำด้วยว่า นโยบายทางการทหารของแดนมังกรนั้น “มีลักษณะมุ่งเน้นการป้องกัน”

“จีนกำลังก้าวเดินไปอย่างหนักแน่นมั่นคงอยู่บนเส้นทางแห่งการพัฒนาอย่างสันติ และนโยบายการป้องกันแห่งชาติของเรานั้นมีลักษณะมุ่งเน้นการป้องกัน” เกิ่งกล่าวในการแถลงข่าวตามวาระปกติ

เนื้อหาจำนวนมากทีเดียวของรายงานการศึกษาจากออสเตรเลียฉบับนี้ น่าจะไม่ค่อยได้สร้างความประหลาดใจอะไรให้แก่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน)

ในรายงานฉบับหนึ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 ซึ่ง คณะกรรมาธิการยุทธศาสตร์กลาโหมแห่งชาติ (National Defense Strategy Commission) ของสหรัฐฯ ส่งให้แก่รัฐสภาอเมริกัน ได้ระบุเอาไว้ว่า “กองทัพสหรัฐฯอาจประสบกับการบาดเจ็บล้มตายอย่างสูงลิ่วจนไม่อาจยอมรับได้” และ “อาจต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อที่จะชนะ หรือบางทียังคงอาจจะพ่ายแพ้ ในสงครามต่อสู้กับจีนหรือรัสเซีย”

อีก 6 เดือนต่อมา ในรายงานประจำปีว่าด้วยการทหารของจีนฉบับใหม่ เพนตากอนระบุว่า ปักกิ่งมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนากองทัพระดับเวิลด์คลาส และมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเป็น “มหาอำนาจที่เหนือกว่าใครๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก”

ขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) ทั้งแบบพิสัยใกล้, พิสัยกลาง (medium-range), และพิสัยปานกลาง (intermediate-range) จำนวนตั้งแต่ 2,000 ลูกขึ้นไป ซึ่งสามารถโจมตีใส่เป้าหมายทั้งที่อยู่ภาคพื้นดินและที่อยู่ในทะเล คือส่วนหนึ่งของแผนการดังกล่าวนี้ รายงานฉบับดังกล่าวของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯบอก

รายงานการศึกษาของออสเตรเลียฉบับนี้ตั้งคำถามว่า สหรัฐฯมีความสามารถหรือไม่ที่จะไล่ตามให้ทัน รวมทั้งเตือนว่าวอชิงตันกำลังเผชิญกับวิกฤตของ “การมีกำลังความสามารถไม่เพียงพอในทางยุทธศาสตร์” (strategic insolvency)

ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯกำลังพบเห็นว่า กองเรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ของตนกำลังมีจำนวนลดน้อยลง ในจังหวะเวลาที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกำลังเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

“พูดกันง่ายๆ ก็คือ ขณะที่สภาพแวดล้อมเหนือผิวน้ำกำลังมีอันตรายร้ายแรงถึงตายมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่จีนติดตั้งประจำการทั้งพวกขีปนาวุธร่อน (cruise missile), พวกเทคโนโลยีไฮเปอร์โซนิก (hypersonic ความเร็วเหนือเสียงตั้งแต่ 5 เท่าขึ้นไป), และระบบต่อสู้การป้องกันทางอากาศ ความได้เปรียบที่ดำรงคงอยู่มายาวนานในสงครามใต้น้ำของอเมริกา ย่อมจะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในดุลแห่งอำนาจของภูมิภาคนี้” รายงานฉบับนี้บอก

ทว่า พลเรือเอก ฟิล เดวิดสัน (Adm. Phil Davidson) ผู้บัญชาการของหน่วยบัญชาการอินโด-แปซิฟิก ของสหรัฐฯ (US Indo-Pacific Command) ได้ไปให้ปากคำในรัฐสภาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า เมื่อดูกันในระดับรายวันแล้ว ในแปซิฟิกเขามีเรือดำน้ำเพียงแค่ครึ่งเดียวของที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น

รายงานการศึกษาของออสเตรเลียฉบับนี้กล่าวว่า เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดที่แดนจิงโจ้และพวกชาติพันธมิตรของอเมริกาอย่างเช่นญี่ปุ่น จำเป็นที่จะต้องดันตัวเองก้าวขึ้นมาเพื่อเติมเต็มรูรั่วช่องโหว่ที่สหรัฐฯกำลังทิ้งเอาไว้

“วอชิงตันจะเรียกร้องต้องการความสนับสนุนอย่างสำคัญและอย่างต่อเนื่องจากเหล่าพันธมิตรและหุ้นส่วนของตนในภูมิภาค เพื่อให้สามารถป้องปรามลัทธิเผชิญภัยทางทหารของจีนอย่างประสบความสำเร็จ” ผลการศึกษานี้บอก

รายงานการศึกษาฉบับนี้ชี้อีกว่า กองทัพออสเตรเลียก็กำลังถูกรุมเร้าด้วยหนึ่งในบรรดาจุดอ่อนข้อบกพร่องซึ่งกำลังเล่นงานพันธมิตรอเมริกันของตน นั่นคือ กำลังทหารอยู่ในลักษณะกระจายตัวจนกระทั่งแต่ละจุดมีน้อยเกินไปแล้ว โดยที่ในช่วงเวลาระหว่างปี 2001 ถึง 2018 ออสเตรเลียได้ใช้เวลาในการปฏิบัติการทางทหารในตะวันออกกลาง มากยิ่งกว่าที่ใช้ในอินโด-แปซิฟิก ถึงกว่า 3 เท่าตัว

ความเครียดเค้นซึ่งสงครามความขัดแย้งในอัฟกานิสถาน, อิรัก, และซีเรีย ก่อให้เกิดขึ้นต่องบประมาณ, อาวุธยุทโธปกรณ์, และการปฏิบัติการของกองทัพสหรัฐฯนั้น ได้ทำให้วอชิงตันอยู่ในภาวะ “มีการเตรียมตัวอย่างย่ำแย่” “สำหรับการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจยิ่งใหญ่ในอินโด-แปซิฟิก” รายงานฉบับนี้ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น