xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ฮ่องกงเผยยินดี ‘ลาออก’ ถ้าเลือกได้-เสียใจเป็นต้นเหตุวิกฤตการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

แคร์รี ลัม ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง
รอยเตอร์ - แคร์รี ลัม ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เปิดใจยอมรับระหว่างพบปะกับนักธุรกิจกลุ่มหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เธอได้กระพือวิกฤตการเมืองขึ้นในฮ่องกงซึ่งถือเป็น “ความเสียหายร้ายแรงชนิดที่ไม่อาจให้อภัย” และเต็มใจที่จะ “ลาออก” จากตำแหน่งหากสามารถเลือกได้

ระหว่างการหารือแบบปิดซึ่งมีการบันทึกเสียงเอาไว้ ผู้ว่าฯ ฮ่องกงกล่าวว่า เธอเหลือหนทางน้อยเต็มทีที่จะแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้ เนื่องจากเหตุจลาจลได้ทวีความรุนแรงจนกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และพัวพันถึงอธิปไตยของจีนในช่วงที่ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ กำลังตึงเครียดหนัก

“ถ้าดิฉันมีทางเลือก สิ่งแรกที่อยากจะทำคือลาออก และขออภัยอย่างสุดซึ้งต่อประชาชน” เธอกล่าวเป็นภาษาอังกฤษ

ถ้อยแถลงซึ่งเต็มไปด้วยอารมณ์และบางครั้งก็เกรี้ยวกราดของ ลัม สะท้อนให้เห็นมุมมองของคณะผู้นำจีนต่อการชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ซึ่งถือเป็นวิกฤตการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุดที่จีนต้องเผชิญหลังจากเหตุการณ์ปราบปรามผู้ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989

เหตุประท้วงในฮ่องกงมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ฝ่ายบริหารของ ลัม เสนอร่างกฎหมายเปิดทางส่งผู้ต้องหาไปดำเนินคดีในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งแม้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกระงับไปแล้ว แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงเพิ่มข้อเรียกร้องต่างๆ นานา รวมถึงบังคับให้ ลัม ถอนร่างกฎหมายอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลฮ่องกงปฏิเสธที่จะทำ

ลัม ระบุว่า ปักกิ่งไม่ได้กำหนดเส้นตายว่าจะต้องยุติการชุมนุมในฮ่องกงให้ได้ก่อนถึงวันชาติจีน 1 ต.ค. และยืนยันว่ารัฐบาลจีน “ไม่มีแผน” ที่จะส่งทหารเข้ามาสลายการชุมนุมบนท้องถนนฮ่องกงอย่างที่หลายชาติกำลังจับตามอง

อย่างไรก็ดี ลัม ยอมรับว่าเธอมีทางเลือกที่จำกัดจำเขี่ยอย่างยิ่ง เนื่องจากเหตุจลาจลครั้งนี้ได้กลายเป็น “ปัญหาระดับชาติ” และเป็นเรื่องที่ “ส่งผลกระทบต่ออธิปไตยและความมั่นคงของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ 2 ชาติมหาอำนาจขัดแย้งกันอย่างรุนแรงชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน”

ในสถานการณ์เช่นนี้ “ย่อมไม่มีตัวเลือกทางการเมืองมากนักสำหรับผู้บริหารสูงสุดซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องทำงานรับใช้เจ้านาย 2 ฝ่าย ซึ่งได้แก่ รัฐบาลกลางของจีน และประชาชนชาวฮ่องกง” ลัม กล่าว

ผู้ที่เข้าร่วมประชุม 3 คนยืนยันว่า ลัม กล่าวเช่นนี้จริงระหว่างการปาฐกถาซึ่งกินเวลาราวครึ่งชั่วโมง และเป็นหนึ่งในการประชุมแบบปิดที่ถูกจัดมาแล้วหลายครั้งเพื่อสื่อสารกับ “พลเมืองจากทุกภาคส่วน” ของฮ่องกง

โฆษกของ ลัม ยืนยันกับรอยเตอร์ว่า ผู้ว่าฯ ฮ่องกงได้เข้าร่วมงานอีเวนต์ 2 ครั้งในสัปดาห์ที่แล้วซึ่งมีการเชิญนักธุรกิจด้วย และทั้งสองงานถูกจัดแบบเป็นส่วนตัว จึงไม่สามารถเผยรายละเอียดใดๆ ได้

สำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊าของจีนยังปฏิเสธที่จะตอบข้อซักถามจากทางรอยเตอร์

วิกฤตการเมืองคราวนี้ถือว่าหนักหนาสาหัสที่สุดตั้งแต่ฮ่องกงถูกส่งคืนให้แก่จีนเมื่อปี 1997 และเป็นความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ซึ่งก้าวขึ้นมาปกครองจีนเมื่อปี 2012

คำพูดของ ลัม สอดคล้องกับสิ่งที่รอยเตอร์รายงานไปเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (30 ส.ค.) ว่า อำนาจตัดสินใจในการจัดการวิกฤตฮ่องกงอยู่ที่ปักกิ่ง และข้อเสนอของ ลัม เมื่อเร็วๆ นี้ที่ขอให้เพิกถอนร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อปลดล็อคความวุ่นวายก็ถูกจีนปฏิเสธ

กระทรวงการต่างประเทศจีนยืนยันกับรอยเตอร์ว่า รัฐบาลกลาง “สนับสนุน เคารพ และเข้าใจ” ที่ ลัม ตัดสินใจยับยั้งกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ขณะที่หนังสือพิมพ์โกลบัลไทม์สซึ่งเป็นสื่อแท็บลอยด์ในเครือเดียวกับพีเพิลส์เดลีโจมตีข้อมูลของรอยเตอร์ว่าเป็น “ข่าวเท็จ”

ลัม ได้สั่งระงับการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. และต่อมาในวันที่ 9 ก.ค. ก็ออกมาประกาศว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ “ตายสนิท” แล้ว แต่ก็ไม่อาจดับความโกรธกริ้วของกลุ่มผู้ประท้วงซึ่งเรียกร้องให้มีการสอบสวนกรณีตำรวจใช้ความรุนแรงเกินเหตุกับผู้ชุมนุม รวมถึงปฏิรูปประชาธิปไตย และให้ปักกิ่งหยุดแทรกแซงกิจการภายในของฮ่องกง

ผู้นำหญิงฮ่องกงยืนยันต่อบรรดานักธุรกิจว่า กฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเกิดจากความตั้งใจของเธอเองที่จะ “อุดช่องโหว่ในระบบยุติธรรมของฮ่องกง” และ “ไม่ได้มาจากคำสั่งหรือการข่มขู่ของรัฐบาลกลาง”

เธอยังแสดงความเสียใจที่พยายามดันร่างกฎหมายฉบับนี้

“สิ่งที่เกิดขึ้นได้พิสูจน์แล้วว่า มันเป็นการตัดสินใจที่ไม่ฉลาดเอาเสียเลย เราไม่ละเอียดอ่อนพอที่จะรับรู้และเข้าใจว่า ความหวาดกลัวและวิตกกังวลที่ชาวฮ่องกงมีต่อจีนแผ่นดินใหญ่นั้นมากมายเพียงใด”

ลัม บอกด้วยว่า คณะผู้นำปักกิ่งทราบดีว่าการส่งทหารเข้ามาปราบผู้ประท้วงฮ่องกงจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายมากเพียงใด

“พวกเขาทราบว่านี่คือราคาที่แพงเกินกว่าจะจ่าย... พวกเขาห่วงใยภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาชาวโลก จีนต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะก้าวขึ้นมาอยู่ในจุดนี้ได้ และไม่เพียงเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่โตเท่านั้น แต่จะต้องมีความรับผิดชอบด้วย ดังนั้นตัวเลือกใดก็ตามที่จะทำลายพัฒนาการที่ดีเหล่านี้จึงไม่อยู่ในการพิจารณา” ลัม กล่าว

เธอระบุว่า รัฐบาลจีนพร้อมปล่อยให้สถานการณ์ลากยาวจนกว่าการชุมนุมประท้วงจะสิ้นฤทธิ์ไปเอง แม้จะทำให้เศรษฐกิจฮ่องกงย่ำแย่ นักท่องเที่ยวลดลง และสูญเสียเม็ดเงินลงทุนก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น