xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียปฏิเสธสัญชาติประชากร ‘2 ล้านคน’ ในรัฐอัสสัม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เจ้าหน้าที่ความมั่นคงอินเดียเดินลาดตระเวนรักษาความสงบเรียบร้อยบนถนนเล็กๆ สายหนึ่งที่เขตโฮไจ รัฐอัสสัม เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ก่อนจะมีการเผยแพร่สำมะโนประชากรฉบับใหม่
รอยเตอร์ - รัฐบาลอินเดียเผยแพร่เอกสารสำมะโนประชากรใหม่ซึ่งทำให้ประชากรเกือบ 2 ล้านคนในรัฐอัสสัมกลายเป็นคนไร้สัญชาติวันนี้ (31 ส.ค.)

ทางการอินเดียได้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติเพื่อคัดกรองผู้อพยพไร้ทะเบียนมานานหลายปี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่านโยบายนี้พุ่งเป้าเล่นงานชนกลุ่มน้อยมุสลิม

กระแสต่อต้านผู้อพยพผิดกฎหมายกลายเป็นปัญหาเรื้อรังในรัฐอัสสัมซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดของอินเดีย โดยประชากรท้องถิ่นต่างไม่พอใจที่ถูกพวก “คนนอก” ซึ่งส่วนใหญ่มาจากบังกลาเทศเข้ามาแย่งงานและที่ดินทำกิน

รัฐบาลอินเดียได้ส่งเจ้าหน้าที่ความมั่นคงราว 20,000 นายเข้าควบคุมสถานการณ์ในรัฐอัสสัมก่อนที่จะมีการเผยแพร่สำมะโนประชากร และสั่งแบนการชุมนุมในบางพื้นที่

ทั้งนี้ ผู้ที่เข้ารับการพิสูจน์สัญชาติจะต้องแสดงหลักฐานยืนยันว่า ตนเองและลูกหลานอาศัยอยู่ในรัฐอัสสัมหรือดินแดนส่วนอื่นๆ ของอินเดียก่อนวันที่ 24 มี.ค. ปี 1971 หรือ 1 วันก่อนที่บังกลาเทศจะประกาศแยกตัวเป็นอิสรภาพจากปากีสถาน

เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบเอกสารยืนยันตัวตนของประชากรราว 33 ล้านคน หลังจากเมื่อปีที่แล้วมีการเผยแพร่ร่างสำมะโนประชากรของรัฐอัสสัม ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ที่เข้าข่ายไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้มากกว่า 4 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู

อย่างไรก็ดี เอกสารสำมะโนประชากรฉบับสมบูรณ์ได้ระบุรายชื่อพลเมืองรัฐอัสสัมรวมทั้งสิ้น 31.1 ล้านคน และมีผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ความเป็นพลเมือง 1.9 ล้านคน

“ใครที่ไม่พอใจผลการสำรวจ ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลคนต่างด้าวได้” ปราทีก ฮาเจลา ผู้ประสานงานของสำนักทะเบียนราษฎร์แห่งรัฐอัสสัม ระบุในถ้อยแถลง

ผู้ที่ไม่มีชื่ออยู่ในสำมะโนประชากรมีเวลา 120 วันที่จะพิสูจน์สัญชาติของตนเองผ่านทางองค์กรกึ่งตุลาการที่เรียกว่า “ศาลคนต่างด้าว” (foreigner’s tribunal) ซึ่งมีอยู่หลายร้อยแห่ง และหากถูกตัดสินว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายก็ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลระดับสูงขึ้นไปได้

นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ชี้ว่า พรรคชาตินิยมฮินดูของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี พยายามโหมกระแสต่อต้านผู้อพยพไร้ทะเบียน และใช้การสำรวจสำมะโนประชากรเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งแม้กระทั่งชาวมุสลิมที่เป็นพลเมืองอินเดียอย่างถูกต้อง

อามิต ชาห์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยอินเดียซึ่งเป็นผู้ช่วยคนสนิทของโมดี เคยประกาศว่าจะกำจัดผู้อพยพผิดกฎหมายให้หมดจากประเทศ และเปรียบคนเหล่านี้ว่าเหมือน “ปลวก” ที่กัดกินบ้านเมือง

เจ้าหน้าที่รัฐอัสสัมยอมรับว่า พวกเขายังไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ความเป็นพลเมืองเกือบ 2 ล้านคน ขณะที่รัฐบาลบังกลาเทศก็ไม่เคยรับปากว่าจะยอมรับคนเหล่านี้

ปัจจุบันมีคนต่างด้าวผิดกฎหมายกว่า 1,000 คนอาศัยอยู่ที่ศูนย์กักกันผู้อพยพ 6 แห่งในรัฐอัสสัม ขณะที่ทางการเปรยว่ามีแผนจะสร้างศูนย์ลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น