xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: โลกระทึก!! อภิมหาไฟป่าล้างผลาญ ‘แอมะซอน’ ผู้นำบราซิลเสียงอ่อนรับความช่วยเหลือ G7

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไฟป่าที่ลุกลามเผาผลาญผืนป่าแอมะซอนอย่างรุนแรงในปีนี้กำลังเป็นหายนะด้านสิ่งแวดล้อมที่สร้างความหวั่นวิตกไปทั่วโลก ขณะที่บราซิลซึ่งครอบครองป่าแอมะซอนกว่าครึ่งก็ถูกวิจารณ์ว่ามุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ จนทำให้ป่าฝนเขตร้อนที่เป็นเสมือน "ปอดของโลก" ถูกรุกล้ำทำลายมากเป็นประวัติการณ์

ผืนป่าแอมะซอนซึ่งราว 60% อยู่ในบราซิลถือป่าเขตร้อนที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาลที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีพืชพรรณและสัตว์เฉพาะถิ่นอาศัยอยู่มากมาย

ป่าฝนแห่งนี้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นหนึ่งใน "ก๊าซเรือนกระจก" ตัวการก่อภาวะโลกร้อน ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงย้ำเตือนเสมอว่า การปกป้องป่าแอมะซอนคือหัวใจสำคัญที่จะช่วยยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก

อย่างไรก็ตาม สำนักวิจัยด้านอวกาศบราซิล (INPE) พบว่า ปีนี้มีไฟป่าเกิดขึ้นแล้วมากกว่า 80,000 ครั้ง นับเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่ปี 2013 และเพิ่มขึ้นถึง 84% เมื่อเทียบกับช่วง 8 เดือนแรกของปี 2018 โดยกว่าครึ่งเป็นไฟที่ปะทุขึ้นในเดือน ส.ค.

8 ใน 9 รัฐของบราซิลเผชิญวิกฤตไฟป่ารุนแรงยิ่งกว่าทุกปี โดยที่รัฐอามาโซนัสพบว่ามีไฟป่าลุกลามกินบริเวณกว้างขวางกว่าปีที่แล้วถึง 146%

ชาวบราซิลในรัฐรอนโดเนียและอามาโซนัสต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า สถานการณ์ไฟป่าปีนี้เลวร้ายผิดปกติ และทำให้มีควันไฟลอยปกคลุมทั่วทั้งภูมิภาค

ไฟป่าส่วนใหญ่เกิดจากการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทำเกษตร เมื่อบริษัททำไม้ขนซุงออกไปจนหมดก็มักจะเผาเศษต้นไม้ที่เหลือเพื่อเตรียมขายที่ดินต่อให้แก่เกษตรกรและผู้เลี้ยงสัตว์ ประกอบกับช่วงนี้ย่างเข้าฤดูแล้งซึ่งกินเวลานานหลายเดือน ไฟที่ชาวบ้านจุดจึงมักจะลุกลามจนคุมไม่อยู่

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นวิกฤตไฟป่าในปีนี้ก็คือ ท่าทีของรัฐบาลบราซิลภายใต้การนำของประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู ซึ่งประกาศนโยบายส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแอมะซอน ชาวบ้านที่นิยมจุดไฟเผาป่าจึงยิ่งเหิมเกริม เพราะเชื่อว่าทางการจะไม่ลงโทษ

สถิติการตัดไม้ทำลายป่าในบราซิลช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 67% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเพิ่มกว่า 3 เท่าตัวเฉพาะในเดือน ก.ค. โดยนักอนุรักษ์เชื่อว่าพวกที่ตัดไม้และจุดไฟเผาป่าน่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน

ผู้นำบราซิลแถลงในช่วงแรกๆ ว่าไฟป่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ต่อมาก็เริ่มกล่าวหาพวกเอ็นจีโอว่าวางแผนจุดไฟเผาป่าเพื่อทำลายชื่อเสียงของรัฐบาล แต่ไม่เคยแสดงหลักฐานยืนยัน

แม้จะโอดครวญว่าไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะยับยั้งไฟป่า แต่ โบลโซนารู ก็เตือนนานาชาติว่าไม่มีสิทธิ์แทรกแซงกิจการภายในของบราซิล พร้อมอ้างว่าการรับความช่วยเหลือภายนอกเท่ากับบั่นทอนอธิปไตยของชาติ

ภาพผืนป่าแอมะซอนที่กลายเป็นทะเลเพลิงและส่ำสัตว์น้อยใหญ่ที่ถูกไฟคลอกตายอย่างน่าสงสารสร้างความเศร้าสะเทือนใจต่อผู้คนทั่วโลก ขณะที่ชาวบราซิลเองก็ออกมาประท้วงท่าทีเฉื่อยชาของรัฐบาล กระทั่ง โบลโซนารู ต้องประกาศอนุมัติให้กองทัพส่งทหารราว 44,000 นายเข้าต่อสู้ไฟป่า

อย่างไรก็ดี โบลโซนารู ก็ยังคงโทษสภาพอากาศที่แห้งแล้งจัดว่าเป็นสาเหตุของไฟ และย้ำว่ารัฐบาลจำเป็นต้องผลักดันโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในแอมะซอนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร 20 ล้านคนที่นั่น
ประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู แห่งบราซิล
กลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ซึ่งจัดประชุมซัมมิตที่ฝรั่งเศสได้ประกาศมอบเงินสนับสนุน 20 ล้านดอลลาร์เพื่อยับยั้งไฟป่าในอเมริกาใต้ โดยประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง ในฐานะเจ้าภาพได้เตือนว่า วิกฤตครั้งนี้ถือเป็นการ “ทำลายล้างระบบนิเวศ” (ecocide) และเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่นานาชาติต้องร่วมกันแก้ไข

ผู้นำฝรั่งเศสยังขู่จะขัดขวางข้อตกลงการค้าเสรีที่สหภาพยุโรปและกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในละตินอเมริกา (Mercosur) เจรจากันไว้เมื่อเดือน มิ.ย. พร้อมวิจารณ์ โบลโซนารู ว่าพูดโกหกเกี่ยวกับนโยบายสิ่งแวดล้อม และละเลยคำมั่นสัญญาที่ว่าจะพิทักษ์ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

ประธานาธิบดีบราซิลออกมาแถลงโต้อย่างดุเดือด โดยชี้ว่า มาครง มีแนวคิดแบบ “นักล่าอาณานิคม” และทำราวกับว่าบราซิลเป็น “อาณานิคมหรือดินแดนที่ยังไม่มีใครจับจอง"

สงครามน้ำลายครั้งนี้ยังเลยเถิดไปถึงเรื่องส่วนตัว โดย โบลโซนารู ได้โพสต์ข้อความเชียร์ชาวเน็ตที่แขวะนาง บริจิตต์ มาครง ภริยาผู้นำฝรั่งเศสวัย 66 ปี ว่าสวยสู้ มิเชลล์ โบลโซนารู ภริยาวัย 37 ปีของเขาไม่ได้ ขณะที่ผู้นำเมืองน้ำหอมก็ออกมาตำหนิ โบลโซนารู ว่าพูดจาไม่ให้เกียรติ และชี้ว่าผู้หญิงบราซิลทุกคนคงรู้สึก “อับอาย” ที่มีประธานาธิบดีเช่นนี้

โบลโซนารู ประกาศเมื่อวันอังคาร (27) ว่าจะยอมรับเงินช่วยเหลือ 20 ล้านดอลลาร์จากกลุ่ม G7 ก็ต่อเมื่อ มาครง ถอนคำพูดดูหมิ่นตน แต่หลังจากนั้นไม่นานโฆษกรัฐบาลบราซิเลียก็ออกมาผ่อนท่าที โดยระบุว่าบราซิลเต็มใจรับเงินช่วยเหลือ ทว่าเงินทุนเหล่านั้น “จะต้องอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบราซิล” ห้ามต่างชาติยุ่งเกี่ยว

นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ และนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ต่างแสดงความเป็นห่วงวิกฤตไฟป่าแอมะซอน แต่ก็ย้ำว่าการขัดขวางข้อตกลงการค้าไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสม

นักวิทยาศาสตร์เกรงว่าสถานการณ์ไฟป่าครั้งนี้อาจรุนแรงถึงขั้นที่ทำให้ภูมิภาคแอมะซอนถูกแปรสภาพจากป่าฝนกลายเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา และเข้าสู่วงจรการสูญเสียผืนป่าอย่างถาวร

คาร์ลอส โนเบร ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศชาวบราซิล ระบุว่า ผืนป่าแอมะซอนถูกทำลายไปแล้วราวๆ 15-17% ซึ่งในอดีตนักวิจัยเคยเชื่อว่าจะต้องมีการสูญเสียพื้นที่ป่าถึง 40% จึงจะถึง “จุดหักเห” (tipping point) แต่เนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิในป่าแอมะซอนพุ่งสูงขึ้นและเกิดไฟป่าบ่อยขึ้น เวลานี้จึงคาดว่าจุดหักเหน่าจะอยู่ที่ระหว่าง 20-25% เท่านั้น

หากสถานการณ์ไปถึงจุดดังกล่าว โนเบร ชี้ว่าต้นไม้ในป่าจะเกิดอาการตายจากยอด (dieback) ซึ่งอาจกินเวลาตั้งแต่ 30-50 ปี ระหว่างนั้นจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปลดปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 200,000 ล้านตัน ส่งผลให้ยากที่จะควบคุมระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่นานาชาติตั้งไว้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบขั้นรุนแรงจากภาวะโลกร้อน
กำลังโหลดความคิดเห็น