xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียเตรียมส่ง ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำ’ แห่งแรกของโลกเดินทางข้าม ‘อาร์กติก’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี - รัสเซียเตรียมส่ง ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำ’ แห่งแรกของโลกเดินทางข้ามมหาสมุทรอาร์กติกมุ่งไปทางตะวันออกสู่ไซบีเรียในวันนี้ (23 ส.ค.) ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักสิ่งแวดล้อมที่เตือนว่าอาจจะเกิดความเสี่ยงร้ายแรงต่อภูมิภาค

เรือ อคาเดมิก โลโมโนซอฟ (Akademik Lomonosov) ซึ่งบรรทุกเชื้อเพลิงนิวเคลียร์จะเดินทางออกจากท่าเรือมูร์มันสก์ มุ่งหน้าไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไซบีเรียซึ่งอยู่ห่างออกไปราวๆ 5,000 กิโลเมตร

สำนักงานนิวเคลียร์ของรัสเซียหรือโรซาตอม (Rosatom) ระบุว่า เตาปฏิกรณ์ลอยน้ำแห่งนี้เป็นตัวเลือกที่สะดวกง่ายดายกว่าการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิมบนดินแดนซึ่งถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งตลอดปี และรัสเซียมีแผนจะผลิตโรงไฟฟ้าลอยน้ำเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมได้ออกมาย้ำเตือนว่าโปรเจ็กต์นี้มีความเสี่ยงสูง และอาจกลายเป็นหายนะ “เชอร์โนบิลบนน้ำแข็ง” หรือ “นิวเคลียร์ไททานิก”

เหตุระเบิดซึ่งเกิดขึ้นบริเวณฐานทดสอบขีปนาวุธทางตอนเหนือของรัสเซียในเดือนนี้ทำให้มีรังสีแพร่กระจายสู่พื้นที่โดยรอบ ซึ่งทำให้ผู้สังเกตการณ์วิตกกังวลมากขึ้นไปอีก

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำซึ่งมีความยาว 144 เมตรถูกสร้างขึ้นที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อปี 2006 มีระวางขับน้ำ 21,000 ตัน บรรทุกเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 หน่วยซึ่งมีกำลังผลิตหน่วยละ 35 เมกะวัตต์ สามารถเดินทางได้ด้วยความเร็ว 3.5-4.5 น็อต และมีลูกเรือทั้งหมด 69 คน

ทั้งนี้ คาดว่า อาคาเดมิก โลโมโนซอฟ จะใช้เวลาเดินทางราว 4-6 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปริมาณน้ำแข็งที่ปิดกั้นเส้นทาง และเมื่อไปถึงเมืองเปเวค (Pevek) ในภูมิภาคชูค็อตกาของไซบีเรีย มันก็จะทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งเดิมและโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกแห่งที่ถูกปิดตัวไป

โรงไฟฟ้าลอยน้ำแห่งนี้จะเริ่มต้นปฏิบัติการในช่วงสิ้นปี โดยภารกิจหลักๆ ก็คือการผลิตไฟฟ้าป้อนแท่นขุดเจาะน้ำมันของรัสเซียในแถบอาร์กติก

ราชิด อาลีมอฟ หัวหน้าแผนกพลังงานของ กรีนพีซ รัสเซีย ระบุว่า นักสิ่งแวดล้อมพยายามคัดค้านไอเดียสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ลอยน้ำมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 แล้ว

“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกประเภทล้วนก่อให้เกิดขยะรังสี และอุบัติเหตุไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรือ อคาเดมิก โลโมโนซอฟ ยิ่งมีความสุ่มเสี่ยงมาก หากเจอกับพายุที่รุนแรง” เขาให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

อาลีมอฟ ชี้ว่า โรงไฟฟ้าลอยน้ำแห่งนี้ถูกลากจูงโดยเรือลำอื่น ซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะพุ่งชนกันเองขณะเกิดพายุ

โรซาตอมยังมีแผนที่จะเก็บแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วไว้บนเรือ ซึ่ง อาลีมอฟ เตือนว่าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับแท่งเชื้อเพลิงเหล่านี้จะก่อหายนะร้ายแรงต่อสภาพแวดล้อมที่เปราะบางของอาร์กติก และในปัจจุบันก็ยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยทำความสะอาดรังสีอันตราย หากเกิดการรั่วไหลขึ้น

ภาวะโลกร้อนและการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกทำให้การเดินเรือผ่านเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeast Passage) ซึ่งเชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกเข้ากับมหาสมุทรแปซิฟิกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซียมีความง่ายดายยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น