xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’ โวยค่ายรถยักษ์ใหญ่ไม่ร่วมมือฉีก ‘กฎประหยัดน้ำมัน’ ในยุคโอบามา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ออกมาตำหนิค่ายรถยนต์ชั้นนำที่ไม่ยอมสนับสนุนแผนของรัฐบาลในการยกเลิก ‘ข้อบังคับด้านการประหยัดน้ำมัน (fuel-efficiency)’ ซึ่งเป็นกฎที่สร้างขึ้นในยุคของโอบามา โดยเฉพาะ ฟอร์ด มอเตอร์ ซึ่งหันไปทำข้อตกลงกับรัฐแคลิฟอร์เนียในการผลิตรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ฟอร์ด และผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่อีก 3 เจ้า ได้แก่ ฮอนด้า มอเตอร์ โค, บีเอ็มดับเบิลยู เอจี และโฟล์คสวาเกน เอจี ได้ทำข้อตกลงโดยสมัครใจกับรัฐแคลิฟอร์เนียว่าด้วยการผลิตรถที่ประหยัดน้ำมัน ซึ่งถือเป็นการท้าทายรัฐบาล ทรัมป์ ที่พยายามเพิกถอนสิทธิ์ของรัฐแห่งนี้ในการกำหนดมาตรฐานของตัวเองเพื่อต่อสู้ปัญหาโลกร้อน

กฎเกณฑ์ใหม่ของรัฐแคลิฟอร์เนียแม้จะผ่อนคลายกว่าข้อบังคับในยุคโอบามา แต่ยังคงเข้มงวดกว่าสิ่งที่รัฐบาล ทรัมป์ เสนอ

ทรัมป์ ระบุว่า เฮนรี ฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ “จะต้องผิดหวังอย่างยิ่ง ถ้าได้เห็นคนรุ่นหลังในยุคนี้ผลิตรถยนต์ที่มีราคาแพงขึ้น แต่ปลอดภัยน้อยลงแถมยังไม่เวิร์ค เพียงเพราะผู้บริหารไม่กล้าที่จะสู้กับผู้ออกกฎของแคลิฟอร์เนีย”

ฟอร์ด ได้แถลงชี้แจงว่า บริษัทมีเป้าหมายในการปกป้องสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการคงราคารถยนต์ให้อยู่ที่ระดับที่ผู้บริโภคสามารถซื้อได้ (affordability)

“ข้อตกลงที่เราทำร่วมกับรัฐแคลิฟอร์เนียจะช่วยคงเสถียรภาพของกฎเกณฑ์ไว้ ขณะเดียวกันก็ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าการยอมปฏิบัติตามมาตรฐาน 2 อย่างที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง”

จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ข้อบังคับด้านการประหยัดน้ำมันมีส่วนลดทอนสมรรถนะ (performance) ของรถยนต์จริงหรือไม่ นอกจากนี้ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมและอีกหลายรัฐในอเมริกาก็ยังออกมาตั้งคำถามกับข้ออ้างของ ทรัมป์ ที่ว่า กฎเกณฑ์ใหม่ที่รัฐบาลเสนอจะทำให้ราคายานพาหนะถูกลง แต่มีความปลอดภัยสูงขึ้น

เซเวียร์ เบเซอร์รา อัยการสูงสุดรัฐแคลิฟอร์เนีย ออกมาตอบโต้เสียงวิจารณ์ของทรัมป์ โดยระบุว่า ข้อเสนอของรัฐบาลจะทำให้มีก๊าซเรือนกระจกและสารอันตรายอื่นๆ ถูกปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นอีก 540 ล้านเมตริกตัน “และนั่นดูเหมือนจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับเรา”

ทำเนียบขาวเรียกร้องให้ผู้ผลิตยานยนต์ปฏิเสธข้อตกลงของรัฐแคลิฟอร์เนีย ขณะที่สมาชิกพรรคเดโมแครตสนับสนุนให้ค่ายรถร่วมมือกับทางการแคลิฟอร์เนียอย่างเต็มที่

ด้านสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) ได้ออกมาเย้ยหยันกรอบข้อตกลงดังกล่าว โดยระบุว่า “ไม่มีอะไรมากไปกว่าข่าวประชาสัมพันธ์”

ก่อนหน้านั้น ผู้นำสหรัฐฯ ได้ทวีตด่าทอผู้บริหารค่ายรถต่างๆ ด้วยถ้อยคำเผ็ดร้อน

“ข้อเสนอที่ผมยื่นต่อบริษัทยานยนต์จะช่วยให้ผู้บริโภคซื้อรถได้ในราคาที่ถูกลงมากกว่า 3,000 ดอลลาร์โดยเฉลี่ย ขณะเดียวกันก็ทำให้รถยนต์มีความปลอดภัยสูงขึ้น เครื่องยนต์เดินได้นิ่มขึ้น และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมากๆ! พวกผู้บริหารโง่เง่าทั้งหลาย!” ทรัมป์ ระบุ

เจเนอรัล มอเตอร์ส ยังปฏิเสธที่จะสนับสนุนข้อตกลงโดยสมัครใจของรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยให้เหตุผลว่าไม่มีการให้เครดิตอย่างเหมาะสมกับรถยนต์ไฟฟ้าที่บริษัทพัฒนาขึ้น

อย่างไรก็ตาม ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ทุกรายระบุเป็นเสียงเดียวว่าไม่เห็นด้วยกับ “ทางเลือก” ที่รัฐบาลทรัมป์ประกาศเมื่อเดือน ส.ค. ปี 2018 ซึ่งจะทำให้มาตรฐานการประหยัดน้ำมันของรถถูกแช่แข็งเอาไว้ในระดับปี 2020 เรื่อยไปจนถึงปี 2026

แผนทางเลือกของ ทรัมป์ ยังจะทำให้อัตราการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นราว 500,000 บาร์เรลต่อวันภายในทศวรรษ 2030 และลดต้นทุนที่ผู้ผลิตรถยนต์จะต้องจ่ายเพื่อทำตามข้อบังคับต่างๆ ได้มากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังห้ามมิให้รัฐแคลิฟอร์เนียออกกฎควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือบังคับให้ค่ายรถต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้น

รัฐบาลทรัมป์ยังอ้างว่า การใช้น้ำมันที่มากขึ้นจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นเพียง ‘3 ใน 1000 ส่วน’ ของ 1 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 ทว่าจะช่วยปกป้องชีวิตมนุษย์ได้เป็นพันๆ คนในอีก 30 ปีข้างหน้า เนื่องจากผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อรถยนต์ที่มีราคาถูกและปลอดภัยมากขึ้น ทว่านักสิ่งแวดล้อมและฝ่ายบริหารของรัฐต่างๆ ไม่เชื่อถือในบทวิเคราะห์นี้

ข้อบังคับที่รัฐบาล โอบามา ประกาศใช้เมื่อปี 2012 เรียกร้องให้มีการเพิ่มค่าความประหยัดน้ำมันให้ขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 46.7 ไมล์ต่อ 1 แกลลอนภายในปี 2025 และเพิ่มขึ้น 5% ในทุกๆ ปี ในขณะที่รัฐบาล ทรัมป์ เสนอให้ลดมาตรฐานลงเหลือเพียง 37 ไมล์ต่อ 1 แกลลอนภายในปี 2026
กำลังโหลดความคิดเห็น