xs
xsm
sm
md
lg

ปักกิ่งเตือนอย่าขวาง'หัวเว่ย'ร่วมประมูล5G ขู่เล่นงานกลับเหล่าบริษัทอินเดียในจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รอยเตอร์ - จีนแจ้งอินเดียว่าอย่าได้ขัดขวาง หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ จากการทำธุรกิจในประเทศ พร้อมเตือนอาจเจอผลสนองกลับไปยังบริษัทต่างๆของอินเดิยที่มีกิจการในแดนมังกร รอยเตอร์รายงานในวันพธ(7ส.ค.)โดยอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดในประเด็นนี้

อินเดียมีกำหนดดำเนินการทดสอบติดตั้งเครือข่ายเซลลูล่า 5G ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ยังไม่ยืนยันว่าจะเชิญบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนเข้าร่วมด้วยหรือไม่ จากการเปิดเผยของ ราวี ชานการ์ ปราสาด รัฐมนตรีคมนาคม

หัวเว่ย ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในโลก ตกอยู่ในแก่นกลางของสงครามชักเย่อทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ด้วยรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นบัญชีดำบริษัทแห่งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม โดยอ้างความกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมกับร้องขอพันธมิตรทั้งหลายอย่าได้ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย ที่พวกเขากล่าวหาว่าจีนอาจใช้ประโยชน์เพื่อการสอดแนม

แหล่งข่าวลับเฉพาะ 2 คที่ใกล้ชิดกับการสนทนาภายในรัฐบาลนิวเดลี บอกว่า วิคราม มิศรี เอกอัครราชทูตอินเดียประจำกรุงปักกิ่ง ถูกเรียกไปยังกระทรวงการต่างประเทศจีนเมื่อวันที่ 10 กรกฏาคม เพื่อรับฟังความกังวลของจีนเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯที่ยังเดินหน้ารณรงค์กีดกันหัวเว่ยออกจากโครงสร้างพื้นฐานมือถือ 5G ทั่วโลก

ระหว่างการพูดคุยในครั้งนั้น ทางเจ้าหน้าที่จีนขอสวนสิทธิ์สำหรับกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานบริษัทต่างๆของอินเดียที่ดำเนินธุรกิจในจีน หากว่าอินเดียขัดขวางหัวเว่ยเพียงเพราะถูกกดดันจากวอชิงตัน แหล่งข่าวรายหนึ่งระบุ

ทางกระทรวงการต่างประเทศของจีนตอบคำถามของรอยเตอร์ ระบุว่าปักกิ่งหวังว่าอินเดียจะทำการตัดสินใจด้วยความเป็นอิสระเกี่ยวกับผู้ประมูล 5G

หัว ชุนหยิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุว่า "หัวเว่ยดำเนินกิจการในอินเดียมาอย่างยาวนาน และได้ให้การสนับสนุนต่างๆนานาสำหรับพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของอินเดีย ซึ่งเห็นได้ชัดกันไปหมดแล้ว"

"ในประเด็นบริษัทต่างๆของจีนที่กำลังเข้าร่วมวางโครงข่าย 5G ในอินเดีย เราหวังว่าอินเดียจะตัดสินใจอย่างเป็นอิสระและยุติธรรม และมีสิ่งแวดล้อมทางพาณิชย์ที่ไม่เลือกปฏิบัติกับเหล่าบริษัทจีนทั้งด้านการลงทุนและปฏิบัติการต่างๆ เพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายอย่างแท้จริง" โฆษกระบุ

ณ ปัจจุบันมีบริษัทอินเดียอยู่ไม่กี่แห่งที่ประกอบกิจการในอินเดีย ซึ่งถือกว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อื่นๆ แต่บริษัทเหล่านั้นรวมถึงยักษ์ใหญ่อย่าง อินโฟซิส, ทีซีเอส, .ด็อกเตอร์ เรดดี้ส์ แลบบอราทอรี่ส์ และมหินทราแอนด์มหินทรา ซึ่งปักหลักอย่างมั่นคงในภาคการผลิต, ประกันสุขภาพ, บริการทางหารเงินและธุรกิจ outsourcing

ความเป็นไปได้ที่จะเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับหัวเว่ย อาจฟื้นความตึงเครียดในด้านความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและจีน ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายเพิ่งดำเนินความพยายามทางการทูตในระดับสูงเพื่อรับประกันว่าประเด็นพิพาทด้านดินแดนที่ยืดเยื้อมานานระหว่างสองชาติจะไม่ลุกลามบานปลาย

เดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียจะเป็นเจ้าภาพต้อนรับการมาเยือนของ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในเมืองวาราณสี ทางภาคเหนือของประเทศ ท่ามกลางความคาดหมายว่าผู้นำทั้งสองจะหารือจัดการประเด็นการค้าต่างๆ ในนั้นรวมถึงตัวเลขขาดดุลการค้า 53,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2018/19 ที่ทางอินเดียมีความกังวลอยู่ในตอนนี้

ในหนังสือที่ส่งถึงโมดี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อัสวานี มหาจาน หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของกลุ่มชาตินิยมฮินดูราษฏรียสวยัมเสวกสังฆ์ (Rashtriya Swayamsevak Sangh) พันธมิตรในรัฐบาลโมดี แสดงความกังวลเกี่ยวกับปฏิบัติการต่างๆของหัวเว่ยในอินเดีย

รัฐมนตรีปราสาด เปิดเผยกับรัฐสภาว่าได้รับข้อเสนอสำหรับการทดสอบเทคโนโลยี 5G มาจาก 6 บริษัท ในนั้นรวมถึงหัวเว่ย ทั้งนี้แม้เขาไม่ได้เปิดเผยชื่อบริษัทอื่นๆ แต่บริษัทต่างๆอย่างเช่น อีริคสันของสวีเดน, โนเกียของฟินแลนด์และซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ ถูกคาดหมายว่าจะเข้าร่วมด้วย

กลุ่มเจ้าหน้าที่ระดับสูง ที่นำโดย เค วิเจย์ รากาวาน ประธานที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของรัฐบาล ในนั้นรวมถึงคณะตัวแทนจากกระทรวงโทรคมนาคม, กระทรวงเทคโนโลยีข่าวสารและหน่วยข่าวกรองต่างๆ กำลังตรวจสอบความเป็นไปได้ว่าจะเปิดให้ทางหัวเว่ยเข้าร่วมในการทดสอบ 5G หรือไม่

ทั้งนี้แหล่งข่าวเปิดเผยว่าทางคณะกรรมการไม่พบหลักฐานบ่งชี้ว่าหัวเว่ยใช้โปรแกรมรูรั่วของซอฟแวร์(Backdoor) หรือมัลแวร์ใดๆ ในการเก็บข้อมูลระหว่างที่พวกเขาประกอบกิจการในอินเดียในปัจจุบัน ขณะที่ทางกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรับผิดชอบด้านความปลอดภัยในโครงสร้างพื้นฐานก็ไม่ได้ออกคำสั่งจำกัดการเข้ามาของหัวเว่ยแต่อย่างใด "เราไม่อาจปฏิเสธพวกเขาได้ เพียงเพราะพวกเขาเป็นบริษัทจีน" เจ้าหน้าที่โทรคมนาคมระบุ

ผู้เชี่่ยวชาญทางเทคโนโลยีรายหนึ่งในคณะกรรการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาล (NSAB) แนะนำว่าหนึ่งในทางเลือกก็คือหาทางรับประกันว่าฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่เสนอวางโครงข่าย 5G ของประเทศ จะต้องไม่มาจากหัวเว่ยเพียงแห่งเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น