xs
xsm
sm
md
lg

อีโบลาคืนชีพ! คร่าแล้ว 1,600 ศพในคองโก WHO ผวาประกาศภาวะฉุกเฉินโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี/MGR Online - องค์การอนามัยโลกในวันพุธ (17 ก.ค.) ประกาศให้อีโบลาที่กำลังแพร่ระบาดในสาธารณรัฐคองโก เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern) คำนิยามที่ใช้ไม่บ่อยครั้งนักและมักใช้เฉพาะกับโรคระบาดร้ายแรง

“นี่คือเวลาที่ต้องแจ้งให้โลกทราบล่วงหน้า” ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกระบุในถ้อยแถลง หลังขานรับคำแนะนำจากคณะที่ปรึกษาของเขาให้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) ซึ่งก่อนหน้านี้ทางหน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหประชาชาติเคยใช้เพียง 4 ครั้ง

ในนั้นรวมถึงเมื่อครั้งที่ไวรัส H1N1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ระบาด, การแพร่ระบาดของโรคโปลิโอในปี 2014, การแพร่ระบาดของอีโบลาในหลายพื้นที่ของแอฟริกาตะวันตกตั้งแต่ปี 2014 ถึง 2016 และการระบาดของไวรัสซิกาในปี 2016

สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ แสดงความยินดีต่อการตัดสินใจขององค์การอนามัยโลก “แม้มันไม่เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ความเป็นจริงในพื้นที่สำหรับเหยื่อ หรือการประสานงานตอบสนองต่อสถานการณ์ร่วมกับพันธมิตร แต่เราหวังว่ามันจะช่วยดึงดูดความสนใจของนานาชาติมาสู่วิกฤตนี้” สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศระบุในถ้อยแถลง

คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก ระบุเมื่อปี 2015 ว่าการกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างประเทศควรใช้กับสถานการณ์ที่ “ร้ายแรง, ไม่ปกติหรือไม่อาจคาดหมายได้ มีความเกี่ยวพันด้านสาธารณสุขเลยพรมแดนของประเทศที่ได้รับผลกระทบ และอาจจำเป็นต้องดำเนินการในระดับนานาชาติในทันที”

จนถึงตอนนี้พบผู้เสียชีวิตจากอีโบลาแล้วมากกว่า 1,600 คน นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นมา หรือเมื่อครั้งที่ไวรัสอีโบลาเริ่มแพร่ระบาดในจังหวัดนอร์ทคิวู ของสาธารณรัฐคองโก ก่อนแผ่ลามไปยังจังหวัดอิตูรีที่อยู่ติดกัน

อีโบลา เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งในกลุ่มโรคไข้เลือดออก เชื่อกันว่าแพร่ระบาดจากสัตว์ โดยเฉพาะค้างคาวและลิง ทั้งนี้อีโบล่าแพร่จากคนสู่คนโดยการสัมผัสกับเลือด น้ำลาย น้ำมูก เหงื่อ อสุจิ และสารคัดหลั่งอื่นๆ จากร่างกายของผู้ติดเชื้อ

การฟักตัวของเชื้อใช้วลา 2 วัน ถึง 3 สัปดาห์ ผู้ติดเชื้อจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั้งตัว เจ็บคอ ตามมาด้วยอาการท้องเสีย อาเจียน มีผื่นนูน มีเลือดออกตามเยื่อบุของร่างกาย เช่น เยื่อบุตา ช่องปาก และอวัยวะภายใน มีอาการผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง การทำงานของตับและไตล้มเหลว ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูงมากกว่า 50% เพราะอาการในระยะเริ่มต้นเหมือนโรคอื่นๆ ทั่วไป เช่น มาเลเรีย ไข้เลือดออกจากไวรัสชนิดอื่น ไข้หวัด ท้องร่วง กว่าจะรู้ชัดว่าติดเชื้ออีโบลาก็สายเกินไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น