xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำอิหร่านลั่นพร้อมเจรจาวันนี้ หากสหรัฐฯ ยกเลิกคว่ำบาตร-หวนกลับสู่ข้อตกลงนุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี แห่งอิหร่านระบุวานนี้ (14 ก.ค.) ว่าพร้อมที่จะเปิดเจรจากับสหรัฐฯ ทันที ขอเพียงวอชิงตันยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร และยอมหวนกลับสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 หลังจากที่ได้ถอนตัวออกไปเมื่อปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ก็ออกมาเสนอพูดคุยกับเตหะรานเรื่องนิวเคลียร์และประเด็นด้านความมั่นคงอื่นๆ อย่างครอบคลุม แต่รัฐบาลอิหร่านตั้งเงื่อนไขว่าจะยอมเจรจาด้วยก็ต่อเมื่อสามารถส่งออกน้ำมันได้เทียบเท่ากับช่วงก่อนที่สหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อเดือน พ.ค. ปี 2018

“เราเชื่อมั่นในการเจรจามาโดยตลอด หากพวกเขายกเลิกคว่ำบาตร ยุติมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจ และหวนกลับสู่ข้อตกลง เราก็พร้อมที่จะเปิดเจรจากับอเมริกาวันนี้ ขณะนี้ และที่ไหนก็ได้” รูฮานี แถลงผ่านสื่อโทรทัศน์เมื่อวันอาทิตย์ (14)

ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับวอชิงตันโพสต์ว่า คำพูดของ รูฮานี นั้น “ไม่ต่างจากสิ่งที่อิหร่านเคยเสนอต่ออดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี”

“แน่นอนว่าประธานาธิบดี ทรัมป์ จะเป็นผู้ตัดสินใจ แต่นี่คือเส้นทางที่รัฐบาลชุดก่อนเคยก้าวเดินมาแล้ว และได้นำไปสู่ (ข้อตกลงนิวเคลียร์) ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงประธานาธิบดี ทรัมป์ และตัวผมเองมองว่าเป็นหายนะ” 

การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านลุกลามบานปลายขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่คำสั่งโจมตีทางอากาศเมื่อเดือน มิ.ย. เพื่อแก้แค้นที่เตหะรานยิงสอยโดรนอเมริกันร่วงใกล้ช่องแคบฮอร์มุซ ก่อนที่ ทรัมป์ จะยกเลิกคำสั่งในนาทีสุดท้าย

ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนีซึ่งร่วมเป็นภาคีในข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 เรียกร้องวานนี้ (14) ให้ทุกฝ่ายหันหน้าพูดคุยกันเพื่อบรรเทาความตึงเครียดในอ่าวเปอร์เซีย

“เราเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องแสดงออกอย่างรับผิดชอบ เพื่อยุติการโหมกระพือความตึงเครียด และรื้อฟื้นการเจรจา” คำแถลงร่วมจาก 3 ชาติซึ่งออกโดยทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส ระบุ

แม้จะเรียกร้องให้ผู้นำอิหร่านยอมเจรจา แต่ ทรัมป์ ก็ไม่วายขู่สำทับเมื่อวันพุธที่แล้ว (10) ว่าสหรัฐฯ เตรียมจะคว่ำบาตรอิหร่านให้หนักหน่วงขึ้นในเร็วๆ นี้

รัฐบาลทรัมป์เริ่มใช้มาตรการคว่ำบาตรขั้นรุนแรงกับอิหร่านเมื่อเดือน พ.ค. โดยมุ่งปิดกั้นการส่งออกน้ำมันให้เหลือศูนย์ ขณะที่อิหร่านตอบโต้ด้วยการฝ่าฝืนเกณฑ์ควบคุมในข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 เช่น สะสมยูเรเนียมความเข้มข้นต่ำเกินกว่า 300 กิโลกรัม และเริ่มเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเกินกว่า 3.67%

สาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ขู่จะละทิ้งเงื่อนไขในข้อตกลงให้มากขึ้นไปอีกทุกๆ 60 วัน เว้นเสียแต่ชาติภาคียุโรปจะช่วยปกป้องอิหร่านจากมาตรการคว่ำบาตรของทรัมป์

แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (JCPOA) หรือข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 นั้นเป็นความริเริ่มของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา โดยมุ่งขยายเวลาที่อิหร่านจะผลิตวัสดุฟิสไซล์ได้มากพอต่อการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ 1 ลูก หรือที่เรียกว่า ‘เบรกเอาท์ ไทม์’ จากไม่กี่เดือนเป็นอย่างน้อย 1 ปี จนกว่าจะถึงปี 2025

รัฐบาลอิหร่านยืนยันเสียงแข็งว่าไม่เคยมีความคิดที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มปรากฏสัญญาณอย่างน้อย 2 อย่างว่าสหรัฐฯ อาจหันมาใช้วิธีทางการทูตกับอิหร่านมากขึ้น

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยกับรอยเตอร์เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (11) ว่า วอชิงตันจะยังไม่คว่ำบาตร โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านในขณะนี้ ซึ่งผิดจากคำยืนยันของรัฐมนตรีคลัง สตีเวน มนูชิน ที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ว่า ซารีฟ กำลังจะถูกขึ้นบัญชีดำ

ต่อมาในวันอาทิตย์ (14) เจ้าหน้าที่อเมริกันระบุว่า สหรัฐฯ ได้ออกวีซ่าให้ ซารีฟ เดินทางมาร่วมประชุมยูเอ็นในสัปดาห์นี้ ซึ่งคณะผู้แทนอิหร่านประจำยูเอ็นก็ยืนยันว่า ซารีฟ เดินทางถึงนครนิวยอร์กเรียบร้อยแล้ว

พอมเพโอ ชี้แจงผ่านวอชิงตันโพสต์ว่า ตนอนุมัติวีซ่าให้ ซารีฟ ก็จริง แต่รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านจะไม่สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี โดยถูกจำกัดการเดินทางระหว่างสำนักงานใหญ่ยูเอ็นกับสำนักงานคณะผู้แทนถาวรอิหร่านซึ่งอยู่ห่างออกไป 6 ช่วงตึก และสถานเอกอัครราชทูตเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น