xs
xsm
sm
md
lg

US-จีนเริ่มถกรอบใหม่'จุดยืน'คงเดิม กูรูชี้สำเร็จหรือไม่ต้องถามใจ'สี-ทรัมป์'

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 24 มิ.ย. 2019 แสดงให้เห็น ตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้า ในส่วนคอนเทนเนอร์ต่างประเทศของท่าเรือซิงเต่า มณฑลซานตง ทางภาคตะวันออกของจีน  ทั้งนี้หากจีน-สหรัฐฯเจรจาทำข้อตกลงคลี่คลายสงครามการค้าได้สำเร็จ  การส่งออก-นำเข้าของสองประเทศก็จะกลับคึกคักขึ้นอีก
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - แม้ประกาศสงบศึกและนัดหมายฟื้นการเจรจาทำข้อตกลงการค้ากันใหม่ในสัปดาห์นี้ แต่แทบไม่มีสัญญาณว่า จีนและอเมริกาจะยอมแก้ไขจุดยืนที่แตกต่าง กระนั้นผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่าดูเหมือนทั้งสองฝ่ายพอใจแล้วที่อุณหภูมิความขัดแย้งผ่อนคลายลง ส่วนความเป็นไปได้ในการบรรลุข้อตกลงก็พอมี แม้ยังหลายประเด็นที่เห็นต่าง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเจตจำนงทางการเมืองและความมุ่งมั่นของ “สี” และ “ทรัมป์”

หลังพบหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ข้างเคียงซัมมิตกลุ่ม จี20 ที่โอซากา ประเทศญี่ปุ่น ปลายเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ตกลงระงับการขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าจีนรอบใหม่มูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ และทั้งสองฝ่ายตกลงฟื้นการเจรจาที่ชะงักงัน

ประมุขทำเนียบขาวยังบอกว่า ปักกิ่งจะเริ่มสั่งซื้อสินค้าเกษตรล็อตใหญ่อีกครั้ง และวอชิงตันจะผ่อนคลายข้อจำกัดการส่งออกบางอย่างต่อบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์

ทว่า แหล่งข่าวที่รับรู้ความเป็นไปในการเจรจาและผู้สังเกตการณ์การค้าจีนในวอชิงตันกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ซัมมิตสี-ทรัมป์ให้ความชัดเจนน้อยมาก ว่าคณะผู้แทนการเจรจาระดับสูงซึ่งจะเป็นผู้สานต่อ ควรทำอย่างไรเพื่อผ่าทางตันที่ทำให้การเจรจาสะดุดลงตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม

สัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คาดว่า การเจรจาจะเริ่มต้นอีกครั้งในสัปดาห์นี้ด้วยการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างผู้แทนการค้าสหรัฐฯ โรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์ และรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สตีเวน มนูชิน กับรองนายกรัฐมนตรีจีน หลิว เหอ

เท่าที่ผ่านมา ฝ่ายอเมริกาเรียกร้องให้จีนเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทอเมริกัน ยุติการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยีและการโจรกรรมความลับทางการค้า รวมทั้งระงับการให้การอุดหนุนขนาดใหญ่แก่อุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่อเมริกันผู้หนึ่งระบุว่า เดิมพันเรื่องนี้คือการป้องกันไม่ให้จีนเข้าครอบงำอุตสาหกรรมไฮเทคตั้งแต่ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) จนถึงอุตสาหกรรมอวกาศ

ทว่า ดีเร็ค ซิสเซอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนของอเมริกัน เอนเตอร์ไพรส์ อินสติติวท์ ซึ่งเป็นกลุ่มคลังความคิดด้านธุรกิจแนวทางอนุรักษนิยมในวอชิงตัน และเคยให้คำปรึกษาเจ้าหน้าที่ในคณะบริหารของทรัมป์ ตั้งข้อสังเกตว่า คณะบริหารไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับสิ่งที่คิดว่า เป็นปัญหา และดูเหมือนทั้งสองฝ่ายได้ในสิ่งที่ต้องการจากซัมมิตแล้วคือ ลดอุณหภูมิความขัดแย้งและหลีกเลี่ยงการขึ้นภาษีรอบใหม่ที่จะส่งผลร้ายต่อทั้งคู่

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนวอชิงตันและปักกิ่งมองต่างมุมเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้นำสองประเทศตกลงกันที่โอซากา

แหล่งข่าวสามคนที่คุ้นเคยกับสถานการณ์เจรจาบอกว่า จีนไม่ได้ให้คำมั่นจริงจังว่า จะซื้อสินค้าเกษตรอเมริกันทันที โดยหนึ่งในสามเล่าว่า ทรัมป์พูดเรื่องนี้สองครั้ง แต่สีตกลงแค่ว่า จะรับไปพิจารณาในบริบทของข้อตกลงสุดท้ายที่ครอบคลุมมากขึ้น
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ(ซ้าย) กับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน(ขวา)
สัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่จีนและสื่อรัฐจีนต่างย้ำว่า ข้อตกลงใดๆ ซึ่งรวมถึงการซื้อสินค้าเกษตร จะขึ้นอยู่กับการยกเลิกมาตรการภาษีของอเมริกา

แหล่งข่าวคนหนึ่งระบุว่า จีนแสดงออกชัดเจนว่า ไม่เคยสัญญาใดๆ และไม่มีเหตุผลที่จะคิดได้ว่า จีนจะยอมอ่อนข้อในประเด็นสำคัญที่ถือเป็นไม้ตายสำคัญของตนในการเจรจาโดยไม่ได้สิ่งใดตอบแทนกลับมา

เช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่ในคณะบริหารของทรัมป์ก็ลดระดับคำสัญญาเกี่ยวกับหัวเว่ย โดยปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของทำเนียบขาว บอกว่า จะอนุญาตให้หัวเว่ยซื้อเซมิคอนดักเตอร์ของอเมริกาที่มีเทคโนโลยีไม่ซับซ้อนเท่านั้น

สำนักข่าวรอยเตอร์ยังรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายการควบคุมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังคงได้รับคำชี้แจงให้ปฏิบัติต่อหัวเว่ยในฐานะบริษัทที่ยังถูกขึ้นบัญชีดำเหมือนเดิมในการพิจารณาคำขออนุญาตของบริษัทอเมริกันเพื่อขายผลิตภัณฑ์และบริการให้ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีนแห่งนี้

ทางด้านเจ้าหน้าที่จีนระบุว่า อเมริกายอมผ่อนผันเรื่องหัวเว่ยมากกว่าข้อเรียกร้องในการยกเลิกมาตรการภาษีศุลกากรที่บังคับใช้อยู่ ดังนั้น โฟกัสในการเจรจาที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงจะเป็นเรื่องมาตรการภาษี

ขณะแหล่งข่าวคนที่สองบอกว่า เรื่องที่อเมริกาขึ้นภาษีศุลกากรที่เก็บจากสินค้าจีนไปแล้วเป็นมูลค่ารวม 250,000 ล้านดอลลาร์ และการที่จีนก็ขึ้นภาษีสินค้าอเมริกันเป็นมูลค่า 160,000 ล้านดอลลาร์ ลงท้ายก็อาจกลายเป็น “ความเป็นปกติอย่างใหม่”

เจ้าหน้าที่จีนผู้หนึ่งที่คุ้นเคยกับสถานการณ์ระบุว่า การเจรจาการค้าจะเริ่มต้นอีกครั้งอย่างรวดเร็วมาก แต่ข้อเรียกร้องสำคัญที่สุดของทั้งสองฝ่ายยังคงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน บรรยากาศการเจรจาจะตึงเครียดอย่างมาก และมีความท้าทายในการบรรลุข้อตกลงในประเด็นที่ยากที่สุด

เจ้าหน้าที่อีกคนเผยว่า ปักกิ่งยังกังวลเรื่องที่ทีมเจรจาของอเมริกามีเจ้าหน้าที่สายเหยี่ยวปะปนอยู่หลายคน เช่น นาวาร์โร

นักการทูตเอเชียซึ่งประจำอยู่ในปักกิ่งคนหนึ่งชี้ว่า ผู้นำจีนจะถูกกดดันไม่ให้ยอมจำนนอเมริกา รวมถึงต้องทำให้ได้ผลลัพธ์ที่เท่าเทียมและสมดุล ไม่ใช่ถูกสร้างภาพว่า เป็นชัยชนะของอเมริกาฝ่ายเดียว

ทั้งนี้ ไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่า ทั้งสองประเทศจะฟื้นการเจรจาภายใต้เนื้อหาเดิมที่ตกลงกันได้แล้วเป็นส่วนใหญ่ก่อนที่ปักกิ่งจะกลับลำเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมในส่วนเงื่อนไขที่ให้จีนต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อส่งเสริมการปฏิรูป โดยที่ปักกิ่งย้ำเรื่อยมาว่านี่จะเป็นการละเมิดอธิปไตยของชาติ

การสะสางข้อแตกต่างนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการเจรจา แต่นอกจากนั้นยังมีอีกหลายๆ เรื่องซึ่งสองฝ่ายมีจุดยืนที่แตกต่างกัน ซึ่งรวมถึงโครงสร้างกลไกการบังคับใช้เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามข้อตกลง

กระนั้น แคลร์ รีด อดีตผู้เจรจาการค้ากับจีนของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และปัจจุบันเป็นทนายความด้านการค้าในวอชิงตัน เชื่อว่า ยังพอมีโอกาสที่จีนและอเมริกาจะบรรลุข้อตกลงโดยขึ้นอยู่กับเจตจำนงทางการเมืองและความมุ่งมั่นของสีและทรัมป์ และวิธีหนึ่งที่จะทำให้จีนหลีกเลี่ยงการถูกมองว่า ยอมอ่อนข้อให้อเมริกาคือ ดำเนินการทางกฎหมายบางอย่างเกี่ยวกับประเด็นสำคัญก่อนที่จะทำข้อตกลง ซึ่งจะทำให้จีนอวดได้ว่า สมัครใจทำตามเงื่อนไขของตัวเอง ไม่ได้ถูกบังคับ
กำลังโหลดความคิดเห็น