xs
xsm
sm
md
lg

In Clips :หัวเว่ยประกาศพร้อมลงนามข้อตกลง "ไม่มีประตูหลัง" กับรัฐบาลอินเดีย สยบความกลัวถูกสอดแนม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเจนซีส์ - บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน "หัวเว่ย" ประกาศเมื่อวานนี้(25 มิ.ย) พร้อมที่จะลงนามข้อตกลง "ไม่มีประตูหลัง" (no-back-door) กับรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี พร้อมทั้งประกาศให้ขู่แข่ง โนเกีย และ อีริคสัน จากยุโรป ร่วมลงนามข้อตกลงที่คล้ายกันนี้

อิโคโนมิกไทม์ส สื่อธุรกิจอินเดีย รายงานเมื่อวานนี้(25 มิ.ย)ว่า เจย์ เฉิน (Jay Chen) ประธานบริหารบริษัทหัวเว่ยประจำอินเดียได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อธุรกิจว่า

"ผมต้องการเสนอต่อภาคอุตสาหกรรมว่า ไม่ว่าคุณจะมาจากประเทศใด ขอให้มาร่วมลงนามข้อตกลงไม่มีประตูหลัง พร้อมกับลูกค้าของเราและรัฐบาลอินเดีย เพื่อให้พันธสัญญา ความเชื่อมั่นและความมั่นใจ เราขอเรียกร้องให้ผู้ค้ารายอื่นและบริษัทผู้ผลิต(OEM)ร่วมลงนามในข้อตกลงเหล่านี้"

พร้อมกันนี้เขายังกล่าวต่อว่า "ผมพร้อมที่จะลงนามข้อตกลงในวันนี้"

ทั้งนี้ในเดือนที่ผ่านมา ประธานหัวเว่ย เหลียง ฮัว( Liang Hua) ได้ออกมาประกาศว่า ทางบริษัทต้องการที่จะลงนามข้อตกลง "ห้ามสอดแนม" กับรัฐบาลต่างๆเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการไม่มีประตหลังและห้ามสอดแนม เกิดขึ้นหลังจากที่หัวเว่ยถูกสหรัฐฯกล่าวหาว่า ช่วยเหลือทางการจีนทำการสอดแนามความลับชาติอื่น

ในการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารหัวเว่ย เจย์ เฉิน ชี้ว่า ในอนาคตทางบริษัทต้องการที่จะเก็บข้อมูลลูกค้าชาวอินเดียภายในประเทศ

"เราให้ข้อผูกพันนี้ที่เราจะเริ่มต้่นเก็บข้อมูลทุกอย่างในพื้นที่ที่อินเดียอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีเซิร์ฟเวอร์บางส่วนถูกเก็บไว้ที่สิงคโปร์ และมีบางส่วนอยู่ในอินเดีย ทางเราจะนำเซิร์ฟเวอร์มาไว้ที่อินเดียถึงแม้ว่าจะไม่ถูกร้องขอ"

การออกมาให้สัมภาษณ์ของเฉินเกิดขึ้นก่อนการมาเยือนอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ

อิโคโนมิกไทม์สชี้ว่า อินเดียยังคงต้องทำการตัดสินใจว่า จะอนุญาตให้หัวเว่ยเข้าร่วมในการพัฒนาระบบเครือข่าย 5G หรือไม่ โดยรัฐมนตรีโทรคมนาคมอินเดียคนใหม่ ราวี ชานการ์ ปราสาด (Ravi Shankar Prasad) แสดงความเห็นว่า รัฐบาลนิวเดลีจะทำการพิจารณาว่าสมควรหรือไม่ที่จะอนุญาตให้บริษัทโทรคมนาคมจีนเข้าร่วมระบบเครือข่าย 5G ของอินเดีย โดยชี้ไปถึงปัญหาด้านความมั่นคง

แต่อย่างไรก็ตามผู้บริหารระดับสูงของหัวเว่ยประจำอินเดียกล่าวว่า "นี่ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับรัฐบาลอินเดียในการตัดสินใจและทำให้ชัดเจน...ซึ่งทางอินเดียสมควรใช้แนวทางเปิดแบบรวมหมู่เพื่อบรรลุเป้าทางด้านรายได้(ในการเพิ่มเป็น 2 เท่าไปที่ 350 พันล้านดอลลาร์ - 400 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 สำหรับภาคอุตสาหกรรม ICT(เทคโนโลยีสื่อสารและข้อมูล) ซึ่งนั่นสมควรเป็นสนามสำหรับการลงเล่น"

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ภายใต้กฎหมายจีน หัวเว่ยมีหน้าที่ต้องส่งมอบข้อมูลของลูกค้าให้กับทางรัฐบาลปักกิ่งหากถูกร้องขอ แต่เฉินกล่าวว่า บริษัทหัวเว่ยผ่านการทดสอบเข้มงวดเป็นอย่างมากจากทั่วโลก และไม่มีการร้องเรียนถึงการถูกสอดแนมในอดีต

"ทางเราหวังว่ารัฐบาลอินเดียจะสามารถเลือกในแง่บวก และเพิ่มการลงทุนจากกลุ่มนักลงทุนสำคัญที่มาจากจีน มีภาคอุตสหกรรมข้ามแพลตฟอร์มและบริษัท ICT ต่างรอที่จะเข้ามาลงทุนในจีน" เฉินชี้ และกล่าวเตือนว่า หากมีการผลักหัวเว่ยให้ออกจากสนามผู้เล่นของระบบเครือข่าย 5G อินเดีย จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและผลร้ายจะตกมาอยู่ที่ผู้บริโภคในท้ายที่สุด

สื่อธุรกิจอินเดียว่า หัวเว่ยมีคู่แข่งในการพัฒนาระบบเครือข่าย 5G จากยุโรปได้แก่ บริษัทโนเกีย และบริษัทอีริคสัน ซึ่งทางผู้บริหารหัวเว่ยในอินเดียยืนยันว่า บริษัทของเขาล้ำหน้าเหนือคู่แข่งด้านการพัฒนาระบบเครือข่าย 5G ราว 12 -18 เดือนเป็นอย่างน้อย

และเมื่อเฉินถูกถามถึงแผน B ในกรณีที่หัวเว่ยถูกรัฐบาลอินเดียประกาศแบน เขาตอบกลับมาว่า ไม่มีแผนที่ว่านี้ในมือเป็นเพราะเขาเชื่อมั่นว่า การตอบสนองจากรัฐบาลอินเดียจะออกมาในแง่บวก พร้อมกับเสริมว่า ทางหัวเว่ยมีแผนการลงทุนหลายล้านดอลลาร์ในภาคอุตสาหกรรมท้องถิ่นอินเดีย การพัฒนาระบบ 5G รวมไปถึงการให้มีใช้เฉพาะสำหรับอินเดีย และให้การอบรมทักษะในมหาวิทยาลัย ที่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทางบริษัทได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลอินเดียแล้วเท่านั้น






กำลังโหลดความคิดเห็น