xs
xsm
sm
md
lg

สื่อจีนงัดวลีอมตะ'อย่าหาว่าไม่เตือน' กร้าวพร้อมใช้แรร์เอิร์ธตอบโต้อเมริกา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ไปตรวจเยี่ยมฐานทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธของประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลเจียงซี เมื่อวันที่20 พ.ค. ที่ผ่านมา (ภาพจากสำนักข่าวซินหวา) </i>
เอเจนซีส์ – สื่อจีนกร้าว ปักกิ่งพร้อมใช้ “แร่แรร์เอิร์ธ”ตอบโต้อเมริกาในสงครามการค้า พร้อมทิ้งท้ายด้วยวลีเด็ด “อย่าหาว่าไม่เตือน” ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ปักกิ่งอาจอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงแบบเดียวกับที่วอชิงตันใช้ในการแบนหัวเว่ย

รายงานข่าวของสื่อจีนเกี่ยวกับการเดินทางไปเยี่ยมโรงงานถลุงแรร์เอิร์ธหรือแร่ธาตุหายาก ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระตุ้นให้เกิดการคาดเดาว่า จีนอาจใช้ฐานะผู้ส่งออกแรร์เอิร์ธรายหลักให้อเมริกา เป็นอาวุธต่อกรในสงครามการค้าที่กำลังระอุหนัก

แรร์เอิร์ธคือกลุ่มสารประกอบทางเคมี 17 ชนิดที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตสินค้าไฮเทคแทบทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ไฮเทค ไปจนถึงยุทโธปกรณ์ แนวโน้มที่มูลค่าแร่ธาตุนี้จะเพิ่มขึ้นสืบเนื่องจากสงครามการค้าส่งผลให้ราคาหุ้นของผู้ผลิต ซึ่งรวมถึงบริษัทที่สีไปเยือนพุ่งทะยาน

แม้จีนยังไม่ประกาศชัดเจนว่า จะจำกัดการขายแรร์เอิร์ธให้อเมริกาหรือไม่ แต่สื่อทางการแดนมังกรส่งสัญญาณชัดเจนว่า ทางเลือกนี้กำลังจะเกิดขึ้น

บทความที่ใช้ชื่อชื่อว่า “อเมริกาจงอย่าประเมินความสามารถในการตอบโต้ของจีนต่ำเกินไป” ของหนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า (พีเพิลส์ เดลี) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ฉบับวันพุธ (29 พ.ค.) ตั้งข้อสังเกตว่า อเมริกาต้องพึ่งพิงแรร์เอิร์ธของจีนในระดับที่ “น่าลำบากใจ” และสำทับว่า คนจีนรับไม่ได้แน่นอนที่อเมริกาต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากแรร์เอิร์ธของจีนมาขัดขวางการพัฒนาของจีน

“เราแนะนำว่า อเมริกาไม่ควรประเมินความสามารถของจีนในการปกป้องสิทธิ์ในการพัฒนาและผลประโยชน์ของตัวเองต่ำเกินไป และอย่าหาว่าเราไม่เตือน!”

ทั้งนี้ สื่อจีนมักใช้วลี “อย่าหาว่าไม่เตือน!” เพื่อเตือนศัตรูที่มีความขัดแย้งรุนแรง เช่น ระหว่างการพิพาทด้านดินแดนกับอินเดียในปี 2017 และในปี 1978 ก่อนที่จีนจะบุกเวียดนาม
<i>ตัวอย่างของแร่ธาตุแรร์เอิรธบางชนิด ถูกนำมาตั้งแสดงระหว่างที่สื่อมวลชนทัวร์โรงงานแรร์เอิร์ธของบริษัทโมลีคอร์ป ในเมืองเมาน์เทนแพสส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2015 </i>
นอกจากนั้นในบทบรรณาธิการฉบับวันพุธ (29) ของโกลบัล ไทมส์ ซึ่งอยู่ในเครือเหรินหมินรึเป้า ยังระบุว่า การแบนการส่งออกแรร์เอิร์ธเป็นอาวุธทรงพลัง หากจีนนำมาใช้ในสงครามการค้ากับอเมริกา กระนั้น จีนจะใช้อาวุธนี้เพื่อปกป้องประเทศเป็นหลัก ซึ่งแม้อาจทำให้จีนสูญเสียรายได้ แต่อเมริกาจะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า

จีนเคยใช้แรร์เอิร์ธกดดันในกรณีพิพาททางการทูตมาก่อน เช่น ในปี 2010 ปักกิ่งลดโควตาส่งออกแร่ธาตุนี้ หลังจากเรืออวนลากลำหนึ่งของตนชนกับเรือยามฝั่งของญี่ปุ่น 2 ลำใกล้หมู่เกาะที่ไม่มีคนพักอาศัยในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งทั้งสองประเทศต่างอ้างกรรมสิทธิ์

ปี 2012 ญี่ปุ่น อเมริกา และสหภาพยุโรป ร้องเรียนกรณีดังกล่าวต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) สองปีต่อมา จีนถูกดับเบิลยูทีโอตัดสินว่าทำผิดที่กำหนดโควตาการส่งออกแรร์เอิร์ธโดยอ้างเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม และในที่สุดจีนก็ยอมยกเลิกระบบโควตานี้ไป

พวกผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าของจีนเชื่อว่า จากบทเรียนต่างๆ เหล่านี้ ต่อไปปักกิ่งน่าจะอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศแบบเดียวกับที่วอชิงตันนำมาใช้ในการแบนหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ หากตัดสินใจฟื้นมาตรการจำกัดการส่งออกแรร์เอิร์ธ

ทั้งนี้ จีนผลิตแรร์เอิร์ธกว่า 95% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก และ 80% ของปริมาณการนำเข้าของอเมริการะหว่างปี 2014-2017

สหรัฐฯถึงแม้ขึ้นภาษีศุลกากรจากสินค้าเข้าจีนรวมเป็นมูลค่ากว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ แต่แร่ธาตุนี้ยังไม่ได้ถูกจัดเก็บเพิ่มแต่อย่างใด กลับเป็นฝ่ายปักกิ่งซึ่งขึ้นภาษีแร่ธาตุหายากแต่ละชนิดที่นำเข้าจากอเมริกา จากระดับ 10% เป็น 25% นับจากวันที่ 1 มิถุนายน ทั้งนี้ นักธรณีวิทยาระบุว่าในสหรัฐฯเองก็มีแรร์เอิร์ธเป็นจำนวนมากมาย แต่เนื่องจากการนำมาถลุงแปรรูปนั้นสร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อมอย่างสูง ดังนั้นสินแร่แรร์เอิร์ธที่ขุดขึ้นมาในอเมริกา จึงถูกส่งมาแปรรูปในจีน

นักวิเคราะห์ด้านการค้าบางคนคาดว่า หากจีนใช้สถานะความเป็นผู้นำในการผลิตแรร์เอิร์ธเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการทูต อาจเร่งให้แคลิฟอร์เนียและออสเตรเลียเพิ่มศักยภาพการผลิตและแปรรูปแร่ธาตุหายากนี้ อย่างไรก็ดี กระบวนการนี้จะต้องใช้เวลาจึงจะดำเนินการได้สำเร็จ


กำลังโหลดความคิดเห็น