xs
xsm
sm
md
lg

อิหร่านย้ำหนักแน่นพร้อมป้องกันตัว ทั้งการรุกรานด้านเศรษฐกิจ-กองทัพ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน (คนซ้าย) จับมือกับ โมฮัมเหม็ด อัล – ฮาคิม  รัฐมนตรีต่างประเทศของอิรัก (คนขวา) ขณะทำการแถลงข่าวร่วมกัน
เอเจนซีส์ - โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน ระบุในวันอาทิตย์ (26 พ.ค.) ว่าอิหร่านจะดำเนินการป้องกันตัวเองจากการรุกรานทางทหารหรือเศรษฐกิจ พร้อมเรียกร้องให้ประเทศในยุโรปให้ลงมือทำมากขึ้นเพื่อรักษาข้อตกลงนิวเคลียร์

ซารีฟ พูดในการแถลงข่าวที่แบกแดด ร่วมกับผู้ดำรงตำแหน่งเดียวกันของอิรัก โมฮัมเหม็ด อัล - ฮาคิม โดยระบุว่า ประเทศของเขาต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่สมดุลกับประเทศเพื่อนบ้านในอ่าวอาหรับ และได้เสนอการลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกับพวกเขา

"เราจะป้องกันความพยายามในการทำสงครามใดๆ กับอิหร่าน ไม่ว่าจะเป็นสงครามเศรษฐกิจหรือทางทหาร และเราจะเผชิญกับความพยายามเหล่านี้ด้วยความเข้มแข็ง" เขากล่าว

ความตึงเครียดได้เพิ่มขึ้นระหว่างอิหร่านและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนซาอุดิอาระเบียคู่แข่งของเตหะราน หลังจากในเดือนนี้มีการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันในอ่าวอาหรับ ซึ่งวอชิงตันกล่าวโทษอิหร่าน

อิหร่านนั้นอยู่ห่างเกินไปสำหรับเครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน และเพิ่มทหารอีก 1,500 นาย ไปที่อ่าวอาหรับ ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งในภูมิภาคที่มีความผันผวนสูง

ฮาคิม ระบุว่า อิรักยืนหยัดอยู่กับอิหร่าน และยินดีที่จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างเพื่อนบ้านกับสหรัฐอเมริกา ทางกรุงแบกแดดไม่เชื่อว่า "การปิดล้อมทางเศรษฐกิจ" นั้นจะส่งผลที่ดี

"เรากำลังพูดอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาว่าเราคัดค้านการกระทำฝ่ายเดียวของสหรัฐอเมริกา เรายืนเคียงข้างในจุดยืนของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน" ฮาคิม กล่าว

วอชิงตันพยายามหาทางคว่ำบาตรอิหร่านอย่างเข้มงวด ขณะที่ความสัมพันธ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้น ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วได้นำประเทศถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์

ส่วนที่กรุงเตหะราน ประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ได้เปิดเผยความคิดในการทำประชามติเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน จากการรายงานของสื่ออิหร่าน

การทำประชามติเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ที่กำลังถกเถียงกัน อาจทำให้ผู้นำของอิหร่านมีพื้นที่ในการซ้อมรบและมีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับสหรัฐฯ

บรรดาผู้นำระดับสูงของอิหร่าน ระบุว่า พวกเขาไม่ต้องการทำสงครามกับสหรัฐอเมริกา และบรรดาเจ้าหน้าที่ได้บอกกับรอยเตอร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า แม้จะมีสำนวนโวหารที่รุนแรงกับวอชิงตัน แต่ทางการพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งอย่างเปิดเผย

"มาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญ (เรื่องการลงประชามติ) จะเป็นตัวทลายทางตัน และอาจเป็นการแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง" สำนักข่าว ILNA รายงานคำพูดของรูฮานี ซึ่งพูดไว้เมื่อค่ำวันเสาร์

รูฮานีบอกว่า ตอนที่เขาเป็นผู้เจรจาต่อรองด้านนิวเคลียร์ในปี 2004 เขาได้เสนอแก่ อยาโตเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ให้มีการทำประชามติเกี่ยวกับปัญหานิวเคลียร์

อิหร่านมีการลงประชามติเพียงสามครั้งนับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในปี 1979 ครั้งแรกเพื่ออนุมัติการจัดตั้งสาธารณรัฐอิสลาม หลังจากนั้นก็ทำประชามติเพื่ออนุมัติรัฐธรรมนูญ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ

วอชิงตันระบุว่า ได้เพิ่มทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคดังกล่าว พร้อมกล่าวหาเตหะรานว่าเป็นภัยคุกคามต่อกองกำลังและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ขณะที่เตหะรานได้พูดความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ว่าเป็นสงครามจิตวิทยาและเกมการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น