xs
xsm
sm
md
lg

จีนโวยมะกันรังแกทางเศรษฐกิจ “หัวเว่ย” ยังยิ้มบอกไม่กระทบ แม้บริษัทชิปดัง ARM ตัดสัมพันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>คนงานทำความสะอาดด้านหน้าของร้านระดับเรือธงแห่งใหม่ของหัวเว่ย  ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ (ภาพถ่ายวันพุธ 22 พ.ค. 2019) </i>
เอเจนซีส์ - ปักกิ่งโวยอเมริกาแบนหัวเว่ยเป็น “การรังแกทางเศรษฐกิจ” ลั่นการตอบโต้ที่ดีที่สุดคือการที่บริษัทจีนเติบโตแกร่งกล้ากว่าเดิม ขณะที่หัวเว่ยปลดล็อกแอนดรอยด์ ประกาศพร้อมเปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่สำหรับตลาดโลกต้นปีหน้า ท่ามกลางกระแสตัดเชือกที่ลามถึงเอเชีย ทั้งนี้ พวกนักวิเคราะห์ตะวันตกมองว่าจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่อาจทำให้ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมแดนมังกรไปต่อไม่เป็นคือ การที่เออาร์เอ็ม ผู้ออกแบบชิปของอังกฤษประกาศระงับความสัมพันธ์สนองมาตรการทรัมป์ อย่างไรก็ดี ผู้ก่อตั้งหัวเว่ยออกมาให้สัมภาษณ์ตอบโต้ว่าไม่มีผลกระทบอะไรต่อบริษัท

เช่นเดียวกับแอปเปิลและควอลคอมม์ หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ใช้พิมพ์เขียวของเออาร์เอ็มในการออกแบบโปรเซสเซอร์ที่เป็นขุมพลังสำคัญของสมาร์ทโฟน และยังได้ใบอนุญาตใช้งานเทคโนโลยีกราฟิกจากเออาร์เอ็ม ซึ่งเป็นกิจการของซอฟต์แบงก์ กรุ๊ปของญี่ปุ่น

สถานีวิทยุโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษรายงานเมื่อวันพุธ (22) ว่า เออาร์เอ็มสั่งให้พนักงานระงับสัญญาการสนับสนุน และข้อตกลงที่อยู่ระหว่างการดำเนินการทั้งหมดกับหัวเว่ย ขณะที่คำแถลงของเออาร์เอ็มชี้แจงว่า บริษัทปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงคุณค่าความสัมพันธ์อันยาวนานกับไฮซิลิคอน (บริษัทชิปของหัวเว่ย) และหวังว่าจะมีมาตรการแก้ไขในเรื่องนี้โดยเร็ว

ด้านหัวเว่ยแถลงว่า บริษัทให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหุ้นส่วนเช่นกัน และตระหนักว่าบริษัทเหล่านั้นบางแห่งถูกกดดันอันเป็นผลจากการตัดสินใจที่มีการเมืองเป็นแรงจูงใจ พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่า สถานการณ์นี้จะได้รับการแก้ไข และเป้าหมายสำคัญอันดับแรกของบริษัทยังคงเป็นการนำเสนอเทคโนโลยีและบริการระดับโลกให้แก่ลูกค้าทั่วโลก

หัวเว่ยยังแถลงว่า จะเปิดตัวระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทโฟนและแล็ปท็อปของบริษัทในตลาดจีนในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีนี้ ส่วนเวอร์ชันสำหรับตลาดต่างประเทศจะพร้อมให้บริการในไตรมาส 1 หรือ 2 ของปีหน้า

นักวิเคราะห์และสื่อตะวันตกมองว่า ความเคลื่อนไหวของเออาร์เอ็มจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อความสามารถในการทำธุรกิจของหัวเว่ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนสมาร์ทโฟนที่บริษัทกำลังแย่งชิงความเป็นผู้นำในตลาดโลกกับซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ โดยผลกระทบนี้น่าจะมากกว่าการถูกตัดสัมพันธ์จากกูเกิล ผู้จัดหาระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และบริการ เช่น จีเมล และยูทูป เนื่องจากการออกแบบชิปของเออาร์เอ็มมีเทคโนโลยีที่มีถิ่นกำเนิดจากอเมริกา และเป็นโครงสร้างหลักของสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย

สัปดาห์ที่แล้ว อเมริกาประกาศห้ามหัวเว่ย ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่มียอดขายอันดับ 2 และผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมใหญ่ที่สุดของโลก ซื้อสินค้าที่ผลิตจากวัสดุหรือเทคโนโลยีที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกา 25% ขึ้นไป โดยกล่าวหาว่าหัวเว่ยเป็นเครื่องมือสอดแนมของรัฐบาลจีนและเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ
<i>เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ย (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อกลางเดือนมกราคม 2019) ทั้งนี้เขาออกมายืนยันในวันพฤหัสบดี (23 พ.ค.) ว่า หัวเว่ยไม่ได้กระทบอะไร ถึงแม้ ARM บริษัทชิปชื่อดังของอังกฤษที่ทางกลุ่มซอฟต์แบงก์ของญี่ปุ่นเป็นเจ้าของตัวจริง  ประกาศระงับความสัมพันธ์ทางธุรกิจ </i>
อย่างไรก็ดี ปรากฏว่า เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ย บอกกับ “ไฉซิน” นิตยสารการเงินของจีนเมื่อวันพฤหัสบดี (23) ว่า เขามองไม่เห็นว่าการตัดสินใจของเออาร์เอ็มที่ให้ระงับการทำธุรกิจกับหัวเว่ยจะส่งผลกระทบอะไรต่อบริษัท

เหรินกล่าวว่า หัวเว่ยมีข้อตกลงนโยบายกับเออาร์เอ็ม และเขาคาดเดาว่าบริษัทอังกฤษแห่งนี้ตัดสินใจเคลื่อนไหวเช่นนี้ เนื่องจากบริษัทแม่ของพวกเขา คือ กลุ่มบริษัทซอฟต์แบงก์ของญี่ปุ่น กำลังเฝ้ารอให้สหรัฐฯ อนุมัติการผนวกกิจการระหว่าง สปรินต์ คอร์ป ที่ซอฟต์แบงก์เป็นเจ้าของ กับบริษัท ทีโมไบลด์ ยูเอส อิงค์

นอกจากเออาร์เอ็มแล้ว ยังมีพานาโซนิคและโตชิบาเป็นอีกสองบริษัทชั้นนำที่ร่วมกระแสแบนหัวเว่ย โดยพานาโซนิคซึ่งผลิตชิ้นส่วนที่ใช้ในสมาร์ทโฟนประกาศในวันพฤหัสฯ (23) ว่าจะยุติการจัดส่งชิ้นส่วนบางอย่างให้หัวเว่ย ส่วนโตชิบาสั่งระงับการจัดส่งให้หัวเว่ยชั่วคราวเพื่อตรวจสอบว่ามีชิ้นส่วนที่ผลิตจากอเมริกาหรือไม่ ทว่าหลังจากนั้นในวันเดียวกัน โตชิบาบอกว่าได้เดินหน้าจัดส่งกันใหม่เป็นบางส่วนแล้ว

ทางด้าน วายโมบายล์ แบรนด์มือถือราคาประหยัดของซอฟต์แบงก์ และบริษัทสื่อสารแห่งอื่นๆ ของญี่ปุ่นก็เผยว่าจะชะลอการเปิดตัวสมาร์ทโฟนหัวเว่ยที่เดิมกำหนดไว้ในวันศุกร์ (24)

หนังสือพิมพ์โชซุน อิลโบของเกาหลีใต้รายงานในวันพฤหัสฯ (23) ว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กำชับเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ว่า ไม่ควรอนุญาตให้แอลจี ยูพลัสที่ใช้อุปกรณ์หัวเว่ยให้บริการในพื้นที่อ่อนไหว และสำทับว่าเกาหลีใต้ควรแบนอุปกรณ์ของหัวเว่ยโดยสิ้นเชิง

แหล่งข่าวในแวดวงนักการทูตในโซลยังเปิดเผยว่า วอชิงตันส่งสารย้ำเตือนผ่านช่องทางต่างๆ ถึงกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ว่า การใช้ผลิตภัณฑ์หัวเว่ยอาจทำให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคง

ในส่วนของทางการจีน เมื่อวันพุธ หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน กล่าวในที่ประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (เอสซีโอ) ที่คีร์กิสถานว่า การที่อเมริกาใช้อำนาจกดดันตามอำเภอใจต่อบริษัทเอกชนอย่างหัวเว่ยถือเป็นการรังแกทางเศรษฐกิจ และเสริมว่า คนกลุ่มหนึ่งในอเมริกาไม่ต้องการให้จีนใช้สิทธิที่ชอบธรรมตามกฎหมายในการพัฒนา และพยายามขัดขวางกระบวนการพัฒนาของจีน

หวังวิจารณ์ว่า พฤติกรรมที่อวดดีและเห็นแก่ตัวของอเมริกาไม่มีทางได้รับความเห็นชอบและการสนับสนุนจากนานาชาติ ก่อนสำทับว่าจีนไม่อาจลงนามหรือยอมรับข้อตกลงการค้าที่ไม่เท่าเทียมได้ ถ้าอเมริกายินดีเจรจาบนพื้นฐานของความเท่าเทียม เมื่อนั้นจีนก็พร้อมเจรจา แต่ถ้าอเมริกาเลือกใช้นโยบายเพิ่มความกดดันสูงสุด จีนก็จะต่อสู้จนถึงที่สุดเช่นเดียวกัน

ในวันพฤหัสฯ เกา เฟิง โฆษกกระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า จีนยื่นประท้วงอเมริกาต่อกรณีหัวเว่ย และว่า มาตรการตอบโต้การรังแกของวอชิงตันที่ดีที่สุดคือ การที่บริษัทจีนเติบโตกล้าแกร่งต่อไป และว่า ปักกิ่งเชื่อมั่นและสามารถที่จะปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทจีนได้

เกาเสริมว่า อเมริกาจำเป็นต้องแก้ไขการกระทำของตัวเองหากต้องการสานต่อการเจรจา ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพกันและกัน และเตือนว่า การปลุกเร้าของวอชิงตันให้สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย


กำลังโหลดความคิดเห็น