xs
xsm
sm
md
lg

ยักษ์รองเท้ากีฬาวิงวอน “ทรัมป์” หยุด ไม่อยากตกเป็นเหยื่อสงครามการค้า ทูตมังกรตอกวอชิงตันกลับลำทำเจรจาล่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นักชอปออกมาจากร้านไนกี้แห่งหนึ่งที่เมืองลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันอังคาร (21 พ.ค.)  ทั้งนี้ ไนกี้
เอเจนซีส์ - บริษัทรองเท้ากีฬาชื่อดังของโลก รวมทั้ง 3 แบรนด์กีฬาดัง ‘อาดิดาส-ไนกี้-พูม่า’ เรียกร้องเมื่อวันอังคาร (21 พ.ค.) ให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ปกป้องอุตสาหกรรมรองเท้าของอเมริกาไม่ให้ตกเป็นเหยื่อสงครามการค้ากับจีน พร้อมเตือนว่ามาตรการรีดภาษีจีนระลอกใหม่อาจกลายเป็น “หายนะ” ขณะที่ผลสำรวจล่าสุดพบว่าบริษัทอเมริกันในจีนเกือบจีน เจอการตอบโต้จากปักกิ่งในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรและกระทบความสามารถในการแข่งขัน ทางด้านทูตจีนยืนยัน การเปลี่ยนใจชั่วข้ามคืนซ้ำแล้วซ้ำเล่าของอเมริกาคือสาเหตุที่ทำให้ข้อตกลงการค้าสะดุด

แบรนด์สินค้ากีฬาระดับโลกทั้ง 3 เจ้าและผู้ผลิต-จัดจำหน่ายรองเท้าในสหรัฐฯ อีกกว่า 170 รายได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง ทรัมป์ โดยเรียกร้องให้สินค้าประเภทรองเท้าได้รับการยกเว้นจากมาตรการขึ้นภาษีระลอกใหม่ที่สหรัฐฯ เตรียมเรียกเก็บ

ทรัมป์ ได้ขยายสงครามการค้ากับปักกิ่งด้วยการปรับเพิ่มพิกัดอัตราศุลกากรจาก 10% เป็น 25% สำหรับสินค้านำเข้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนนี้ และยังขู่จะขยายบทลงโทษให้ครอบคลุมสินค้าจีนทั้งหมดที่นำเข้าสหรัฐฯ โดยส่วนที่ยังไม่ได้ถูกปรับขึ้นภาษีศุลกากรเลยนั้นมีมูลค่าราว 300,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในนี้ก็มีสินค้าประเภทรองเท้าด้วย

หากทรัมป์ทำตามที่ขู่และขยายการขึ้นภาษีต่อไปแล้ว นั่นหมายความว่าสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, เสื้อผ้า, รองเท้ากีฬา หรือแม้กระทั่งไอโฟนที่จำหน่ายในสหรัฐฯ จะมีราคาพุ่งสูงขึ้น ซึ่งสร้างความกังวลต่อผู้จัดจำหน่ายและผู้ผลิตที่ยังต้องพึ่งพาสินค้าจากจีน

“ข้อเสนอขึ้นภาษีศุลกากรเป็น 25% สำหรับผลิตภัณฑ์รองเท้ากีฬาจะกลายเป็นหายนะสำหรับผู้บริโภค รวมถึงบริษัทของเราและเศรษฐกิจอเมริกันโดยรวม” จดหมายเปิดผนึก ระบุ

ผู้ผลิตเหล่านี้ย้ำว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมรองเท้าต้องเสียภาษีศุลกากรประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์อยู่แล้ว ซึ่งถ้ามากไปกว่านี้ก็จะทำให้ต้นทุนและราคาสินค้าแพงขึ้น

“เราควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า คนที่จะต้องจ่ายภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าก็คือผู้บริโภคในสหรัฐฯ เอง” บริษัทเหล่านี้เตือน โดยเป็นการปฏิเสธถ้อยแถลงผิดๆ ของ ทรัมป์ ที่มักจะพูดว่าสหรัฐฯ รีดภาษีจากจีน

แม้ ทรัมป์ จะเรียกร้องให้บริษัทเหล่านี้ย้ายฐานการผลิตออกจากแดนมังกรและกลับมาตั้งโรงงานผลิตสินค้าในอเมริกา แต่แบรนด์รองเท้ากีฬาชั้นนำยืนยันว่า “จำเป็นต้องใช้เวลาวางแผนหลายปีก่อนตัดสินใจ และเป็นไปไม่ได้ที่จู่ๆ จะให้ย้ายโรงงานในทันทีเพื่อปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้”

แม้บริษัทและอุตสาหกรรมต่างๆ จะต้องการให้จีนปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องการขโมยเทคโนโลยีของอเมริกา แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะใช้กำแพงภาษีเป็นอาวุธเล่นงานจีน

หลังจากคำสั่งรีดภาษีมีผลบังคับ กลุ่มอุตสาหกรรม 17 ประเภทได้ยื่นจดหมายถึง ทรัมป์ ขอให้ทบทวนบทลงโทษ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าจากจีน

“จีนเป็นแหล่งที่มาของเสื้อผ้า 41%, รองเท้า 72% และอุปกรณ์การเดินทาง 84% ที่ถูกนำเข้าสู่สหรัฐฯ ในปี 2017” จดหมายระบุ


ในอีกด้านนั้น บริษัทอเมริกันที่ทำธุรกิจอยู่จีนกำลังเผชิญมาตรการตอบโต้จากแดนมังกรชัดเจนขึ้น โดยผลสำรวจของหอการค้าอเมริกันในจีนและหอการค้าอเมริกันในเซี่ยงไฮ้ ที่เปิดเผยเมื่อวันพุธ (22) พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 40.7% จากทั้งหมดเกือบ 250 คน กำลังพิจารณาหรือย้ายโรงงานการผลิตออกจากจีนแล้ว โดยมีเม็กซิโกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ แต่มีไม่ถึง 6% ที่ย้ายหรือพิจารณาย้ายกลับไปผลิตในอเมริกาตามที่ทรัมป์คาดหวัง

เกือบ 3 ใน 4 บอกว่า ผลกระทบจากสงครามภาษีศุลกากรกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัท จากการที่คำสั่งซื้อแห้งเหือดลง แต่ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าแพงขึ้น

เกือบครึ่งเผชิญมาตรการตอบโต้ที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรในจีนนับจากปีที่แล้ว โดย 1 ใน 5 รายงานว่า ถูกตรวจสอบมากขึ้น ผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนเท่าๆ กันบอกว่า พบความล่าช้าในพิธีการศุลกากร และ 14% โอดครวญว่า เจอมาตรการตอบโต้อื่นๆ เช่น ถูกเจ้าหน้าที่สอดส่องมากขึ้น

การสำรวจยังพบว่า บริษัท 35% เตรียมปรับใช้กลยุทธ์ “ในจีนเพื่อจีน” ด้วยการจัดซื้อภายในจีนเพื่อผลิตและขายให้ลูกค้าท้องถิ่นแทนการส่งอออก และอีก 1 ใน 3 ชะลอหรือยกเลิกการตัดสินใจในการลงทุน

ผู้ตอบแบบสำรวจกว่าครึ่งต้องการให้อเมริกาหันหน้าคุยกับจีนต่อเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะส่งผลให้การแข่งขันในจีนเป็นธรรมมากขึ้น ที่เหลือต้องการให้สองประเทศบรรลุข้อตกลงโดยเร็วและกลับสู่สถานการณ์ที่คาดเดาได้และมีเสถียรภาพเหมือนตอนก่อนที่จะมีการตอบโต้กันด้วยมาตรการภาษี

การสำรวจคราวนี้ที่จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 พฤษภาคม หรือไม่กี่วันหลังจากอเมริกาขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ และปักกิ่งตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าอเมริกันมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์

นับจากต้นเดือนที่การเจรจาการค้าหยุดชะงักลง วอชิงตันโทษว่า เป็นเพราะเจ้าหน้าที่จีนพยายามเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในข้อตกลงที่เสนอและเห็นพ้องกันไปแล้วในการเจรจาก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ระหว่างให้สัมภาษณ์สถานีฟ็อกซ์ นิวส์เมื่อวันอังคาร(21) กุ้ย เทียนไค เอกอัครราชทูตจีนประจำวอชิงตัน ระบุว่า ปักกิ่งพร้อมฟื้นการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปกับสหรัฐฯ แต่ก็สำทับว่า อเมริกาต่างหากที่เป็นฝ่ายเปลี่ยนใจในชั่วข้ามคืนซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยกเลิกข้อตกลงเบื้องต้นที่คุยกันไว้เมื่อปีที่แล้วเพื่อยุติข้อพิพาททางการค้า

มีรายงานระบุว่า เดือนมิถุนายน 2018 วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์อเมริกา เจรจากับรองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอของจีน เกี่ยวกับข้อเสนอที่จีนจะสั่งซื้อสินค้าอเมริกันเพิ่มเป็นมูลค่าราว 70,000 ล้านดอลลาร์ แต่สุดท้ายทรัมป์กลับไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าวและเลือกขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าจีนแทน

กุ้ยทิ้งท้ายว่า การแบนหัวเว่ยโดยปราศจากเหตุผลและหลักฐานเป็นการกระทำที่มีแรงจูงใจทางการเมือง และอาจบ่อนทำลายกลไกปกติในตลาด

สัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เรียกร้องให้ชาวจีนเตรียมพร้อมสำหรับ “การเดินทัพทางไกลครั้งใหม่” ปลุกเร้าความรักชาติโดยอ้างอิงถึงการเดินทัพของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1934-1936 เพื่อหนีจากสงครามกลางเมืองอันโหดร้ายไปสร้างฐานที่มั่นในเมืองห่างไกลก่อนที่จะกลับไปชิงอำนาจคืนในปี 1949

สีไม่ได้พาดพิงถึงสงครามการค้าโดยตรง แต่นักวิเคราะห์ตลาดการเงินตีความว่า เป็นการส่งสัญญาณว่า ปักกิ่งปักหลักเตรียมพร้อมสำหรับความขัดแย้งยืดเยื้อกับวอชิงตัน



กำลังโหลดความคิดเห็น