xs
xsm
sm
md
lg

In Clips: หัวเว่ยรวมอีก 70 บริษัทที่เกี่ยวข้องถูก “สหรัฐฯ” สั่งขึ้นบัญชีดำห้ามซื้อขายชิ้นส่วนอุปกรณ์จากบริษัทอเมริกัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯแถลงวันพุธ(15 พ.ค)ว่า ได้ขึ้นบัญชีดำบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี และอีกร่วม 70 บริษัทในเครือเกี่ยวข้องใน “บัญชีดำEntity List” เป็นการห้ามบริษัทยักษ์ใหญ่ทางโทรคมนาคมซื้อชื้นส่วนหรือส่วนประกอบจากบริษัทสัญชาติสหรัฐฯเว้นแต่จะได้รับการอนุญาตจากวอชิงตัน

รอยเตอร์รายงานวันนี้(16 พ.ค)ว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯเปิดเผยกับรอยเตร์ว่า การตัดสินใจที่จะออกมาจะทำให้เป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมของโลกในการที่จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตัวเองจากการที่ทางบริษัทพึ่งพาซัพพลายเออร์จากสหรัฐฯ

ภายใต้คำสั่งที่จะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า หัวเว่ยจำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตจากสหรัฐฯในการซื้อเทคโนโลยีของอเมริกา

ด้านรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ วิลเบอร์ รอส(Wilbur Ross) กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ สนับสนุนการตัดสินใจที่จะเป็นการป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีของอเมริกาถูกใช้โดยบริษัทต่างชาติในหนทางที่จะบ่อนทำลายต่อความมั่นคงของสหรัฐฯและผลประโยชน์ทางนโยบายต่างประเทศ

ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลชุดทรัมป์พยายามอย่างหนักในการล็อบบี้รัฐบาลชาติต่างๆไม่ให้ใช้เทคโนโลยีเครือข่าย 5G และเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังทรัมป์ประกาศใช้อัตราภาษีศุลกากรใหม่ที่ 25% กับสินค้าจีน

ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของทางกระทรวงเกิดขึ้นหลังจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯยื่นฟ้องต่อบริษัทหัวเว่ยและคนอื่นๆที่เกี่ยวข้องในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยกล่าวว่าทางหัวเว่ยได้สมรู้ร่วมคิดในการให้บริการทางการเงินที่ต้องห้ามต่ออิหร่าน ซึ่งทางกระทรวงกล่าวว่า ทางกระทรวงใช้เหตุผลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่สรุปได้ว่า ทางบริษัทร่วมในกิจกรรมที่ขัดแย้งต่อความมั่นคงสหรัฐฯ ผลประโยชน์ทางนโยบายต่างประเทศ

ทั้งนี้พบว่าหัวเว่ยรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของปีอยู่ที่ 27 พันล้านดอลลาร์ในเดือนที่ผ่านมา และสามารถส่งโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนร่วม 59 ล้านเครื่องภายในไตรมาสแรก

ไฟแนนเชียลไทม์สรายงานว่า บัญชีดำEntity List ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯที่มีหัวเว่ยและอีก 70 บริษัทที่เกี่ยวข้องอยู่ในนั้นเป็นบัญชีที่มีการระบุว่า ผู้ที่ถูกขึ้นทั้งบุคคลธรรมดา บริษัท หรือองค์กร ถูกสหรัฐฯมองว่าเป็นภัยความเสี่ยงต่อความมั่นคงอเมริกา ในขณะที่จำนวนที่เพิ่มอย่างรวดเร็วของอาวุธทำลายล้างสูงหรือการก่อการร้ายนั้นถือเป็นเหตุผลที่ชัดเจนว่าจะต้องถูกขึ้นบัญชีดำ ซึ่งทางรัฐบาลสหรัฐฯยังสามารถขึ้นบัญชีดำกับบริษัทสำหรับเหตุผลภัยคุกคามที่ไม่ระบุต่อความมั่นคงหรือแค่เป้าหมายทางนโยบายของประเทศได้

หัวเว่ยได้ออกมาตอบโต้ต่อมาตรการสหรัฐฯโดยกล่าวว่าทางบริษัทพร้อมที่จะตอบโต้รัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งจะมาพร้อมกับมาตรการทางความมั่นคงเพื่อทำให้แน่ใจถึงความมั่นคงต่อผลิตภัณฑ์ของบริษัท

“การจำกัดหัวเว่ยในการทำธุรกิจในอเมริกาจะไม่ทำให้สหรัฐฯมีความมั่นคงมากขึ้นหรือเข้มแข็งขึ้น แต่ในทางตรงข้าม สิ่งนี้จะเป็นการจำกัดสหรัฐฯให้ด้อยลงแต่ยังคงมีราคาแพงในทางกลับกัน ทิ้งให้สหรัฐฯต้องตามหลังการใช้ระบบ5G และในท้ายที่สุดจะเป็นการทำร้ายต่อผลประโยชน์บริษัทสหรัฐฯและผู้บริโภคชาวอเมริกัน” รายงานจากแถลงการณ์หัวเว่ย

และในแถลงการณ์ยังกล่าวต่อว่า “นอกเหนือจากนี้ การสั่งห้ามแบบไม่สมเหตุสมผลนั้นถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิของหัวเว่ยและยังเป็นการนำมาต่อข้อร้ายแรงอื่นๆ”

สื่อธุรกิจเชื่อว่า ออสเตรเลียและญี่ปุ่นร่วมขบวนกับสหรัฐฯในการแบนหัวเว่ย แต่สหรัฐฯยังไม่ประสบความสำเร็จในการชักจูงชาติพันธมิตรอื่นๆทำตาม เป็นต้นว่า เยอรมันและอังกฤษ

รอยเตอร์รายงานว่าก่อนหน้าในปี 2016 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้ขึ้นบัญชีดำบริษัท  ZTE Corp ของจีน ซึ่งการขึ้นบัญชีดำต่อบริษัทจีนแห่งนี้ส่งผลทำให้มีการห้ามบริษทซัพพลายเออร์ในสหรัฐฯส่งอุปกรณ์ของตัวเองให้กับทาง ZTE ส่งผลทำให้สายซัพพลายเชนของคู่แข่งหัวเว่ยรายนี้ถูกแช่แข็งไปโดยปริยาย

แต่หลังจากนั้นรัฐบาลสหรัฐฯยอมอนุญาตให้ทาง ZTE สามารถยังคงความสัมพันธ์กับบริษัทอเมริกันได้ อ้างอิงจากสื่อฟอร์จูนที่รายงานวันที่ 13 มิ.ย 2018 เกิดขึ้นหลังจากทรัมป์และประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิงได้ตกลงร่วมกันที่จะหาทางออก และทาง ZTE เข้าสู่กระบวนการรอมชอมเมื่อ 1 ปีก่อนโดยตกลงยอมจ่ายค่าปรับก้อนโตให้กับสหรัฐฯจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์ และอีก 400 ล้านดอลลาร์สำหรับการละเมิดอื่นๆ






กำลังโหลดความคิดเห็น