xs
xsm
sm
md
lg

ศรีลังกาบอก ปัญหาหนี้สินปท.ตนไม่ได้ ‘เมดอินไชน่า’ ขณะที่ชาติยุโรปเข้าร่วม‘เส้นทางสายไหมใหม่’ มากขึ้นเรื่อยๆ

เผยแพร่:   โดย: เคน โมค

<i>ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส (ที่2จากซ้าย) ต้อนรับประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ฌอง-โคลด จุงเกอร์ (ซ้าย), นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี (กลาง), และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน (ขวา) ก่อนจะเข้าประชุมหารือกันที่ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสในกรุงปารีส วันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

European nations should join BRI
By Ken Moak
15/04/2019

สหรัฐฯและพวกวิพากษ์แผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง (BRI) หรือก็คือ “เส้นทางสายไหมใหม่” ซึ่งจีนจัดทำขึ้นมา โจมตีว่าเป็นการหลอกลวงพวกชาติที่เข้าร่วมให้ตกลงสู่ “กับดักแห่งหนี้สิน” แต่นักเศรษฐศาสตร์ของศรีลังกา ชาติซึ่งถูกยกเป็นตัวอย่างการตกเป็นเหยื่อเช่นนี้ กลับระบุว่า ปัญหาหนี้สินของศรีลังกา ไม่ได้ “เมดอินไชน่า

ชาติยุโรปควรที่จะเข้าร่วมใน BRI

ข้อเสนอเช่นนี้อาจจะทำให้ผู้คนจำนวนมากในยุโรปรู้สึกตกตะลึง แต่ว่ามันเป็นผลประโยชน์อันดีเลิศที่สุดของยุโรปแน่นอน ในการเข้าร่วมแผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative ใช้อักษรย่อว่า BRI) ของจีน ตรงกันข้ามกับพวกวาทกรรมต่อต้านจีน แผนการริเริ่มแถบและเส้นทางไม่ได้เป็น “กับดักแห่งหนี้สิน” หากแต่ในทางเป็นจริงแล้ว นี่คือพาหะอันยอดเยี่ยมในการส่งเสริมสนับสนุนการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ในตลอดทั่วทั้งโลก

ศรีลังกา ประเทศซึ่งพวกนักวิพากษ์จีนนิยมที่จะหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างของการทูต “กับดักแห่งหนี้สิน” ของจีน ทว่าทางศรีลังกาเองกลับไม่ได้คิดแบบนั้นเลย ตามความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ 2 ราย คือ ดุสะนี วีราคูน (Dushni Weerakoon) กับ ซิซิรา จายาสุริยา (Sisira Jayasuriya) [1] การที่ศรีลังกาประสบปัญหาการชำระคืนหนี้สินนั้นไม่ใช่สิ่งที่จีนเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นมา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.channelnewsasia.com/news/commentary/sri-lanka-debt-port-borrowing-problem-not-made-in-china-11309738)

นักเศรษฐศาสตร์ศรีลังกาทั้ง 2 คนนี้ชี้ว่า เงินกู้ที่มาจากจีนนั้น คิดเป็นเพียงแค่ 10% ของยอดหนี้สินต่างประเทศทั้งหมดของศรีลังกา เงินกู้จีนเกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการให้กู้แบบผ่อนปรนที่มีเงื่อนไขอันเอื้ออำนวยอย่างสมเหตุสมผล โดยมักคิดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ 2%, ค่าธรรมเนียมอื่นๆ 0.5%, และระยะเวลาให้กู้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 15 ถึง 20 ปี ถึงแม้เงื่อนไขเหล่านี้ไม่ได้เอื้อเฟื้ออย่างใจกว้างเท่ากับพวกเงินกู้จากทางการญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ได้ผิดแปลกไปจากธรรมดาอะไร

ขณะที่เงินกู้จีนชนิดไม่มีเงื่อนไขผ่อนปรนนั้น คิดเป็นประมาณอีก 40% ที่เหลือ และเงินกู้ไม่มีเงื่อนไขผ่อนปรนเหล่านี้ก็เท่ากับราวๆ 20% ของการกู้ยืมเงินประเภทนี้ทั้งหมดของศรีลังกา

สำหรับหนี้สินต่างประเทศที่เหลืออีก 90% นอกเหนือจากที่ศรีลังกากู้ยืมจากจีนนั้น เป็นหนี้ซึ่งโคลัมโบติดค้างพวกสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ในรูปของพันธบัตรภาครัฐ (sovereign bonds) ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอน และเงินกู้สกุลเงินตราต่างประเทศ เมื่อปี 2007 นั้น ยอดหนี้สินต่างประเทศโดยรวมของประเทศนี้อยู่ที่ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทว่าพอมาถึงปี 2018 ก็บานเบิกขยายกลายเป็น 15,300 ล้านดอลลาร์

เงินรายได้เหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการจ่ายคืนเงินกู้เก่าๆ เนื่องจากการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะงักงันหรือกระทั่งหดตัว เพราะสงครามกลางเมืองและการขาดแคลนมาตรการในการกระตุ้นการเติบโต ทำให้ระบบเศรษฐกิจไม่มีความสามารถที่จะก่อเกิดรายรับอันเพียงพอสำหรับการชำระหนี้สิน

ราวกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาเหล่านี้ยังเหลวร้ายไม่เพียงพอสำหรับศรีลังกา พวกสถาบันการเงินซึ่งฝ่ายตะวันตกหรือญี่ปุ่นเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ควบคุมอยู่ ได้บังคับใช้เงื่อนไขเงินกู้ต่างๆ แบบ “ฉันทามติวอชิงตัน” (Washington Consensus) ต่อประเทศนี้ โดยเรียกร้องให้ลูกหนี้ต้องยอมรับนำเอามาตรการเข้มงวดต่างๆ ไปใช้ หรือต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะขาดดุลในด้านการเงินในระหว่างช่วงเวลาที่เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือเศรษฐกิจถดถอย ตามความเห็นของ โจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph Stiglitz) นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ การต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ เช่นนี้หมายความว่าจะบังคับให้พวกลูกหนี้ต้องจ่ายคืนเงินกู้ก่อนเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะนำใช้ใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้นั่นเอง

การมีรายรับไม่เพียงพอได้บังคับให้ศรีลังกาต้องตัดบดงบประมาณรายจ่าย, ลดขนาดของบริการสาธารณะตลอดจนรายจ่ายรายการอื่นๆ เศรษฐกิจจึงกำลังเซถลาลงต่ำต่อไปอีกตามเส้นโค้งแห่งการเจริญเติบโต ขณะที่ภาระหนี้สินกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากสิ่งเหล่านี้แล้ว สภาวการณ์ภายนอกอันได้แก่การที่เศรษฐกิจโลกกำลังอ่อนตัวลง ก็เป็นสาเหตุทำให้การส่งออกของศรีลังกาลดต่ำ จึงยิ่งเพิ่มพูนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

คำบรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์ของศรีลังกาเช่นนี้ สามารถที่จะนำไปประยุกต์เพื่อใช้พูดถึงพวกชาติกำลังพัฒนาทั้งหลาย ถ้าไม่ใช่ทุกๆ ประเทศก็แทบจะทุกๆ ประเทศทีเดียว ซึ่งกำลังต้องพึ่งพาอาศัยเงินกู้จากพวกสถาบันการเงินของตะวันตกและญี่ปุ่น

ตามข้อมูลที่เสนอไว้ในรายงาน บีบีซี นิวส์ รีพอร์ต (BBC News report) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2018 ระบุว่า ยอดหนี้สินภายนอกโดยรวมของแอฟริกาอยู่ที่ 417,000 ล้านดอลลาร์ โดยในจำนวนนี้เป็นส่วนซึ่งกู้ยืมจากจีนอยู่ประมาณ 20% สำหรับในประเทศต่างๆ ซึ่งพวกสถาบันการเงินที่ควบคุมโดยตะวันตกได้ยินยอมปล่อยเงินกู้ให้แก่พวกเขานั้น ปรากฏว่าได้มีการบังคับให้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ของ “ฉันทามติวอชิงตัน” ชาติด้อยพัฒนาหลายๆ ราย ตัวอย่างเช่น ชาด จำเป็นต้องหาเงินกู้ก้อนใหม่เพื่อนำมาชำระคืนเงินกู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ด้วยเหตุผลเดียวกันกับที่ศรีลังกาเผชิญอยู่

“แผนแถบและเส้นทาง” คือแพลตฟอร์มแบบ “ชนะกันทุกฝ่าย”

อาจจะมีผู้เสนอความเห็นโต้แย้งขึ้นมาว่า ใครเป็นผู้ที่ได้ผลประโยชน์มากกว่ากัน ระหว่างจีนกับพวกประเทศที่เข้าร่วมแผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง แต่ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ยังคงมีอยู่ว่า แผนการริเริ่มแถบและเส้นทางนั้นเป็นสิ่งที่ทั้งจีนและบรรดาประเทศที่เข้าร่วมต่างก็กลายเป็นผู้ชนะกันทุกฝ่าย (win-win) สิ่งที่จีนได้รับคือการได้ตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของตน และมีประเทศต่างๆ ที่ตนสามารถเข้าไปลงทุน สำหรับเหล่าประเทศที่กำลังเข้าร่วมแผนการนี้ล่ะ พวกเขาได้ประโยชน์จากการเข้าถึงการลงทุนของจีน ตลอดจนการเข้าถึงตลาดจีนสำหรับผลิตภัณฑ์ของพวกเขา

ตามตัวเลขสถิติอย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีนแสดงให้เห็นว่า การค้าสองทางระหว่างจีนกับบรรดาประเทศผู้เข้าร่วมแผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง ได้เพิ่มพูนขึ้นจนเลยหลัก 5 ล้านล้านดอลลาร์ไปแล้ว หรือเท่ากับเป็นการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยในอัตราปีละมากกว่า 17% นับตั้งแต่ที่เริ่มเดินหน้าแผนการนี้ในปี 2013 ขณะที่ มอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) บริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินกิจการด้านวาณิชธนกิจและให้บริการทางการเงินต่างๆ ในทั่วโลก ประมาณการว่า จนถึงเวลานี้จีนได้ลงทุนไปแล้วมากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ในประเทศผู้เข้าร่วมแผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง และอาจจะเพิ่มขึ้นจนสูงถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ทีเดียวในช่วง 10 ปีข้างหน้า

ทำไมยุโรปจึงควรเข้าร่วม “แผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง”

ถึงแม้มีเสียงตักเตือนออกมาจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่ก็มีประเทศยุโรปเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่กำลังเข้าร่วมแผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง เนื่องจากแผนการริเริ่มนี้สามารถตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติของพวกเขา รายล่าสุดก็คืออิตาลี ซึ่งได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับจีนเพื่อแสดงความจำนงเข้าร่วม ระหว่างที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางไปเยือนประเทศนั้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไม่กี่วันต่อมา กรีซและ 16 ชาติที่อยู่ในกลุ่ม ประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก (Central and Eastern European Countries ใช้อักษรย่อว่า CEEC) ก็ได้ลงนามในข้อตกลงทำนองเดียวกัน ระหว่างการไปเยือนของนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ในเดือนเมษายนนี้

แท้ที่จริงแล้ว ในการพบปะหารือกันเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระหว่าง สี จิ้นผิง, ฌอง-โคลด จุงเกอร์ (Jean-Claude Juncker) ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission ใช้อักษรย่อว่า EC) อันเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป, ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส, และนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ณ กรุงปารีส ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี ได้แสดงความสนับสนุนอย่างเปิดเผยให้ยุโรปเข้าร่วมแผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง เธอไม่ได้พูดเช่นนี้เพียงเพื่อเอาอกเอาใจสี แต่ในความเป็นจริงแล้วมันคือการพูดแสดงความคิดเห็นจากการสังเกตการณ์ความเป็นจริงของโลกในเวลานี้

ประการแรกทีเดียว นโยบาย “อเมริกาต้องมาเป็นอันดับแรก” (America First) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เป็นไปตามชื่อของมันนั่นแหละ อเมริกาถือว่าผลประโยชน์ของอเมริกันนั้นอยู่เหนือกว่าผลประโยชน์ของคนอื่นๆ การประกาศขึ้นพิกัดอัตราศุลกากรที่เก็บจากเหล็กกล้า, อลูมิเนียม, และสินค้าอื่นๆ ของอียูซึ่งส่งเข้าสู่สหรัฐฯ โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อ “ความมั่นคงแห่งชาติ” ของอเมริกานั้น เป็นสิ่งที่ไร้สาระและไร้เหตุผล สหภาพยุโรปนั้นไม่เคยเลยที่จะกลายเป็นภัยคุกคามสหรัฐฯ และอันที่จริงแล้วได้เป็นและยังคงเป็นพันธมิตรและผู้คอยติดสอยห้อยตามอย่างซื่อสัตย์เหนียวแน่นของอเมริกาต่างหาก ทรัมป์ยังกำลังข่มขู่ที่จะขึ้นภาษีศุลกากรเอากับสินค้าอียูในมูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากเขากล่าวหาว่าสหภาพยุโรปกำลังให้การอุดหนุนแอร์บัส คู่แข่งขันสำคัญที่สุดในด้านการบินของโบอิ้ง ถ้าหากทรัมป์ขึ้นพิกัดอัตราศุลกากรดังกล่าวนี้จริงๆ และสืบต่อการข่มขู่คุกคามใหม่ๆ ต่อไปอีกแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯก็จะตกอยู่ในความเสี่ยง

ประการที่สอง สหภาพยุโรปเองขาดแคลนชุดเครื่องมือทางการเงิน ที่จะนำพาเหล่าชาติสมาชิกของตนให้หลุดออกมาจากหลุมบ่อลึกทางเศรษฐกิจ ซึ่งวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2008 ที่เริ่มต้นขึ้นในสหรัฐฯได้ก่อขึ้นมา ยอดหนี้สินโดยรวมของภาครัฐบาลในอียูได้พุ่งสูงเลยระดับ 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2018 ทั้งนี้ตามข้อมูลของ สแตติสตา (Statista) บริษัทที่ปรึกษาซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ อันที่จริงอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพี (debt-to-GDP ratio) นี้ของบางประเทศอียู อย่างเช่น กรีซ, อิตาลี, และโปรตุเกส อยู่ในระดับเลย 100% แล้วด้วยซ้ำ ระดับหนี้สินเหล่านี้บ่งบอกให้ทราบว่า ไม่ว่าสหภาพยุโรปโดยรวม หรือพวกรัฐสมาชิกที่ติดหนี้ติดสินสูงลิ่วทั้งหลาย ต่างอับจนไม่มีหนทางวิธีการด้านการคลังอันเข้มแข็ง ที่จะสามารถนำมาใช้เพื่อกระตุ้นผลักดันนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจอันทรงประสิทธิภาพได้

ในอีกด้านหนึ่ง สหภาพยุโรปก็ไม่ได้มีนโยบายทางการเงินที่ทรงประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน เนื่องจากธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank ใช้อักษรย่อว่า ECB) แสดงท่าทีว่ายังคงต้องประคับประคองใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของตนที่ระดับ 0% ต่อไปอีก อย่างน้อยก็จนกระทั่งถึงกลางปี 2019 นี้ หากไม่ยาวนานไปกว่านั้น

ประการที่สาม ระบบเศรษฐกิจอื่นๆ เป็นต้นว่า อินเดีย และญี่ปุ่น ต่างไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะซื้อหาสินค้าออกของสหภาพยุโรปในปริมาณมากๆ ได้ เศรษฐกิจของอินเดียยังถือว่าค่อนข้างเล็ก โดยประมาณการกันว่าอยู่ในระดับประมาณ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อคำนวณโดยใช้เงื่อนไขอัตราแลกเปลี่ยนตามตัวเลข นอกไปจากนั้นแล้ว อินเดียยังกำลังแสดงท่าทีปกป้องคุ้มครองพวกอุตสาหกรรมภายในประเทศของตนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับเศรษฐกิจของญี่ปุ่น อยู่ในสภาพเลวร้ายกว่าของสหภาพยุโรปเสียอีก โดยคาดการณ์กันว่าจะเติบโตขยายตัวได้เพียงแค่ 1% ในปี 2019 ในสภาวการณ์เช่นนี้ ญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกัน ไม่น่าที่จะสามารถซื้อหาสินค้าส่งออกของอียูได้อย่างเพียงพอที่ก่อให้เกิดความแตกต่างขึ้นมา

ดังนั้น แมร์เคิล น่าจะถูกต้องแล้ว –ยุโรปแทบไม่มีทางเลือกอื่นใดเลย นอกจากต้องร่วมมือกับจีนและเข้าร่วมแผนการริเริ่มแถบและเส้นทางของแดนมังกร จีนนั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบและเห็นชัดเจนว่ามีความแตกต่างจากยุโรปทั้งในแง่มุมของประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม, และความคิดอุดมการณ์ ทว่าจีนก็ไม่ได้กำลังเป็นภัยคุกคาม อย่างที่สหรัฐฯและบางคนบางฝ่ายในแวดวงข้ารัฐการอียูกล่าวอ้างออกมา

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

เคน โมค สอนวิชาทฤษฎีเศรษฐกิจ, นโยบายภาคสาธารณะ, และกระแสโลกาภิวัตน์ในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 33 ปี เขายังเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง China's Economic Rise and Its Global Impact (Palgrave McMillan, 2015) สำหรับหนังสือเล่มที่ 2 ของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า Developed Nations and the Impact of Globalization เพิ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Palgrave McMillan Springer

หมายเหตุผู้แปล

[1] ในตอนท้ายของข้อเขียนเรื่อง Commentary: Sri Lanka's debt problem wasn't made in China (บทวิจารณ์: ปัญหานี้สินของศรีลังกาไม่ได้ เมดอินไชน่า) ที่ เคน โมค นำมาอ้างอิงนี้ ได้ให้ประวัติย่อของผู้เขียนทั้ง 2 เอาไว้ดังนี้:

ดุสะนี วีราคูน (Dushni Weerakoon) เป็นผู้อำนวยการบริหารและหัวหน้าฝ่ายวิจัยนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Policy Research) ณ สถาบันนโยบายศึกษาแห่งศรีลังกา (Institute of Policy Studies of Sri Lanka)

ซิซิรา จายาสุริยา (Sisira Jayasuriya) เป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ในภาควิชาเศรษฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) ประเทศออสเตรเลีย และเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณของภาควิชาเศรษฐศาสตร์ อาร์นด์ต-คอร์เดน (Arndt-Corden Department of Economics) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University)


ดูเพิ่มเติมได้ที่
https://www.channelnewsasia.com/news/commentary/sri-lanka-debt-port-borrowing-problem-not-made-in-china-11309738)


กำลังโหลดความคิดเห็น