xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯพยายามซ้ำเติมบาดแผล “อุยกูร์” ของจีนให้ยิ่งชอกช้ำหนัก

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม.เค ภัทรกุมาร

<i>รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ต้อนรับพวกนักเคลื่อนไหวชาวอุยกูร์ ที่กรุงวอชิงตัน วันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา </i>
US lacerates China’s Uighur wound
By M.K. Bhadrakumar
28/03/2019

ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ พบปะหารือกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวมุสลิมชาวอุยกูร์ในกรุงวอชิงตันเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นี่เป็นการเดินหมากเพื่อต้องการทำให้ “ปัญหาชาวอุยกูร์” กลายเป็นประเด็นปัญหาระดับทวิภาคีระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งขึ้นมา

รัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ ของสหรัฐฯ พบปะหารือกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวมุสลิมชาวอุยกูร์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา เรื่องนี้ย่อมไม่ใช่เหตุการณ์ทางการทูตตามกิจวัตรปกติแต่อย่างใด

เห็นได้อย่างชัดเจนด้วยว่า การพบปะครั้งนี้ไม่ได้มีอะไรเป็นเรื่องส่วนตัวด้วยเช่นกัน ถึงแม้พอมเพโอขึ้นชื่อว่าเป็นชาวคริสเตียนผู้เคร่งศาสนาที่มาจากรัฐแถบมิดเวสต์ของสหรัฐฯซึ่งมีนิสัยพลิกอ่านคัมภีร์ไบเบิลอยู่เป็นประจำ แต่ความเลื่อมใสศรัทธาศาสนาของเขาก็ดูจะสิ้นสุดอยู่แค่นั้นแหละ และไม่ได้ขยับขยายขอบเขตออกไป จนครอบคลุมถึงความอาทรห่วงใยในสวัสดิภาพของชาวมุสลิมทั่วโลก –ยิ่งเป็นชาวมุสลิม (ปาเลสไตน์) ซึ่งพำนักอาศัยในดินแดนฉนวนกาซาหรือเวสต์แบงก์ก็ยิ่งไม่ต้องพูดกันเลย

เป็นอันแจ่มแจ้งแจ๋วแหววว่า วอชิงตันขยับเดินหมากตานี้แบบคาดคำนวณเอาไว้ก่อนแล้วว่า ต้องการจะทำให้ “ปัญหาชาวอุยกูร์” กลายเป็นประเด็นปัญหาระดับทวิภาคีระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งขึ้นมา

ตามเอกสารถอดเสียงคำพูดซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.state.gov/r/pa/prs/ps/2019/03/290713.htm ) ระบุว่า พอมเพโอได้ให้คำมั่นสัญญาแก่พวกนักเคลื่อนไหวมุสลิมอุยกูร์ว่า “สหรัฐฯสนับสนุนให้ยุติการรณรงค์ของจีนที่มุ่งปราบปรามคัดค้านอิสลามตลอดจนศาสนาอื่นๆ”

ในเอกสารถอดเสียงคำพูดนี้ ยังมีการอ้างอิงถึงสิ่งที่เรียกว่า “พวกค่ายกักกันซึ่งจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2017” ในซินเจียง ตลอดจน “การรณรงค์กดขี่ปราบปราม” ที่จีนกระทำกับชาวอุยกูร์จำนวนเป็นล้านคนหรือมากกว่านั้นอีก ผู้ซึ่ง “ไม่สามารถที่จะพูดจาเป็นปากเสียงให้แก่พวกเขาเอง ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี ไม่สามารถขบคิดเพื่อตัวพวกเขาเอง และไม่สามารถกระทั่งทำตามหลักปฏิบัติข้อพื้นฐานที่สุดของศาสนาของพวกเขา”

เอกสารถอดเสียงพูดนี้ยังกล่าวหาพวกผู้มีอำนาจรับผิดชอบชาวจีนว่า ได้กระทำต่อชาวอุยกูร์ ทั้งในเรื่องการ “ทรมาน, ใช้มาตรการตรวจตราอย่างมุ่งกดขี่ปราบปราม, บังคับให้พำนักค้างแรมในสถานที่ที่กำหนด และบังคับให้กินเนื้อหมูและดื่มแอลกอฮอล์ ... ริบคัมภีร์อัลกุรอาน, รวมทั้งเกิดกรณีการละเมิดทางเพศและการเสียชีวิต”

นี่ย่อมเป็นการประณามจีนอย่างหนักหน่วงเป็นพิเศษทีเดียว –กระนั้นก็ไม่ได้มีการเอ่ยถึงสถานการณ์ต้นสายปลายเหตุเพื่อเป็นเครื่องยืนยันรับรองให้หนักแน่นแต่อย่างใด ต้องไม่ลืมว่าซินเจียงก็เป็นประเด็นปัญหาอ่อนไหวอย่างยิ่งสำหรับจีนด้วยเช่นกัน ไม่ต้องจึงสงสัยเลยว่า ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของสหรัฐฯคือพฤติการณ์มุ่งยั่วยุจีนโดยเจตนา

ออกจะเป็นภาวะย้อนแย้งกันอยู่ ในเมื่อการรณรงค์อย่างประสานงานกันใหญ่โตทางสื่อมวลชนโดยมีสหรัฐฯเป็นผู้นำ ว่าด้วย “ค่ายกักกัน” ในซินเจียงคราวนี้ กลับกำลังล้มเหลวมิได้ระเบิดเปรี้ยงป้างอย่างที่วาดหวัง เห็นได้ชัดเจนจากการที่สหรัฐฯไม่สามารถผลักดันให้เรื่องซินเจียงกลายเป็นประเด็นปัญหาของชาวมุสลิมซึ่งสร้างความยิ่งยากซับซ้อนให้แก่ความสัมพันธ์ที่จีนมีอยู่กับโลกอิสลามได้ ประเทศ 2 ประเทศที่เป็นเสมือนแสงไฟประภาคารคอยสาดส่องนำทางอย่างสำคัญที่สุดในโลกอิสลาม อันได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย และอิหร่าน ต่างถอยห่างไม่ยุ่งเกี่ยวกับการรณรงค์ของโลกตะวันตกว่าด้วยชาวมุสลิมอุยกูร์ ในความเป็นจริงแล้ว เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย กลับแสดงการยกย่องบรรดานโยบายระดับชาติของปักกิ่งที่นำมาใช้กับประชากรมุสลิมในซินเจียงและในมณฑลอื่นๆ ของจีนด้วยซ้ำ

สมควรที่จะกล่าวว่า แผนการเล่นเกมของสหรัฐฯซึ่งวาดหวังที่จะนำยุทธศาสตร์ยุคสงครามเย็นกลับมาใช้ใหม่เพื่อขุดหลุมพรางให้ลัทธิสังคมนิยมเป็นปรปักษ์กับศาสนาอิสลามนั้น ในกรณีปัจจุบันซึ่งเกี่ยวข้องกับซินเจียงแล้ว ได้ประสบความล้มเหลวไม่สามารถเรียกหาลูกค้าเข้ามาอุดหนุนได้ การรณรงค์ของสหรัฐฯว่าด้วยซินเจียงเผชิญความเพลี่ยงพล้ำอย่างหนักหน่วง เมื่อการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศขององค์การการประชุมอิสลาม (Organization of Islamic Conference ใช้อักษรย่อว่า OIC) ที่กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 1-2 มีนาคมที่ผ่านมา มีมติอันเด็ดเดี่ยวที่จะหันหลังไม่เอาด้วยกับวอชิงตัน

มติเกี่ยวกับเรื่องนี้ของ โอไอซี นั้น นอกเหนือจากด้านอื่นๆ แล้ว ยังได้กล่าวทบทวนถึง “ผลลัพธ์ต่างๆ ของการเยือน” จีน (รวมทั้งซินเจียงด้วย) ของคณะผู้แทนโอไอซีในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และกล่าวว่า โอไอซี “ขอชมเชยความพยายามของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการให้ความเอาใจใส่ดูแลพลเมืองชาวมุสลิมของตน และเฝ้ารอโอกาสที่จะมีความร่วมมืออันคืบหน้าต่อไปอีก ระหว่างโอไอซีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน”

เปรียบเทียบกันแล้ว มติของโอไอซีที่พูดถึงรัฐบาลชาตินิยมฮินดูชุดปัจจุบันในอินเดีย มีการใช้ถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงรุนแรงกว่าเยอะ เป็นต้นว่า มติดังกล่าวของโอไอซีระบุว่า

(โอไอซี) “แสดงความวิตกกังวลอย่างลึกซึ้งต่อกิจกรรมที่กำลังขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของกลุ่มฮินดูสุดโต่งในการต่อต้านชาวมุสลิมในอินเดีย ด้วยการพยายามสร้างวัดฮินดูขึ้นมาบนกองซากปรักหักพังของมัสยิดบับรี (Babri Mosque) ที่มีประวัติอันเก่าแก่ยาวนาน, รวมทั้งแสดงความวิตกกังวลต่อการชะลอออกไปอย่างไม่มีความจำเป็นในการวินิจฉัยเรื่องความรับผิดชอบในการรื้อถอนมัสยิดบับรี, และรบเร้ารัฐบาลอินเดียยอมรับให้สร้างมัสยิดบับรีขึ้นมาใหม่บนสถานที่ตั้งดั้งเดิม”

(โอไอซี) “เชื้อเชิญให้เลขาธิการใหญ่ (ของโอไอซี) สืบต่อเฝ้าติดตามสถานการณ์ของชาวมุสลิมในอินเดีย และดำเนินการรวบรวมข้อมูลข่าวสารต่างๆ ต่อไปอีกในเรื่องเกี่ยวกับความท้าทายต่างๆ และความยากลำบากต่างๆ ที่ชาวมุสลิมเหล่านี้กำลังเผชิญอยู่ ทั้งทางการเมือง ทางสังคม และทางเศรษฐกิจ ด้วยความคิดมุมมองที่จะเสนอความช่วยเหลืออันเป็นที่ต้องการแก่พวกเขา และดำเนินการรายงานเรื่องเหล่านี้ในการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งต่อไป”

(โอไอซี) “รบเร้ารัฐบาลอินเดียให้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อปรับปรุงยกระดับสภาพทางเศรษฐกิจของชาวมุสลิมในอินเดีย ในแนวทางที่สอดคล้องกับกับข้อเสนอแนะซึ่งปรากฏอยู่ในรายงานของคณะกรรมการซาชาร์ (Sachar Committee Report)”

(โอไอซี) “แสดงความวิตกกังวลอย่างลึกซึ้งต่อรายงานต่างๆ เกี่ยวกับ 'การบังคับให้เปลี่ยนศาสนา' ที่พวกสุดโต่งฮินดูกระทำกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในอินเดีย โดยผ่านโปรแกรม 'การ์ วัปซี' (Ghar Wapsi) หรือ การรณรงค์ 'ต้อนรับกลับบ้าน' และโปรแกรมการศึกษาต่างๆ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะกำจัดทำลายการปฏิบัติต่างๆ และพิธีการต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับศาสนาอื่นๆ ตลอดจนการบิดเบือนข้อเท็จจริงต่างๆ ในทางประวัติศาสตร์”

(โอไอซี) “บันทึกไว้ด้วยความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งถึงจำนวนกรณีต่างๆ ในอินเดีย ซึ่งประชาชนได้ถูกเข่นฆ่า ถูกจำคุก และถูกปรับ จากการเชือดวัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัน อีด-อัล-อัซฮา (Eid- ul-Azha)”

สมควรที่จะกล่าวได้ว่า ปักกิ่งนั้นประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นในการโน้มน้าวประเทศมุสลิมต่างๆ ให้เห็นว่า ปัญหาซินเจียงไม่ใช่เป็นประเด็นปัญหามุสลิม แต่กระนั้น เราย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนทีเดียวว่า วอชิงตันจะไม่ยอมรับว่า คำว่า “ไม่” คือคำตอบจากโลกมุสลิม

แล้วอะไรหรือซึ่งอาจจะเป็นแรงจูงใจเบื้องหลังความพยายามของพอมเพโอในการย้ำยันการรณรงค์ที่กำลังโซซัดโซเซของสหรัฐฯในประเด็นปัญหาอุยกูร์?

เรื่องนี้อาจขบคิดคาดคำนวณออกมาได้หลายๆ อย่าง การทูตของสหรัฐฯนั้นขึ้นชื่อลือชาในเรื่องการหันไปพึ่งพายุทธวิธีบีบคั้นกดดันเพื่อให้ฝ่ายอื่นๆ ยินยอมอ่อนข้อ เวลานี้สงครามการค้าที่สหรัฐฯกระทำกับจีนกำลังเข้าสู่ขั้นตอนเร้าใจสุดยอด และมันอาจจะคุ้มค่าที่จะเปิด “สงครามจิตวิทยา” ในเมื่อปักกิ่งดูเหมือนกำลังเดินหมากอย่างได้เปรียบเหนือวอชิงตัน

เวลาเดียวกันนั้น วอชิงตันก็กำลังจับตามองพร้อมกับส่งเสียงโวยวายในเรื่องที่จีนกับยุโรปกำลังเข้ากันได้ดีถึงแม้มีความผิดแผกแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน และกำลังแสดงบทบาทนำใน “การบริหารปกครองระดับโลก”

การที่อิตาลีตัดสินใจเข้าร่วมแผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) และการที่แอร์บัสสามารถทำข้อตกลงขายเครื่องบินให้จีนมูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์ เหล่านี้ทำให้สหรัฐฯสูญเสียผลประโยชน์

ไม่เพียงเท่านั้น การที่จีนขยายผลประโยชน์ทางการเงินและทางการพาณิชน์ในเวเนซุเอลา และให้ความสนับสนุนรัฐบาลมาดูโร กำลังเป็นตัวเสริมส่งบทบาทของรัสเซียในการสกัดกั้นการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองที่กำลังตั้งเค้าอยู่ในประเทศนั้น

อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญยิ่งยวดที่สุดในที่นี้ก็คือ ชาวอุยกูร์มีสัดส่วนเป็นเปอร์เซนต์สำคัญทีเดียวในบรรดาผู้ปฏิบัติงานของกลุ่มไอซิส (ISIS อีกชื่อย่อหนึ่งของกลุ่มรัฐอิสลาม) ซึ่งได้สู้รบอยู่ในซีเรียและอิรัก ผู้คนเหล่านี้พ่ายแพ้สงคราม และเวลานี้กำลังรวมตัวกันใหม่ในยุทธบริเวณแห่งอื่นๆ ตามการประมาณการของรัฐบาลซีเรียนั้น อาจจะมีชาวอุยกูร์สูงถึง 5,000 คนทีเดียวที่ได้เคยร่วมสู้รบอยู่กับกลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มต่างๆ ในซีเรีย

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯได้พยายามลดทอนความสำคัญในเรื่องการปรากฏขึ้นมาของกลุ่มไอซิสในอัฟกานิสถาน รวมทั้งยังพยายามลิดรอนคุณค่าในคำเตือนต่างๆ ของฝ่ายรัสเซียและฝ่ายอิหราน แต่ในระยะหลังๆ มานี้ พวกผู้บังคับบัญชาทหารระดับสูงของสหรัฐฯกำลังพูดจาด้วยเสียงที่แตกต่างไปจากเดิมแล้ว พลเอก โจเซฟ โวเทล (Gen. Joseph Votel) ผู้บัญชาการของกองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯ (US Central Command) บอกกับพวกผู้สื่อข่าวขณะไปเยือนอัฟกานิสถานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า “พวกเขา (ไอซิส) เป็นตัวแทนของการคุกคามอันละเอียดอ่อนมากและมีอันตรายมาก ซึ่งเราจำเป็นต้องคอยเฝ้าจับตาเอาไว้”

ในช่วงที่ผ่านไปไม่นานมานี้ มอสโกและเตหะรานได้รายงานให้สหประชาชาติรับทราบรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติการอย่างปิดลับของสหรัฐฯในการโยกย้ายพวกนักรบไอซิสจากซีเรียและอิรักไปยังอัฟกานิสถาน สหรัฐฯได้บ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับในเวลานั้น ทว่าหลังๆ มานี้ สหรัฐฯได้ฉวยใช้การปรากฏตัวของไอซิสในอัฟกานิสถาน มาใช้เป็นหลักฐานสำหรับการที่พวกเขาจะยังคงปรากฏตัวทางทหารในภูมิภาคแถบนี้ต่อไปอย่างไม่มีกำหนดถอนออก แม้กระทั่งภายหลังจากสามารถทำข้อตกลงกับกลุ่มตอลิบานได้แล้ว

พูดกันง่ายๆ ก็คือ การที่พอมเพโอพบปะหารือกับพวกนักเคลื่อนไหวมุ่งแบ่งแยกดินแดนชาวอุยกูร์ ไม่มีทางเห็นเป็นอย่างอื่นไปได้นอกจากจะต้องมองภายในภูมิหลังของการพยายามปิดเกมในอัฟกานิสถาน และการทำให้ไอซิสผงาดขึ้นมาในแถบเทือกเขาฮินดูกูช (Hindu Kush) พอมเพโอเพิ่งทำให้ปัญหาอุยกูร์กลายเป็นประเด็นปัญหาทางการเมืองและทางการทูตระหว่างสหรัฐฯกับจีนไปแล้ว ในเวลาที่พวกหัวรุนแรงจากซินเจียงซึ่งสังกัดอยู่กับกลุ่มไอซิส กำลังโยกย้ายออกจากซีเรียและอิรักมาปักหลักกันใหม่ที่อัฟกานิสถาน

ในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯยังกำลังใช้เรื่องการปรากฏตัวของพวกไอซิสในอัฟกานิสถาน มาเป็นเหตุผลความชอบธรรมที่ตนเองจะตั้งฐานทัพทางทหารและทางข่าวกรองอย่างถาวรขึ้นในประเทศนั้น (ซึ่งมีพรมแดนติดต่ออยู่กับซินเจียงด้วย)

ลองสอบถามขอให้อดีตประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ของอัฟกานิสถาน อธิบายถึงความผิดปกติดูเหมือนขัดแย้งกันเองเช่นนี้ เขาก็จะพูดเพียงว่านี่แหละคือยุทธศาสตร์อย่างเดียวกันเลย กับที่สหรัฐฯใช้อยู่กับกลุ่มตอลิบาน กล่าวคือ ทำสงครามต่อต้านปราบปรามกลุ่มตอลิบานในวิธีการซึ่งจะทำให้สงครามยืดเยื้อออกไป และใช้เป็นเหตุผลความชอบธรรมสำหรับการที่สหรัฐฯจะยังคงปรากฏตัวทางทหารในภูมิภาคที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างสูงนี้ โดยที่เพลเยอร์รายอื่นๆ ยังมีทั้งรัสเซีย, จีน, ปากีสถาน, และอิหร่าน

มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า ในการนำเอาประเด็นปัญหาอุยกูร์เข้าสู่เวทีตรงกลางอันโดดเด่นเช่นนี้ สหรัฐฯมีจุดมุ่งหมายที่จะกัดกร่อน “อำนาจละมุน” (soft power) ของจีนในปากีสถานและอัฟกานิสถาน ซึ่งแน่นอนทีเดียวว่าทั้งสองชาตินี้ต่างเป็นประเทศมุสลิมที่เคร่งครัดศาสนาอย่างลึกซึ้ง

จริงๆ แหละ ถ้าสหรัฐฯสามารถเปลี่ยนอัฟกานิสถานให้กลายเป็นแนวหน้าของรัฐไอซิสที่มุ่งต่อต้านจีนได้แล้ว นั่นจะทำให้ปากีสถานตกอยู่ในฐานะอันสุดแสนกระอักกระอ่วนอีกด้วย นอกเหนือจากเป็นการบ่อนทำลายแผนการของปักกิ่งในการบูรณาการอัฟกานิสถานเข้าไว้ในแผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง

(เก็บความจากเว็บไซต์ indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://indianpunchline.com/us-lacerates-chinas-uighur-wound/)


กำลังโหลดความคิดเห็น