xs
xsm
sm
md
lg

เทปโกเริ่มย้าย ‘แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์’ ออกจากเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เจ้าหน้าที่เทปโกกำลังเคลื่อนย้ายแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ออกจากบ่อเก็บของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในเตาปฏิกรณ์ที่พังเสียหายจากการระเบิดของไฮโดรเจน หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ปี 2011
เอเจนซีส์ - ผู้บริหารโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะของญี่ปุ่นเริ่มเคลื่อนย้ายแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ออกจากอาคารครอบเตาปฏิกรณ์แห่งหนึ่งซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเมื่อปี 2011 แล้วในวันนี้ (15 เม.ย.)

บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ โค (เทปโก) ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ได้เริ่มภารกิจอันยุ่งยากและมีความสุ่มเสี่ยงสูงในการนำแท่งเชื้อเพลิงออกมาจากอาคารครอบเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ที่ปนเปื้อนรังสีเข้มข้น ซึ่งถือว่าล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ถึง 4 ปี

เนื่องจากยังมีรังสีปนเปื้อนในระดับสูง ช่างเทคนิคจึงจำเป็นต้องส่งอุปกรณ์ควบคุมด้วยรีโมตคอนโทรลลงไปยกแท่งเชื้อเพลิงขึ้นมาจากบ่อเก็บ (storage pool) ภายในอาคาร

ปฏิบัติการถูกระงับชั่วคราวเมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (15) เนื่องจากอุปกรณ์ขัดข้อง ก่อนที่จะเริ่มอีกครั้งในเวลาต่อมา

เทปโกประเมินว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีในการเคลื่อนย้ายแท่งเชื้อเพลิงทั้งหมด 566 หน่วยในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ซึ่งส่วนใหญ่ผ่านการใช้งานแล้ว

ยูกะ มัตสึบาระ โฆษกหญิงของเทปโก แถลงว่า ทีมวิศวกรต้องเคลียร์เศษซากจากแผ่นดินไหวและต่อสู้กับปัญหาทางเทคนิคหลายอย่าง

“เราทำงานได้อย่างช้าๆ และต้องมีมาตรการป้องกันฝุ่นซึ่งอาจฟุ้งกระจายขึ้นมาจนทำให้อ่านค่ารังสีได้สูงกว่าความเป็นจริง” เธอให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

อย่างไรก็ตาม วิศวกรเทปโกจะยังไม่พยายามนำแท่งเชื้อเพลิงหลอมละลายซึ่งจมอยู่ลึกที่สุดในเตาปฏิกรณ์ขึ้นมา เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากที่สุด และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้หลังปี 2021 ไปแล้ว

เมื่อเดือน ก.พ. เทปโกได้ทดลองส่งหุ่นยนต์ควบคุมด้วยรีโมตคอนโทรลลงไปเก็บตัวอย่างแท่งเชื้อเพลิงหลอมละลายขนาดเท่าก้อนกรวด เพื่อดูว่าจะสามารถเคลื่อนย้ายได้หรือไม่

สำหรับขั้นตอนถัดไปก็คือการเคลื่อนย้ายตัวอย่างแท่งเชื้อเพลิงหลอมละลายบางส่วน ซึ่งมีกำหนดดำเนินการในเดือน มี.ค. ปี 2020

เทปโกยังต้องรับมือปัญหาท้าทายอีกหลายด้าน ซึ่งรวมถึงการกำจัดน้ำปนเปื้อนรังสีจำนวนมหาศาลที่ยังถูกเก็บเอาไว้ในโรงไฟฟ้า

แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ปี 2011 ส่งผลให้เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1, 2 และ 3 ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิเกิดการหลอมละลาย และนำญี่ปุ่นเข้าสู่วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ครั้งเลวร้ายที่สุดของโลกถัดจากเหตุโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลระเบิดเมื่อปี 1986

เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4-6 ถูกปิดใช้งานเพื่อตรวจเช็คสภาพขณะที่เกิดภัยพิบัติ จึงไม่เกิดการหลอมละลายไปด้วย ทว่าเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ก็ได้เกิดระเบิดขึ้นในอีกหลายวันต่อมา

เทปโกย้ายแท่งเชื้อเพลิง 1,535 หน่วยที่อยู่ในบ่อเก็บของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ออกมาได้ทั้งหมดในเดือน ธ.ค. ปี 2014 และมีเป้าหมายที่จะกระทำภารกิจเดียวกันนี้กับเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และ 2 ในปี 2023 โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนปิดโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะอย่างถาวรซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการราว 40 ปี

กำลังโหลดความคิดเห็น