xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของ‘อียู’ เมื่อ‘จีน’มีอิทธิพลสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะ‘สหรัฐฯ’ก็เพิ่มแรงบีบคั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เปเป้ เอสโคบาร์

นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน จะเป็นประธานร่วมในการประชุมซัมมิตจีน-อียู ที่กรุงบรัสเซลส์ วันที่ 9 เม.ย.นี้
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

EU dilemma: how to deal with China
By Pepe Escobar
17/03/2019

ปักกิ่งกำลังขยายอิทธิพลของตนออกไปในยุโรปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทีละเล็กละน้อย ไม่เพียงเฉพาะภายในสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่ยังภายในอาณาเขตแวดวงขององค์การนาโต้อีกด้วย

เมื่อต้องเผชิญกับการก้าวผงาดขึ้นมาอย่างชนิดไม่อาจต้านทานได้ในทุกๆ ด้านตลอดทั่วทั้งกระดานของจีน แต่ขณะเดียวกันก็ประสบกับแรงกดดันบีบคั้นอย่างไม่ยอมเลิกราของสหรัฐฯ คณะผู้นำของสหภาพยุโรปที่ไม่ค่อยจะเป็นประชาธิปไตยสักเท่าใดนัก จึงกำลังต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างเหน็ดเหนื่อยมากในการกำหนดจัดวางตำแหน่งจุดยืนของตนเอง ในระหว่างทางเลือกทางภูมิรัฐศาสตร์/ภูมิเศรษฐศาสตร์ ซึ่งชวนให้รู้สึกอิหลักอิเหลื่อทั้งสองทาง

สมาชิกอียูทั้ง 28 ชาติมีกำหนดจัดการประชุมครั้งสำคัญยิ่งในสัปดาห์นี้ที่กรุงบรัสเซลส์ โดยที่พวกเขาน่าจะรับรองแผนปฏิบัติการ 10 ประการฉบับหนึ่ง ซึ่งระบุรายละเอียดในลักษณะของข้อสรุปภาพรวม เกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันเสมอภาคเท่าเทียมกับระหว่างสหภาพยุโรปกับจีนในระยะเวลาต่อไปข้างหน้า

เรื่องนี้จะเกิดขึ้นในขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนไปเยือนอิตาลี แล้วจากนั้นก็ฝรั่งเศส –ก่อนหน้าการประชุมซัมมิตประจำปีจีน-อียูที่มีความสำคัญยิ่งในกรุงบรัสเซลส์วันที่ 9 เมษายน โดยที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีนจะเข้านั่งเป็นประธานร่วม

เหล่านี้แหละคือบริบทอันสำคัญยิ่งยวดซึ่งแวดล้อมการที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission หรือ EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู เสนอแนะสิ่งที่อีซีบรรยายว่า เป็น “การปฏิบัติการ” รูปธรรม 10 ประการต่อบรรดาประมุขแห่งรัฐของอียู เพื่อให้พวกเขาอภิปรายถกเถียงกันในที่ประชุมคณะมนตรียุโรป (European Council ที่ประชุมของบรรดาประมุขแห่งรัฐของสหภาพยุโรป) ระหว่างวันที่ 21 และ 22 มีนาคมนี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://ec.europa.eu/commission/publications/eu-china-strategic-outlook-commission-contribution-european-council-21-22-march-2019_en)

สำหรับรายงานฉบับเต็มของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งใช้ชื่อว่า อียู-จีน: ทิศทางแนวโน้มเชิงยุทธศาสตร์ (EU-China – A Strategic Outlook) สามารถดูได้ที่ https://ec.europa.eu/commission/sites/beta-political/files/communication-eu-china-a-strategic-outlook.pdf

ในรายงานของอีซีฉบับดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าในปี 2017 (ปีล่าสุดที่สามารถหาตัวเลขได้) อียูได้กลายเป็น “คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนโดยมีส่วนแบ่ง 13% ในสินค้านำเข้าทั้งหมดซึ่งเข้าสู่จีน และพร้อมกันนั้นก็มีส่วนแบ่ง 16% ของสินค้าออกทั้งหมดที่ออกมาจากจีน” เวลาเดียวกันนั้น อีซีก็เน้นย้ำว่าจีนมีฐานะเป็น “คู่แข่งขันทางเศรษฐกิจ” รายหนึ่ง และเป็น “ปรปักษ์เชิงระบบรายหนึ่งซึ่งกำลังส่งเสริมสนับสนุนรูปแบบการบริหารปกครองที่ผิดแผกแตกต่างออกไป”

กระนั้น สิ่งที่อียูมุ่งสร้าง “คุณูปการ” ให้แก่การอภิปรายถกเถียงของคณะมนตรียุโรปในสัปดาห์นี้ ก็ไม่ได้ออกมาในทิศทางมุ่งให้เกิดการเผชิญหน้ากับจีน มันห่างไกลจากลักษณะนั้นเอามากๆ ด้วยซ้ำ โดยเป็นข้อเสนอแนะการปฏิบัติการแบบมุ่งรักษาสมดุล ซึ่งซุกซ่อนอยู่ภายใต้ถ้อยคำศัพท์แสงแบบระบบข้ารัฐการอียู ในความพยายามที่จะทำให้เกิด “การตกลง” ร่วมของรัฐสมาชิกทั้ง 28 รายขึ้นมา

ปัญหาแท้จริงที่ยังคงอยู่และคาดการณ์ได้

สิ่งซึ่งกำลังจะออกมาจากอีซี/อียู น่าจะได้แก่การแสดงความสนับสนุนหลักการของ “การมีความสัมพันธ์แบบพหุภาคีนิยมที่ทรงประสิทธิภาพโดยที่มีสหประชาชาติเป็นแกนกลาง” --และก็โดยที่นำเอาจีนมาบูรณาการกับความสัมพันธ์พหุภาคีนี้อย่างเต็มที่

ปักกิ่งนั้นได้รับคำยกย่องชมเชยจากฝ่ายยุโรป สำหรับการแสดงความสนับสนุนข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน, บทบาทของจีนในกระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ, บทบาทที่กำลังปรากฏออกมาของแดนมังกรในกระบวนการสันติภาพในอัฟกานิสถาน และในการแก้ไขคลี่คลายวิกฤตชาวโรฮิงญาในพม่า ปัญหาจริงๆ ที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะยังเป็นข้อขัดขวางอยู่ ย่อมได้แก่การที่ปักกิ่งกล่าวอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนทางทะเลในทะเลจีนใต้

ในสภาพที่เป็นจริงแล้ว ไม่มีใครนอกเหนือจากพวกข้ารัฐการยูโรที่บรัสเซลส์หรอก ซึ่งรู้เรื่องดีเกี่ยวกับการดำรงคงอยู่ของเอกสารที่มีชื่อเรียกว่า “ยุทธศาสตร์อียูว่าด้วยการเชื่อมต่อระหว่างยุโรปกับเอเชีย” (EU Strategy on Connecting Europe and Asia) นี่เป็นหนึ่งในประดาแถลงการณ์ร่วมของผู้นำอียูที่ไม่มีใครอ่าน ซึ่งออกมาเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยที่มีเนื้อหามุ่งทำให้ “สหภาพยุโรปสามารถที่จะแสดงหาการประสานกำลังกันระหว่างอียูกับพวกประเทศที่สาม อันรวมทั้งจีนด้วย ในด้านการเชื่อมต่อกันทางการคมนาคมขนส่ง, พลังงาน, และดิจิตอล บนพื้นฐานของบรรทัดฐานสากลและมาตรฐานสากล”

สิ่งที่ดูประหลาดก็คือ ในรายงานที่อีซีส่งไปให้คณะมนตรียุโรปพิจารณานี้ ไม่ได้มีการเอ่ยพาดพิงอะไรเลยเกี่ยวกับเส้นทางสายไหมใหม่ หรือที่มีชื่อเรียกขานกันในปัจจุบันว่า แผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative ใช้อักษรย่อว่า BRI) –ซึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นแผนแม่บทใหญ่ของจีนในการประสานกำลังกันกับทั่วทั้งมหาทวีปยูเรเชีย โดยที่เราสามารถให้คำจำกัดความได้ว่า มันก็คือโลกาภิวัตน์ เวอร์ชั่น 3.0 (Globalization 3.0)

ในอีกด้านหนึ่ง แผนการ “เมดอินไชน่า 2025” (Made in China 2025) ของปักกิ่งกลับถูกอ้างอิงพูดถึงเอาไว้อย่างเหมาะสม โดยไม่ได้อยู่ในลักษณะที่ทำให้แผนการนี้กลายเป็นปีศาจร้าย ในสไตล์ของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์

จากทัศนะมุมมองของอียูนั้น ปัญหาสำคัญที่สุดยังคงเป็นเรื่อง “การขาดไร้การเข้าถึงตลาดในลักษณะต่างตอบแทน” (lack of reciprocal market access) อียูนั้นเรียกร้องต้องการให้พวกบริษัทยุโรปสามารถเข้าถึงตลาดจีนได้เพิ่มขึ้นกว่านี้อย่างมากๆ, เรียกร้องต้องการให้ทางการจีนให้การอุดหนุนพวกบริษัทแดนมังกรลดน้อยลง, และตัดลดข้อกำหนดให้ต้องมีการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากพวกกิจการของยุโรปไปให้แก่กิจการร่วมลงทุนในประเทศจีนซึ่งพวกเขาลงทุนกับรัฐวิสาหกิจของแดนมังกร

ทั้งหมดนี้ควรที่จะเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงว่าด้วยระเบียบกฎเกณฑ์ทางการลงทุนซึ่งมีกำหนดจะตกลงกันให้ได้ภายในปี 2020

การปฏิบัติการประการที่ 9 ซึ่งเสนอแนะเอาไว้ในรายงานของอีซีฉบับนี้ มีเนื้อหาที่ค่อนข้างเปิดเผยชัดเจนไม่กำกวม โดยกล่าวเอาไว้ว่า “เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบด้านความมั่นคงปลอดภัยอย่างร้ายแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลอันสำคัญยิ่งยวดขึ้นมา จำเป็นที่อียูจะต้องมีวิธีดำเนินการร่วมในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของเครือข่าย 5จี” แล้วก็อย่างเคยๆ ตามธรรมเนียมปฏิบัติของสหภาพยุโรป เพื่อที่จะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่อง “วิธีดำเนินการร่วมในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของเครือข่าย 5จี” นี้ อีซีก็จะจัดทำ “ข้อเสนอแนะ” อีกชุดหนึ่งออกมา

ดูเหมือนมีความเป็นไปได้มากทีเดียวที่พวกข้ารัฐการยูโรกำลังเกิดความสับสนในระดับที่ต้องบอกว่าเยอะแยะพอดู เพราะในทางเป็นจริงแล้วเราย่อมไม่สามารถที่จะตัดขาด BRI ออกจาก เมดอินไชน่า 2025 ได้ ไม่สามารถที่จะตัดขาด 5จี ออกจากเทคโนโลยีหัวเว่ยได้ มันเป็นส่วนทั้งหมดของแพกเกจเดียวกัน ถึงกระนั้นอียูก็กำลังตกอยู่ใต้แรงบีบคั้นกดดันหนักจากวอชิงตันให้แบนหัวเว่ยและให้เลิกล้มความคิดที่จะเข้าร่วม BRI ถึงแม้ในทางเป็นจริงแล้วรัฐสมาชิกอียูเกือบๆ 20 รายกำลงเชื่อมต่อหรือกำลังแสดงความสนใจในการเชื่อมต่อกับ BRI อีกทั้งรัฐสมาชิกอียูส่วนข้างมากยังแสดงความสนใจในเทคโนโลยี 5จี ของจีน

พวกนักการทูตในบรัสเซลส์ยืนยันกับทางเอเชียไทมส์ว่า รายงานของอีซีฉบับนี้โดยพื้นฐานแล้วเขียนขึ้นมาโดยเยอรมนีกับฝรั่งเศส และใช่แล้ว พวกเขาต้องรับมือกับแรงบีบคั้นกดดันอย่างหนักหน่วงจากสหรัฐฯ

รายงานของอีซีฉบับนี้ มีการเก็บงำซ่อนเร้นส่วนประกอบอันมีน้ำหนักสำคัญทว่ากำกวมคลุมเครือ ที่ระบุถึง “ภัยคุกคามจากจีน” เอาไว้ด้วย ถึงแม้ไม่ได้เปิดเผยโจ่งแจ้งแบบในรายงานว่าด้วยยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จุดยืนเช่นนี้แหละที่พันธมิตรปารีส-เบอร์ลินเชื่อว่า มันอาจจะส่งอิทธิพลต่อ “พวกหัวดื้อหัวรั้น” อย่างเช่น กลุ่ม 16+1 ของชาติยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกซึ่งกำลังทำธุรกิจอยู่กับจีน ตลอดจนอิตาลีที่กำลังจะเชื่อมโยงติดต่อกับ BRI ในเร็ววันนี้

ทว่าในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่พวกเขายังคงพยายามขัดขวางไม่ให้เกิดขึ้นมานั้น ต่างก็เป็นดีลที่สำเร็จเสร็จสิ้นกันไปเรียบร้อยแล้ว --อย่างที่ผมได้เขียนให้รายละเอียดเอาไว้ในกรณีของอิตาลี (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.asiatimes.com/2019/03/article/marco-polo-is-back-in-china-again/) [1]

“ภัยคุกคามต่อการดำรงคงอยู่”

ปักกิ่งกำลังประสบความสำเร็จไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย นี่เป็นอะไรบางอย่างซึ่งพวกชนชั้นนำในกรุงวอชิงตันทนแบกรับไม่ไหว แถมการขยายอิทธิพลบารมีของจีนยังไม่ใช่อยู่เพียงเฉพาะภายในอียู หากแต่ภายในอาณาเขตแวดวงขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) อีกด้วย

ถึงแม้พวกกลุ่มที่มีอิทธิพลลึกล้ำแฝงฝังอยู่ในอำนาจรัฐของสหรัฐฯ (US Deep State) อาจจะมีข้อสรุปเกี่ยวกับ BRI –รวมทั้ง “เมดอินไชน่า 2025” และ 5จีของหัวเว่ย ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ภัยคุกคามต่อการดำรงคงอยู่” ประการหนึ่งของโลกตะวันตก ทว่านั่นไม่ได้เป็นความคิดเห็นของพวกรัฐสมาชิกอียูส่วนใหญ่ ตั้งแต่กรีซไปจนถึงโปรตุเกส ไปจนถึงพวกนักอุตสาหกรรมชาวเยอรมัน และไปจนถึงคณะบริหารชุดใหม่ในกรุงโรมซึ่งประกอบไปด้วยพรรคเลกาและกลุ่ม 5 ดาว (Lega/Five Stars)

บรัสเซลส์รู้เป็นอันดีว่าวอชิงตันจะลงโทษ “พันธมิตร” รายใดก็ตามทีที่เข้าไปใกล้ชิดกับปักกิ่งมากเกินไป ทั้งนี้เรายังคงสามารถที่จะพูดย้ำกันบ่อยๆ เพื่อให้ระลึกเอาไว้ว่า ในบัญชีรายชื่อ “ภัยคุกคาม” ทางเศรษฐกิจตามความคิดอ่านของสหรัฐฯนั้น มีการเรียงลำดับเอาไว้เช่นนี้คือ จีน, รัสเซีย, และเยอรมนี แล้วเวลานี้อิตาลีก็กำลังถูกจับตรึงอยู่ในตำบลกระสุนตกด้วยเช่นกัน เนื่องจากโรมให้คำมั่นสัญญาที่จะมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันดีกับทั้งจีนและรัสเซีย

โรมได้ส่งข้อความอันชัดเจนไปถึงบรัสเซลส์แล้วว่า นอกเหนือไปจาก “การตกลง” ร่วม ใดๆ ของอียูในการเผชิญกับจีนแล้ว สิ่งที่มีความหมายความสำคัญที่โรมจะให้ความสนใจก็คือสิ่งที่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติของอิตาลี ตัวอย่างเช่น การเชื่อมท่าเรือของเวนิส, ทริเอสเต, และเจนัว เข้ากับเส้นทางสายไหมใหม่ พวกแอตแลนติกนิยม (Atlanticists พวกที่เชื่อและสนับสนุนความสัมพันธ์อันใกล้ชิดแนบแน่นระหว่างสองฟากฝั่งแอตแลนติก นั่นคือระหว่างสหรัฐฯและแคนาดา กับพวกชาติในยุโรป -ผู้แปล) ที่รู้สึกว่ากำลังมีภัยคุกคาม เวลานี้โดยเนื้อหาสาระแล้วพวกเขากำลังกล่าวตักเตือนฝ่ายอิตาลีว่าไม่สามารถที่จะก้าวข้าม “เส้นสีแดง” ได้ โรมจะต้องขออนุญาตก่อนจะทำอะไรอย่างอิสระเช่นนั้น ทว่าเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นหรอก –ไม่ว่าอีซีจะตกลง “เสนอแนะ” อะไรออกมาก็ตามที
นักท่องเที่ยวชาวจีนไม่เบื่อหน่ายกับกรุงโรม, เวนิส, ฟลอเรนซ์ –และการไปช็อปปิ้งที่มิลาน
หมายเหตุผู้แปล

[1] ข้อเขียนของ เปเป้ เอสโคบาร์ ในเอเชียไทมส์ ซึ่งอธิบายว่า อิตาลีมีการต่อเชื่อมกับ “เส้นทางสายไหมใหม่” อย่างชนิดที่สหรัฐฯหรือสหภาพยุโรปพยายามขัดขวางอย่างไรก็จะไม่ประสบความสำเร็จ มีเนื้อหาดังนี้:


‘อิตาลี’เชื่อมต่อกับ‘จีน’ผ่านเส้นทางสายไหม –อีกครั้ง
โดย เปเป้ เอสโคบาร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Marco Polo is back in China – again
By Pepe Escobar
10/03/2019

ถนนทุกสายดูเหมือนกำลังนำไปสู่กรุงโรม ขณะที่อิตาลีแสดงออกซึ่งความรักของตน ที่มีต่อ “แผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง” ของจีน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน มีกำหนดเดินทางไปถึงอิตาลีเพื่อการเยือนอย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 22 มีนาคมนี้ โดยหัวข้อใหญ่ที่สุดของการหารือกับฝ่ายผู้นำแดนพาสตาจะเป็นเรื่องเส้นทางสายไหมใหม่ หรือที่ในปัจจุบันมีชื่อเรียกขานว่า แผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI)

ช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น ในกรุงบรัสเซลส์ สหภาพยุโรปก็มีกำหนดที่จะอภิปรายหารือเรื่องยุทธศาสตร์ร่วมซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนของจีนในยุโรป

อันที่จริง หลายๆ รัฐสมาชิกของอียูมีการต่อเชื่อมกับ BRI ในทางพฤตินัยเรียบร้อยไปแล้วด้วยซ้ำ นี่ก็รวมไปถึงกรีซ, โปรตุเกส, 11 ชาติอียูที่เข้าร่วมอยู่ในกลุ่ม 16+1 ซึ่งประกอบด้วยจีนบวกประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก แล้วก็ … อิตาลี ด้วย อันเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในทางปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวง

แต่กระนั้น มันก็ต้องจนกระทั่ง เมื่อ มิเกเล เจราชี (Michele Geraci) ปลัดกระทรวงของกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจอิตาลี บอกกับไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) ว่า ระหว่างการไปเยือนของประธานาธิบดีสีคราวนี้ จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุน BRI นั่นแหละ จึงได้ทำให้ใครต่อใคร โดยเฉพาะทำเนียบขาว เกิดความรู้สึกเหมือนนรกแตก (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ft.com/content/17f91d24-3f60-11e9-b896-fe36ec32aece)

ไฟแนนเชียลไทมส์นั้นไม่ได้รู้สึกอับอายในการตกแต่งใส่ความเห็นให้ความหมายเพื่อให้เข้ากับแนวของตนอยู่แล้ว จึงเรียก BRI ว่าเป็น “โปรแกรมด้านโครงสร้างพื้นฐานซึ่งกำลังก่อให้เกิดการโต้เถียงกัน” แท้ที่จริงแล้ว BRI คือโปรเจ็คต์แห่งการบูรณาการมหาทวีปยูเรเชีย ที่มีขนาดขอบเขตกินพื้นที่อันกว้างไกลและระยะเวลาอันยาวนาน อีกทั้งเป็นโปรแกรมการพัฒนาซึ่งประหนึ่งจะครอบคลุมทั่วโลกเพียงโปรแกรมเดียวเท่านั้นที่มีอยู่ในตลาดเวลานี้ ไม่ว่าตลาดไหนก็ตามที มัน “ก่อให้เกิดการโต้เถียงกัน” อย่างเป็นพิเศษทีเดียวสำหรับวอชิงตัน เพราะรัฐบาลสหรัฐฯนั้นได้ตัดสินใจแล้วที่จะตั้งตัวเป็นปรปักษ์กับโปรเจ็คต์นี้ แทนที่จะหาผลกำไรจากมัน ดังที่ผมเองได้เคยเขียนอธิบายเอาไว้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://consortiumnews.com/2019/02/04/pepe-escobar-maga-misses-the-eurasia-train/)

โฆษกผู้หนึ่งของสภาความมั่นคงแห่งชาติทำเนียบขาว กล่าวเยาะเย้ยดูถูก BRI เอาไว้ว่า เป็นเพียงโปรเจ็คต์ “ผลิตโดยประเทศจีน เพื่อประเทศจีน” ทว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้นหรอก ไม่ยังงั้นแล้ว ประเทศและองค์การระหว่างประเทศไม่ต่ำกว่า 152 แห่ง (และยังคงกำลังเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ) ก็คงจะไม่ให้การรับรองเห็นชอบกับBRI อย่างเป็นทางการหรอก

ฝ่ายจีนได้ตอบโต้อย่างกึ่งทางการต่อการปรามาสเช่นนี้ของทำเนียบขาว (ถ้าหากไม่นับการแสดงความคิดเห็นของกระทรวงการต่างประเทศในกรุงปักกิ่ง ซึ่งปกติแล้วจะเป็นไปในลักษณะเชิงการทูต) โดยปรากฏออกมาในรูปของบทบรรณาธิการที่ไม่ลงนามผู้เขียนและใช้ถ้อยคำอันเจ็บแสบ ตีพิมพ์เผยแพร่ทางโกลบอลไทมส์ (Global Times สื่อแท็บลอยด์และออนไลน์ในเครือของ เหรินหมินรึเป้า หรือ People’s Daily ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน -ผู้แปล) บทบรรณาธิการชิ้นนี้กล่าวหายุโรปว่ากำลังตกอยู่ใต้อำนาจบังคับของนโยบายการต่างประเทศของวอชิงตัน และกลุ่มพันธมิตรระหว่างสองฟากฝั่งแอตแลนติกนั้นไม่ได้มีความสอดคล้องกับความจำเป็นกับความต้องการของคริสต์ศตวรรษที่ 21 เสียแล้ว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.globaltimes.cn/content/1141336.shtml)

ในการให้สัมภาษณ์ไฟแนนเชียลไทมส์ เจราชีกล่าวย้ำถึงสิ่งที่ปรากฏชัดเจนอยู่แล้วว่า การต่อเชื่อมกับ BRI จะเปิดทางให้สินค้า “เมดอินอิตาลี” สามารถส่งออกไปยังประเทศจีนได้เพิ่มมากขึ้น ในฐานะที่ผมเป็นบุคคลหนึ่งซึ่งพำนักอาศัยไปๆ มาๆ ระหว่างยุโรปกับเอเชีย และอภิปรายถกเถียงเรื่องเกี่ยวกับ BRI อยู่บ่อยๆ ระหว่างอยู่ในอิตาลี ผมสามารถมองเห็นเรื่องนี้ได้อยู่เสมอ มนตร์เสน่ห์ของ “เมดอินอิตาลี” ที่มีต่อพวกผู้บริโภคชาวจีน --ไม่ว่าจะเป็นอาหาร, แฟชั่น, ศิลปะ, การออกแบบตกแต่งภายใน, ยังไม่ต้องเอ่ยถึงพวก เฟอร์รารี หรือ ลัมบอร์กีนี อะไรเหล่านั้นทั้งหมด— เป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรมาแข่งขันได้ แม้กระทั่งจากฝรั่งเศสก็ตาม พวกนักท่องเที่ยวชาวจีนต่างไม่รู้สึกเบื่อหน่ายกับเวนิส, ฟลอเรนซ์, โรม –และการไปช็อปปิ้งที่มิลาน

วอชิงตันหาพวกสนับสนุนไม่สำเร็จหรอก ในการเที่ยวเล็กเชอร์ให้ชาวอิตาลีฟังว่า การเชื่อมต่อกับ BRI เป็นการบ่อนทำลายฝ่ายสหรัฐฯในสงครามการค้า – ยิ่งเมื่อคำนึงถึงความเป็นจริงที่ว่า ดีลระหว่างสีกับทรัมป์ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง น่าที่จะออกมาจนได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สำหรับในส่วนของบรัสเซลส์นั้น ก็อยู่ในสภาพแตกแยกกันอย่างล้ำลึกอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสืบเนื่องมาจากฝรั่งเศส

วงการธุรกิจเยอรมันทราบดีว่าจีนคือตลาดที่จะต้องเลือกเอาไว้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ทั้งนี้ทั้งนั้นหนึ่งในสถานีปลายทางระดับท็อปของเส้นทางสายไหมใหม่ ก็คือ เมืองดุยสบวร์ก (Duisburg) ที่ตั้งอยู่ในเขตหุบเขารัวร์ (Ruhr valley) ของเยอรมนี

นี่เรากำลังพูดกันถึงทางรถไฟขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์สาย อี๋ว์ซินโอว (Yuxinou) ที่มีความยาว 11,000 กิโลเมตร ซึ่งเปิดหวูดกันอย่างคึกคักมาตั้งแต่ปี 2014 โดยเริ่มต้นจากนครฉงชิ่ง ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ผ่านคาซัคสถาน, รัสเซีย, เบลารุส, โปแลนด์, ไปจนกระทั่งถึงเมืองดุยสบวร์ก อี๋ว์ซินโอว (เป็นคำย่อจาก ฉงชิ่ง-ซินเจียง-ยุโรป) หนึ่งในระเบียงสำคัญของเส้นทางสายไหมใหม่ ยังกำลังจะได้รับการอัปเกรดให้มีฐานะเป็นเส้นทางรถไฟไฮสปีดในทศวรรษหน้า

เมื่อสักเกือบๆ 1 ปีมาแล้ว ผมได้เคยอธิบายให้รายละเอียดบางส่วนในเอเชียไทมส์ ในเรื่องที่ว่าอิตาลีมีการเชื่อมต่อกับ BRI อยู่แล้วอย่างไรบ้าง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.asiatimes.com/2018/03/article/marco-polo-reverse-italy-fits-new-silk-roads/)

โดยสาระสำคัญก็คือ ทั้งหมดเนื่องมาจากอิตาลี –ชาติยุโรปอันดับ 3 ในเรื่องการค้าทางทะเล –ได้รับการพิจารณาให้เป็นสถานีปลายทางระดับท็อปในยุโรปใต้สำหรับ BRI เป็นปากทางสำหรับบรรดาเส้นทางติดต่อเชื่อมโยงทั้งหลายจากตะวันออกและจากทางใต้ ขณะเดียวกันก็ยังกำลังทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อสำหรับจุดหมายปลายทางหลายสิบแห่งทางตะวันตกและทางเหนือ ซึ่งทรงประสิทธิภาพคุ้มค่าใช้จ่าย

กุญแจสำคัญอย่างที่สุดในโปรเจ็คต์นี้ คือ การปรับปรุงยกเครื่องท่าเรือเมืองเวนิส ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เวนิสคือช่องทางสำหรับเส้นทางเดินเรือสินค้าจากจีนผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไปสู่ ออสเตรีย, เยอรมนี, สวิตเซอร์แลนด์, สโลวีเนีย, และฮังการี เวนิสยังกำลังได้รับการจัดวางให้เป็นทางเลือกหนึ่งในการเป็น ซูเปอร์ท่าเรือ นอกเหนือจาก ร็อตเตอร์ดัม และฮัมบูร์ก --ซึ่งก็มีการต่อเชื่อมกับ BRI เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ผมขอเรียกสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นมานี้ ว่าเป็น “สงครามแห่งซูเปอร์ท่าเรือ” (Battle of the Superports)

ไม่ว่า วอชิงตัน, ซิตี้ออฟลอนดอน (วงการเงินในลอนดอน), และแม้กระทั่งบรัสเซลส์ จะคิดยังไงกับมันก็ตามที แต่นี่คือสิ่งซึ่งโรม –และมิลาน— ระบุว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติของอิตาลี และยิ่งเมื่อคำนึงถึงเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ที่ไม่มีวันตายระหว่างคนจีนกับขบวนแถวทั้งหลายทั้งปวงของ “เมดอินอิตาลี” ด้วยแล้ว การตกลงกันระหว่างจีนกับอิตาลีที่ต่างฝ่ายต่างเป็นผู้ชนะด้วยกันทั้งสองฝ่ายนั้น ย่อมจะต้องได้รับชัยชนะอีกครั้งหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น