xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัยในสหรัฐฯแฉแผนแฮ็กเกอร์จีนมุ่งเจาะมหาวิทยาลัย

เผยแพร่:   โดย: กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์


(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Research to detail sweeping Chinese hacking scheme
By Asia Times staff
06/03/ 2019

รายงานการวิจัยของบริษัทความมั่นคงทางไซเบอร์ของสหรัฐฯ กล่าวหาปักกิ่งว่ากำลังพุ่งเป้าหมายเจาะพวกมหาวิทยาลัยอเมริกันเพื่อโจรกรรมความลับทางการทหาร

มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาอย่างน้อยที่สุด 27 แห่ง ซึ่งตั้งกระจัดกระจายกันอยู่ทั้งในสหรัฐฯ, แคนาดา, และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังตกเป็นเป้าหมายของพวกแฮ็กเกอร์จีน ทั้งนี้ตามรายงานการศึกษาที่สื่อมวลชนหลายแห่งนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ โดยระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งการรณรงค์ของแดนมังกรซึ่งมุ่งฉกชิงวิ่งราวโจรกรรมผลงานวิจัยว่าด้วยเทคโนโลยีทางทะเลที่ใช้ในทางการทหาร

สถาบันการศึกษามักตกเป็นเป้าหมายซึ่งเป็นที่นิยมของพวกแฮ็กเกอร์มากกว่าหน่วยงานองค์กรทางการทหารแท้ๆ โดยซ้ำไป เนื่องจากมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาเหล่านี้มักมีข้อมูลข่าวสารที่มีคุณค่าสูง ขณะที่บ่อยครั้งไม่ได้มีการรักษาความปลอดภัยที่เข้มแข็งรัดกุมอะไรนัก สถาบันเหล่านี้ของอเมริกาจำนวนมากได้รับเงินให้เปล่าตลอดจนเงินทุนจากรัฐบาลเพื่อดำเนินการวิจัยซึ่งในที่สุดแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทางการทหารได้

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลเป็นสื่อเจ้าแรกซึ่งรายงานข่าวเรื่องนี้ โดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่มีทั้งเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯในปัจจุบันและในอดีต ตลอดจนพวกผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.wsj.com/articles/chinese-hackers-target-universities-in-pursuit-of-maritime-military-secrets-11551781800?mod=hp_lead_pos1)

สำหรับรายงานการศึกษาที่สื่อหลายแห่งนำมาเสนอเป็นข่าวนี้ เป็นของ ไอดีเฟนซ์ (iDefense) หน่วยงานหนึ่งของ เอคเซนเจอร์ ซีเคียวริตี้ (Accenture Security) ซึ่งระบุว่า ในบรรดามหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาที่ตกเป็นเป้าหมายถูกเจาะถูกล้วงเหล่านี้ มีอาทิเช่น มหาวิทยาลัยฮาวาย, มหาวิทยาลัยวอชิงตัน, สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ โดยที่ไอดีเฟนซ์บอกด้วยว่า การรณรงค์ทางไซเบอร์ของแฮ็กเกอร์จีนเช่นนี้ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน หลังจากเริ่มต้นกันมาย้อนหลังไปได้จนถึงเดือนเมษายน 2017

ไฟร์อาย (FireEye) บริษัทด้านความมั่นคงทางไซเบอร์อีกรายหนึ่ง ก็ได้รับการรายงานอ้างอิงว่าผลการวิจัยซึ่งเป็นข่าวนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาค้นพบของพวกเขาเองเหมือนกัน ไอดีเฟนซ์ และ ไฟร์อาย ยังต่างอ้างว่าสามารถระบุกลุ่มชาวจีนที่ปฏิบัติการแฮ็กนี้ได้ว่า เป็นกลุ่มเดียวกับที่ถูกพวกนักวิจัยเรียกขานกันเป็นหลายชื่อ ได้แก่ เทมป์.เพอริสโคป (Temp.Periscope), เลอไวธัน (Leviathan), หรือ มัดคาร์ป (Mudcarp)

รายงานข่าวซึ่งเผยแพร่กันออกมาเมื่อวันอังคาร (5 มี.ค.) คราวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการกล่าวหาทำนองเดียวกันอย่างชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นกระแสข่าวกระแสหนึ่ง โดยรวมไปถึงรายงานข่าวชิ้นหนึ่งจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์เดือนที่แล้ว ซึ่งเสนอแนะว่า จีนกำลังเพิ่มการโจมตีทางไซเบอร์ของตน เพื่อตอบโต้การทำสงครามการค้าของคณะบริหารประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.nytimes.com/2019/02/18/technology/hackers-chinese-iran-usa.html)

ตามรายงานข่าวชิ้นนั้น ซึ่งเขียนขึ้นโดยอิงอาศัยการบรรยายสรุปทางด้านข่าวกรองซึ่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯให้แก่หนังสือพิมพ์รายนี้ การจารกรรมทางไซเบอร์ของฝ่ายจีนเคยลดน้อยลงไปมากหลังจากคณะบริหารประธานาธิบดีบารัค โอบามาบรรลุข้อตกลงกับจีนเมื่อ 4 ปีก่อนเพื่อระงับกิจกรรมการแฮ็กเช่นนี้

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ของสหรัฐฯรายอื่นๆ โต้แย้งว่า การเก็บรวบรวมข่าวกรองเหล่านี้ถูกผลักดันออกมาจากนโยบายด้านเทคโนโลยีของจีนเท่านั้นเอง และถึงอย่างไรกิจกรรมเช่นนี้ก็ต้องกลับคึกคักขึ้นมาอีก โดยไม่ต้องไปคำนึงถึงปัจจัยอย่างอื่นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น