xs
xsm
sm
md
lg

ปธน.เกาหลีใต้วอนสหรัฐฯ,โสมแดงคืนโต๊ะเจรจาโดยเร็ว หลังซัมมิตฮานอยล่มไม่เป็นท่า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 มุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ใ
เอเอฟพี - มุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในวันจันทร์(4มี.ค.) เรียกร้องสหรัฐฯและเกาหลีเหนือ หวนคืนสู่โจ๊ะเจรจาปลดนิวเคลียร์โดยเร็ว หลังการประชุมซัมมิตระหว่างสองชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จบลงโดยปราศจากข้อตกลงใดๆ

ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ซึ่งใช้แนวทางอะลุ่มอล่วยกับเปียงยางและเป็นคนกลางของกระบวนการเจรจาระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือ เรียกร้องให้พวกเจ้าหน้าที่ของพวกเขาหาคำตอบว่าอะไรที่อยู่เบื้องหลังความล้มเหลวของการประชุมและเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงกันได้

"เราหวังว่าทั้งสองประเทศจะเดินหน้าการเจรจาและผู้นำของพวกเขาจะพบกันอีกครั้งโดยเร็ว เพื่อบรรลุข้อตกลงที่คราวนี้หยุดชะงักไป" มุนกล่าวระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี "ในขณะที่ผมยังเชื่อว่าการเจรจาการค้าระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯจะก่อข้อตกลงในบั้นปลาย ผมร้องขอให้เจ้าหน้าที่ทำงานหนักเพื่อทำให้การเจรจาระดับคณะทำงานระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีเหนือหวนคืนมาอีกครั้ง"

การประชุมซัมมิตครั้งที่ 2 ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯและคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่กรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว จบลงด้วยความอลหม่านและโดยปราศจากถ้อยแถลงร่วมใดๆ

ทรัมป์ กล่าวระหว่างแถลงข่าวหลังการประชุมซัมมิต ว่าเกาหลีเหนือต้องการให้สหรัฐฯยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่กำหนดเล่นงานเปียงยางทั้งหมด ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอเมริกากล่าวเสริมว่า เปียงยางยื่นข้อเสนอแลกเปลี่ยนปิดโรงงานนิวเคลียร์ยองบยอนแค่เพียงบางส่วน

อย่างไรก็ตามเกาหลีเหนือปฏิเสธคำกล่าวอ้างนั้น โดยบอกว่าพวกเขาต้องการแค่ให้ปลดมาตรการคว่ำบาตรบางส่วนเท่านั้น และข้อเสนอปิดโรงผลิตนิวเคลียร์ทั้งหมดที่ยองบยอน เป็นข้อเสนอที่ดีที่สุดและเป็นข้อเสนอสุดท้าย

"ผมขอให้เราหาช่องว่างที่แท้จริงระหว่างทั้งสองฝ่าย ว่าอะไรที่นำมาสู่การไม่ได้ข้อตกลง ณ ที่ประชุมซัมมิตฮานอย และสำรวจแนวทางต่างๆสำหรับลดช่องว่างนั้น" มุนกล่าว

หน่วยงานเฝ้าระวังทางนิวเคลียร์ของสหประชาชาติระบุในวันจันทร์(4มี.ค.) พบสิ่งบ่งชี้ว่าโรงแปรูปเสริมสมรรถนะยูเรเนียมภายในโรงงานยองบยอน เพิ่งถูกใช้งานเมื่อเร็วๆนี้ ล่าสุดคือในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ "อย่างไรก็ตาม หากยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึง หน่วยงานของเราก็ไม่สามารถยืนยันถึงลักษณะและวัตถุประสงค์ของความเคลื่อนไหวดังกล่าว" ยูกิยะ อามาโนะ ผู้อำนวยการใหญ่ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) กล่าว

ปัจจุบัน IAEA ใช้วิธีการรต่างๆในการสังเกตการณ์โครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ในนั้นรวมถึงภาพถ่ายทางดาวเทียม

ยองบยอน ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงเปียงยาง ไปทางเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งแรกของประเทศ และรู้เพียงว่ามันเป็นแหล่งพลูโตเนียมสำหรับโครงการอาวุธของเกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ตามด้วยหลายฝ่ายไม่เชื่อว่า ยองบยอน เป็นโรงงานแปรูปยูเรเนียมแห่งเดียวในเกาหลีเหนือ ดังนั้นการปิดโรงงานแห่งนี้จึงไม่เป็นการส่งสัญญาณสำคัญใดๆต่อการยุติโครงการปรมาณูของโสมแดง

กระนั้นก็ดี มุน บอกว่าหากโรงงานที่ยองบยอน ยุติปฏิบัติการโดยสมบูรณ์ มันก็ควรถูกมองว่าการปลดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้เข้าสู่ขั้นที่ไม่อาจฟื้นคืนชีพได้แล้ว "ยองบยอนคือรากฐานของโรงงานนิวเคลียร์ต่างๆของเกาหลีเหนือ" เขากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น