xs
xsm
sm
md
lg

In Clips : เหตุผลใหญ่ทำไม “เวียดนาม” แซง “ไทย” ขึ้นเป็นเจ้าภาพซัมมิตทรัมป์-คิมรอบ 2 ได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี – หลังจากที่มีการยืนยันออกมาจากผู้นำสหรัฐฯว่าเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำทรัมป์-คิมรอบ 2 จะเกิดขึ้นใน “เวียดนาม” ทำให้มีการวิเคราะห์ไปว่า เหตุผลใดที่ทำให้ฮานอยสามารถแซงกรุงเทพฯหรือสถานที่จัดอื่นๆไปได้ โดยจะเป็นครั้งแรกที่ผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จองอึน จะได้มีโอกาสไปเยือนประเทศที่มีการปกครองคอมมิวนิสต์นอกเหนือจากจีน และจะมีโอกาสศึกษาระบบเศรษฐกิจของเวียดนามหลังยุคสงคราม นอกจากนี้เวียดนามอาจถือเป็นเสมือนพื้นที่ยุทธศาสตร์สำหรับทรัมป์ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน

เอเอฟพีรายงานวันนี้(6 ก.พ)ว่า เวียดนามที่มีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ แต่มีความโน้มเอียงไปในด้านทุนนิยม และยังเป็นมิตรต่อทั้งสหรัฐฯและเกาหลีเหนือ ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 -28 ปลายเดือนนี้

ซึ่งไม่ต่างจากเกาหลีเหนือ เวียดนามครั้งหนึ่งเคยอยู่ในสงครามกับสหรัฐฯ แต่ต่างตรงที่ เวียดนามกลับเรียกวอชิงตันว่าเป็นพันธมิตรใกล้ชิดได้อย่างสนิทปาก เกิดขึ้นหลังจากการที่ฮานอยได้ผันตัวเองออกจากประเทศที่บอบช้ำจากสงครามและกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการทูตที่ร้อนแรง

เอเอฟพีได้ออกมาวิเคราะห์ในหลายเหตุผลที่ทำให้เวียดนามสามารถแซงสถานที่จัดอื่นๆ รวมไปถึง กรุงเทพฯ และ ฮาวาย จนเป็นตัวจริงได้สำเร็จ

ด้านโลจิสติก

การเดินทางจากกรุงเปียงยางมายังกรุงฮานอยสำหรับผู้นำเกาหลีเหนือถือเป็นการเดินทางด้วยเครื่องบินที่มีระยะสั้นซึ่งมีความเป็นไปได้

นอกเหนือจากเครื่องบินแล้ว ประธานาธิบดีคิม จองอึน เลือกที่จะเดินทางด้วยรถไฟหุ้มเกราะแทน

ฮานอยยังมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสหรัฐฯและเกาหลีเหนือ และยังถูกมองว่าเป็น “ดินแดนกลาง” เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐฮาวาย ซึ่งทั้งสองชาติมีสถานทูตของตัวเองตั้งอยู่ในเวียดนาม ทำให้เป็นการง่ายในการประสานงานสำหรับการจัดการประชุมครั้งสำคัญระดับโลกในปลายเดือนนี้

นอกจากนี้ยังพบว่า ความมั่นคงในเวียดนามซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์มักจะมีความเข้มงวดเสมอแม้กระทั่งในยามปกติ ทางเจ้าหน้าที่จะทำการควบคุมอย่างระมัดระวังต่อการเข้าถึงของสื่อและฝูงชนโดยเฉพาะในงานสำคัญ ซึ่งจะมีภาพของผู้นำทั้งสองได้รับการจับตาไปทั่วโลก

ทำไมผู้นำเกาหลีเหนือจึงเลือกจะบินมาเวียดนาม

ทั้งนี้พบว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในชาติแค่จำนวนหยิบมือในโลกที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเกาหลีเหนือ

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ชาติสามารถย้อนไปไกลถึงปี 1950 โดยทางเกาหลีเหนือได้ส่งเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศมายังเวียดนามเหนือระหว่างสงครามเวียดนาม และผู้นำระดับสูงคนสุดท้ายของเกาหลีเหนือที่เดินทางไปถึงคือ อดีตประธานาธิบดี คิม อิล-ซ็อง(Kim Il Sung) ในปี 1958 และหลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากเปียงยางยังคงเดินทางมาเยือนฮานอย

ในขณะที่การค้าของเปียงยางตกลงอย่างมากเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ แต่พบว่าในปี 2017 มีมูลค่าการค้าเกิดขึ้น 7 ล้านดอลลาร์

“(คิม) อาจจะสนใจที่จะดูเรื่องราวของเวียดนามสำหรับตัวเขาเอง ซึ่งนั่นจะถือเป็นแรงบันดาลใจที่ดี และทำให้เขามีความคิดในการนำเกาหลีเหนือเดินไปข้างหน้า” เลอ ฮอง เฮียบ (Le Hong Hiep) ผู้เชี่ยวชาญเวียดนามประจำสถาบัน ISEAS (Yusof Ishak Institute) ในสิงคโปร์ กล่าวให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

สำหรับวอชิงตัน

เวียดนามอาจถือเป็นจุดสำคัญเชิงยุทธศาสตร์สำหรับวอชิงตัน ที่ในปัจจุบันยังคงติดหล่มอยู่ในสงครามการค้ากับจีน มหามิตรของเกาหลีเหนือ

โดยทรัมป์อาจใช้เวียดนามส่งสัญญาณกลับไปทางปักกิ่งว่า “เกาหลีเหนือไม่ได้อยู่ในมือของจีนอีกต่อไป” ซึ่งเราเห็นการถ่วงอำนาจการแผ่อิทธิพลของจีนในภูมิภาค” ชอน ซอง วุน ( Cheon Seong Whun) นักวิจัยพิเศษประจำสถาบันอาซานด้านการศึกษานโยบาย (the Asan Institute for Policy Studies) ในกรุงโซลกล่าว

นอกจากนี้ทางวอชิงตันยังมีความต้องการที่จะแสดงความสำเร็จทางเศรษฐกิจของเวียดนามให้ได้เห็น

“ประเทศของคุณสามารถดำเนินรอยตามในทางนี้ได้ มันจะเป็นของคุณหากคุณฉวยโอกาสนี้ไว้” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ได้เคยเอ่ยไว้ในขณะเยือนเวียดนามปีที่แล้ว โดยอ้างไปถึงคิม

“มันสามารถเป็นความมหัศจรรย์ในเกาหลีเหนือได้เหมือนกัน” พอมเพโอกล่าวต่อ

และเหตุใดเวียดนามต้องการที่จะเป็นเจ้าภาพ

เวียดนามมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการแสดงถึงระดับชั้นทางการทูตในเวทีโลก ตามหลังการเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมเอเปคซัมมิตในปี 2017 และการประชุมอีโคโนมิกฟอรัมระดับภูมิภาคที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว

ซึ่งการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-เกาหลีเหนืออาจให้ผลตอบแทนที่ดีมากกว่านั้น โดยเอเอฟพีชี้ว่า จะช่วยเพิ่มสถานะของเวียดนามในประชาคมโลกได้ และอีกทั้งยังสามารถดึงดูดด้านการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ วู มินห์ คอง(Vu Minh Khuong) นักวิเคราะห์ทางนโยบายประจำสถาบันลี กวน ยู ด้านนโยบายสาธารณะที่สิงคโปร์กล่าว



อ้างอิงจากเว็บไซต์ entfernungsrechner.net พบว่า ทั้ง 2 ชาติมีระยะทางอากาศห่างกันราว 3,469 กิโลเมตร





กำลังโหลดความคิดเห็น