xs
xsm
sm
md
lg

'จีน'เย้ย 'ข่าวกรองนอร์เวย์'ที่เตือนให้ระวัง'หัวเว่ย'ทำจารกรรม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - จีนปฏิเสธลั่น คำเตือนของสำนักงานข่าวกรองนอร์เวย์ “พีเอสที” (PST) เกี่ยวกับบริษัทหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่เทเลคอมสัญชาติแดนมังกร โดยบอกว่าความหวาดผวาในเรื่องการสอดแนมทำจารกรรมซึ่งเกิดจากการทึกทักไปเองนั้น เป็นสิ่งที่ “น่าหัวเราะเยาะ”

ในรายงานประเมินความเสี่ยงแห่งชาติประจำปีที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (4 ก.พ.) พีเอสทีระบุชื่อประเทศอย่างจีนและรัสเซียอย่างเจาะจง ว่ากำลังพยายามสอดแนมสืบความลับของนอร์เวย์

เบเนดิคเต บียอร์นลองด์ (Benedicte Bjornland) ผู้อำนวยการของพีเอสที ระบุในรายงานว่า มี “ความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดระหว่างตัวแสดงทางการพาณิชย์อย่างเช่นหัวเว่ย กับระบอบปกครองของจีน”

“ตัวแสดงอย่างหัวเว่ย ย่อมสามารถที่จะตกอยู่ใต้อิทธิพลจากประเทศเจ้าบ้านของบริษัทได้เสมอ ตราบเท่าที่จีนยังคงมีกฎหมายด้านข่าวกรองฉบับหนึ่งซึ่งกำหนดให้บรรดาปัจเจกบุคคล, หน่วยงานองค์กร, และบริษัทต่างๆ ต้องให้ความร่วมมือกับจีน”

ปรากฏว่าสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงออสโล ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้

“จีนไม่ได้เป็นภัยคุกคามใดๆ ต่อความมั่นคงปลอดภัยของนอร์เวย์” สถานเอกอัครราชทูตแดนมังกรโพสต์ข้อความเช่นนี้ในเว็บไซต์ของตน และบอกด้วยว่า “มันเป็นเรื่องน่าหัวเราะเยาะอย่างยิ่งสำหรับการที่หน่วยงานข่าวกรองของประเทศๆ หนึ่ง ที่ดำเนินการประเมินสถานการณ์ทางด้านความมั่นคงและโจมตีประเทศจีนด้วยถ้อยคำภาษาที่เป็นการทึกทักเอาเองโดยแท้เช่นนี้”

เกี่ยวกับเรื่องหัวเว่ย ทางสถานเอกอัครราชทูตแดนมังกรกล่าวว่า “จีนคัดค้านอย่างแข็งขันเรื่อยมา และต่อสู้กับการจารกรรมทางไซเบอร์และการโจมตีทางไซเบอร์ในทุกรูปแบบ”

“กฎหมายและระเบียบกติกาของจีนนั้นไม่มีเลยที่จะให้อำนาจแก่สถาบันใดๆ ในการบังคับพวกบริษัทต่างๆ ต้องสร้าง “ประตูหลังอย่างเป็นการบังคับ”

เวลานี้สหรัฐฯกำลังเป็นผู้นำการรณรงค์ให้ชาติพันธมิตรของตนโดยเฉพาะประเทศตะวันตก งดใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยมาสร้างเครือข่ายสื่อสารไร้สายยุค 5จี โดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคง ถึงแม้พวกผู้ให้บริการจะพากันร้องโอดว่า การไม่ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าในเรื่อง 5 จี มากที่สุด อาจทำให้การเปิดบริการ 5 จี ซึ่งถือเป็นก้าวใหม่ของการปฏิวัติดิจิตอลนี้ ต้องล่าช้าไป 6 เดือนถึง 1 ปี

นอร์เวย์เองก็กำลังพิจารณาที่จะกำหนดกรอบโครงด้านระเบียบกติกาขึ้นมา เพื่อเป็นการจำกัดการถูกสอดแนม ขณะที่พวกบริษัทผู้ให้บริการด้านเทเลคอมของประเทศเตรียมตัวเพื่อนำเครือข่าย 5 จีออกมาให้บริการ

ผู้ให้บริการ 2 รายหลักของนอร์เวย์ คือ เทเลนอร์ (Telenor) และ เทเลีย (Telia) ก่อนหน้านี้ได้เลือกหัวเว่ยให้เป็นผู้ซัปพลายอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับเครือข่ายยุค 4 จีของพวกตน ทั้งนี้ในประเทศไทยนั้น เทเลนอร์คือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของดีแทค

นอร์เวย์มีท่าทีระมัดระวังตัวเกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้ หลังจากที่จีนได้เคยแสดงปฏิกิริยาอย่างโกรธกริ้วจากการที่คณะกรรมการของรัฐสภานอร์เวย์ซึ่งเป็นผู้พิจารณามอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ได้ตัดสินให้รางวัลนี้ประจำปี 2010 ให้แก่ หลิว เสี่ยวโป ชาวจีนที่เป็นนักเคลื่อนไหวผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลปักกิ่ง จนเป็นชนวนให้ฝ่ายจีนตอบโต้แก้เผ็ดทั้งในทางการทูตและทางการค้าอยู่หลายปี


กำลังโหลดความคิดเห็น