xs
xsm
sm
md
lg

มะกันรบเร้านานาชาติเลือกข้างทิ้งมาดูโร รัสเซียประณามก่อรัฐประหารเวเนซุเอลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

บรรดาชาติมหาอำนาจยุโรปส่งสัญญาณจะรับรอง ฮวน กุยโด ในตำแหน่งประธานาธิบดีเฉพาะกาลเวเนซุเอลา  หากไม่สามารถจัดการเลือกตั้งที่ยุติธรรม เสรี และโปร่งใสภายใน 8 วัน
เอเจนซีส์ - อเมริกาเรียกร้องนานาชาติเลือกข้างกรณีเวเนซุเอลา รวมทั้งชักชวนประเทศต่างๆ ยุติการทำธุรกรรมการเงินกับรัฐบาลของ นิโคลัส มาดูโร ด้านมหาอำนาจยุโรปส่งสัญญาณรับรอง ฮวน กุยโด ในตำแหน่งประธานาธิบดีเฉพาะกาลเวเนซุเอลาตามรอยวอชิงตัน ขณะที่รัสเซียและเวเนซุเอลากล่าวหาสหรัฐฯ พยายามทำรัฐประหารการากัส และโจมตียุโรปที่ขีดเส้นตายให้มาดูโรจัดการเลือกตั้งภายใน 8 วัน

เมื่อวันเสาร์ (26 ม.ค.) หลังจากสามารถฝ่าฟันการคัดค้านและจัดการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกประเทศจะต้องเลือกระหว่างพลังของเสรีภาพ กับรัฐมาเฟียนอกกฎหมายของมาดูโร ที่ทำให้เศรษฐกิจเวเนซุเอลาล่ม ประชาชนราว 2 ล้านคน หนีตายจากสถานการณ์ขาดแคลนอาหารและยาออกนอกประเทศ

พอมเพโอเรียกร้องให้นานาชาติยอมรับกุยโด ผู้นำฝ่านค้าน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลของเวเนซุเอลาเช่นเดียวกับอเมริกา รวมทั้งยุติการทำธุรกรรมการเงินทั้งหมดกับรัฐบาลมาดูโรที่ปัจจุบันมีปัญหาในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งที่ประเทศร่ำรวยน้ำมัน

รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังประณามรัสเซียและจีน ว่า ที่หนุนหลังมาดูโรเพราะต้องการถอนทุนคืนจากโครงการลงทุนที่ไม่พิจารณาให้ดีเสียก่อน และความช่วยเหลือตลอดหลายปีที่ผ่านมารวมมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

วอชิงตันส่งสัญญาณว่า พร้อมเพิ่มมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจเพื่อให้มาดูโรลงจากอำนาจ ทว่า พอมเพโอปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนการนี้

วาสสิลี เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็น ตอกกลับว่า อเมริกาแทรกแซงกิจการภายใน และต้องการทำรัฐประหารในเวเนซุเอลา รวมทั้งยังคงปฏิบัติต่อละตินอเมริกาเสมือนเป็น “สนามหลังบ้าน” ที่อยากทำอะไรก็ได้ พร้อมสำทับว่า ควรหลีกเลี่ยงการแทรกแซงทางทหารในเวเนซุเอลาโดยเด็ดขาด

เหล่านักการทูตระบุว่า แม้อเมริกาสามารถจัดให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ เปิดหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเวเนซุเอลา แต่การดำเนินการของคณะมนตรีความมั่นคงเพื่อจัดการกับวิกฤตนี้มีแนวโน้มถูกคัดค้านจากรัสเซียและจีน

ทั้งนี้ หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศยอมรับกุยโดในฐานะประธานาธิบดีรักษาการของเวเนซุเอลาเมื่อวันพุธ (23 ม.ค.) มหาอำนาจในละตินอเมริกา อาทิ บราซิล โคลอมเบีย และอาร์เจนตินาต่างออกมาสนับสนุนกุยโดอย่างรวดเร็ว

ด้านมหาอำนาจในยุโรป ได้แก่ สเปน อังกฤษ เยอรมนี และ ฝรั่งเศส ออกมาขีดเส้นตายเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า จะยอมรับกุยโด เว้นแต่มาดูโรสามารถจัดการเลือกตั้งที่ยุติธรรม เสรี และโปร่งใสภายใน 8 วัน อย่างไรก็ตาม สมาชิกทั้ง 28 ประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด เช่น พรรคไซซิรา ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของกรีซ ประกาศสนับสนุนมาดูโรเต็มที่

จอร์จี อาร์รีซา รัฐมนตรีต่างประเทศเวเนซุเอลา ตอบโต้ว่า ยุโรปเดินตามก้นทรัมป์ รวมทั้งไม่มีอำนาจมาขีดเส้นตายประเทศอธิปไตยอย่างเวเนซุเอลา

อาร์รีซา สำทับว่า แม้คณะบริหารของทรัมป์พยายามโค่นล้มมาดูโรมาตลอดสองปีที่ผ่านมา แต่การากัสยังคงข้อเสนอในการหารือกับวอชิงตัน

เมื่อวันเสาร์ มาดูโรยังมีท่าทีอ่อนลงหลังตอบโต้ทรัมป์ด้วยการตัดสัมพันธ์ทางการทูตและขีดเส้นตายให้นักการทูตอเมริกันเดินทางออกเวเนซุเอลาภายใน 72 ชั่วโมงเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว โดยบอกว่า สองประเทศจะพิจารณาข้อตกลงเพื่อตั้งสำนักงานผลประโยชน์ในเมืองหลวงของกันและกันแทนสถานทูตภายใน 30 วัน แต่หากไม่สำเร็จจะระงับการติดต่อทางการทูตโดยสิ้นเชิง

แม้มาดูโรได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยเมื่อปีที่แล้ว แต่ถูกประท้วงจากฝ่ายค้าน ขณะที่อเมริกา รัฐบาลฝ่ายขวาในละตินอเมริกา อียู และ ยูเอ็น ประณามว่า เป็นการโกงเนื่องจากกีดกันไม่ให้ผู้นำอาวุโสของพรรคฝ่ายค้านหลายคนลงเลือกตั้ง กระนั้น มาดูโรยังคงได้รับความจงรักภักดีจากกองทัพทรงอำนาจ

ในสัปดาห์ที่แล้ว กุยโดพยายามดึงดูดการสนับสนุนจากกองทัพโดยเสนอนิรโทษกรรมผู้ที่ไม่ยอมรับมาดูโร รวมทั้งยังเสนอนิรโทษกรรมให้มาดูโรด้วย ทว่า ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

เมื่อวันเสาร์ พันเอก โฆเซ หลุยส์ ซิลวา ทูตทหารของเวเนซุเอลาประจำวอชิงตัน ประกาศตัดขาดจากมาดูโรและเรียกร้องทหารคนอื่นๆ ให้ทำตามตน

การประกาศตนเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลของกุยโดนำเวเนซุเอลาเข้าสู่สถานการณ์ที่ไม่ปกติ โดยมีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายค้านที่บริหารรัฐบาลคู่ขนานอยู่อาจได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่ไม่มีอำนาจควบคุมหน่วยงานใดๆ ของรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น