xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลือข่าวปล่อยเรื่องสงครามเทคระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน บดบังปัจจัยพื้นฐานที่ยังมั่นคงของจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน


(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes)

Tech war rumors cloud sound Chinese fundamentals
By David P. Goldman
18/01/2019

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังน่าที่จะทำข้อตกลงการค้ากับจีนได้สำเร็จ ถึงแม้มีความพยายามซึ่งดูเหมือนจะมาจากประชาคมข่าวกรองของสหรัฐฯ ที่มุ่งหมายจะบ่อนทำลายการตกลงสงบศึก ด้วยการเข้าโจมตีเล่นงานบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แดนมังกรอย่าง หัวเว่ย

หลังการซื้อขายในวันพฤหัสบดี (17 ม.ค.) ดำเนินไปอย่างเรียบๆ ไร้ความหวือหวา หุ้นสหรัฐฯก็กระโจนพรวดจากรายงานข่าวชิ้นหนึ่งของวอลล์สตรีทเจอร์นัล ซึ่งระบุว่ารัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สตีเวน มนูชิน เสนอให้ถอนมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรต่อสินค้าเข้าของจีน “ในฐานะที่เป็นหนทางหนึ่งซึ่งสามารถทำให้ตลาดสงบลงมาได้ รวมทั้งทำให้ปักกิ่งมีแรงจูงใจที่จะยอมอ่อนข้อมากยิ่งขึ้นอีกในสงครามการค้าซึ่งกำลังสร้างความว้าวุ่นให้แก่เศรษฐกิจต่างๆ ทั่วโลก”

ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์พุ่งขึ้น 250 จุดทีเดียวจากรายงานข่าวชิ้นนี้ ก่อนที่จะถอยกลับลงมาภายหลังเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังผู้หนึ่งออกมาปฏิเสธว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง

ระยะเวลา 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีทัศนะความเห็นหลายอันของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีความแตกต่างกันชนิดไปคนละทิศละทาง ถูกปล่อยรั่วไหลมายังหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ รวมทั้งรายงานชิ้นหนึ่งเมื่อวานนี้ (17 ม.ค.) ซึ่งระบุว่า คณะอัยการของรัฐบาลกลางสหรัฐฯวางแผนจะดำเนินการสอบสวนทางอาญาเพื่อเล่นงานหัวเว่ย ด้วยข้อหาว่าโจรกรรมความลับทางการค้าเกี่ยวกับ “แท็ปพี” (Tappy) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์สำหรับทำการทดสอบสมาร์ตโฟน จากบริษัทที-โมบายล์ (T-mobile) นอกจากนั้นยังมีข่าวลืออีกชิ้นหนึ่งที่ว่าเยอรมนีกำลังมองหาวิธีการที่จะกีดกันไม่ให้หัวเว่ยเข้าร่วมในการสร้างเครือข่ายสื่อสารไร้สายรุ่น 5 จีของตน

ระหว่างโรงจัดแสดงเรียลลิตี้โชว์ กับ สภาพความไม่ลงรอยกันจริงๆ ภายในคณะบริหารทรัมป์นั้น อาจจะมีเพียงแค่เส้นบางๆ เท่านั้นมาแบ่งแยกออกจากกัน แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าการมีความเห็นขัดแย้งกันดังกล่าวนี้ มันไม่ค่อยจะเป็นเรื่องที่ “พวกนักการค้าเสรี” (free traders) อย่างมนูชิน และที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ ลอว์เรนซ์ คุดโลว์ (Lawrence Kudlow) เป็นปฏิปักษ์คัดค้าน “พวกแนวทางแข็งกร้าว” (hard liners) อย่าง ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ โรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์ (Robert Lighthizer) และที่ปรึกษาด้านการค้า ปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro)

การที่คณะบริหารทรัมป์เข้าโจมตีอย่างสะเปะสะปะไร้แบบแผนที่หัวเว่ย ซึ่งก็รวมไปถึงกรณีการจับกุมประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัทแห่งนี้ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เมื่อเดือนที่แล้ว และการจับกุมพนักงานระดับบริหารคนหนึ่งของหัวเว่ยโปแลนด์ ในสัปดาห์ที่แล้วด้วยข้อหากระทำจารกรรม เหล่านี้บ่งชี้เสนอแนะว่ามันมีต้นตอมาจากประชาคมข่าวกรองของสหรัฐฯ บทวิจารณ์ของสื่อบางชิ้นเมื่อตอนเช้าวันพฤหัสบดี (17 ม.ค.) ถึงขนาดอ้างว่า การเล่นงานหัวเว่ยเช่นนี้จะจุดชนวนให้สงครามการค้าปะทุตัวขึ้นมาใหม่ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://finance.yahoo.com/news/why-huawei-scandal-reignite-us-174545319.html )

รายงานของสื่อทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ควรที่จะพินิจพิจารณาในฐานะที่เป็นการเข้ามาแทรกแซงเพื่อมุ่งผลประโยชน์ของตัวเอง โดยเป็นฝีมือของส่วนต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯซึ่งพยายามผลักดันวาระของพวกตนที่มีความแตกต่างไปกันคนละทิศละทาง เรื่องที่วอลล์สตรีทเจอร์นัลอ้างว่า “เยอรมนีกำลังสำรวจหาหนทางต่างๆ เพื่อห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลจีส์ ในโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของประเทศนั้น” เป็นข่าวที่ควรต้องตั้งคำถามควรต้องระแวงสงสัย

รัฐบาลสหรัฐฯได้ขอร้องเยอรมนีให้กีดกันหัวเว่ยออกไป และสำนักงานความมั่นคงด้านโทรคมนาคมของเยอรมนีก็ตอบกลับอย่างสุภาพว่า มันไม่ได้มีข้อพิสูจน์ยืนยันใดๆ เลยว่ามีการกระทำความผิด ครั้นเมื่อสหรัฐฯยังคงยืนกรานขอร้อง ฝ่ายเยอรมันก็เลยจะตอบสนองด้วยความเคลื่อนไหวในรูปของการตรวจสอบความประพฤติของหัวเว่ย ซึ่งในรูปแบบการเขียนของสื่อมวลชน ได้พลิกผันให้กลายเป็น “การสำรวจหาหนทางต่างๆ” เพื่อเตะหัวเว่ยออกไปจากเยอรมนี

รายงานข่าวชิ้นนี้ถูกประดิษฐ์ประดอยเขียนขึ้นมาในลักษณะที่ทำให้การแถลงยืนยันหรือการแถลงปฏิเสธก็ล้วนแต่เป็นไปไม่ได้ ทว่า “บุนด์ ดอยต์เชอร์ อินดุสทรี” (Bund Deutscher Industrie) สมาคมอุตสาหกรรมการผลิตแห่งหลักของประเทศนี้ ได้ประกาศออกมาแล้วว่า บริษัทไหนก็ไม่ควรถูกห้ามปรามไม่ให้ทำธุรกิจด้วยหากไม่ได้มีหลักฐานข้อพิสูจน์ความผิด เราน่าที่จะทึกทักเอาได้ว่าสมาคมนี้สามารถสื่อสารกับความคิดเห็นของรัฐบาลเยอรมันได้ดี

เป็นเรื่องลำบากที่จะซื้อขายหุ้น เมื่อสื่อทางด้านการเงินกลายสภาพเป็นเหมือนกับนวนิยายสายลับชั้นเลวไปเสียฉิบ นี่ต้องถือเป็นความผิดทั้งของพวกสปายสายลับ ซึ่งควรที่จะเผยแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จด้วยความมีชั้นเชิงมากกว่าที่เป็นอยู่ และก็ต้องถือเป็นความผิดของวอลล์สตรีทเจอร์นัลด้วย เพราะเป็นผู้ซึ่งควรจะรู้ดียิ่งกว่าการเผยแพร่ข่าวปล่อยข่าวรั่วซึ่งน่าระแวงสงสัยเช่นนี้

ผมยังคงมีความเชื่อว่าปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์จีนนั้นดี (ดูเพิ่มเติมได้จากคอลัมน์เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ของผม http://www.atimes.com/article/creeping-deflation-in-the-us-cheap-valuations-in-china/) ประธานาธิบดีทรัมป์มีความเอนเอียงอย่างชัดเจนที่อยากจะทำดีลกับจีน อย่างที่เขาเคยสาธิตให้เห็นด้วยการเข้าแทรกแซงเพื่อยุติรอมชอมปัญหาของบริษัทแซดทีอีเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา แล้วก็อีกครั้งหนึ่งในการประชุมซัมมิตของเขากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน (ระหว่างที่ทั้งคู่ไปเข้าร่วมการประชุมซัมมิตกลุ่ม จี20) เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่กรุงบัวโนสไอเอส

กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นห่วงเป็นใยคือเรื่องการเมือง และภาวะการค้าโลกที่กำลังหดตัวลง ตลอดจนการที่ตลาดหลักทรัพย์กำลังย่ำแย่ จะไม่ช่วยเหลือเขาในการรณรงค์หาเสียงเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯอีกสมัยหนึ่งหรอก ส่วนประกอบอื่นๆ ในรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันทางด้านความมั่นคงแห่งชาติต่างหาก ซึ่งต้องการให้เกิดการเผชิญหน้าขึ้นมาจากกรณีหัวเว่ย การกุมบังเหียนรัฐบาลในมือของประธานาธิบดีผู้นี้อยู่ในสภาพหละหลวม แต่ผมคาดหวังว่าสัญชาตญาณของเขาจะปรากฏโดดเด่นขึ้นมาจนอยู่เหนือสิ่งอื่นๆ

พวกนักลงทุนทั้งหลายยังควรโฟกัสไปที่เรื่องปัจจัยพื้นฐานต่างๆ เรื่องเล่าเกี่ยวกับระเบิดหนี้สินของจีนนั้นเป็นเรื่องหลอกลวงเรื่องเท็จเสมอมา โดยที่อิงอยู่กับความเข้าใจอันผิดพลาดในขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับระบบการเงินของจีน จีนกับสหรัฐฯเวลานี้ต่างมีอัตราส่วนหนี้สินต่อจีดีพี (debt-to-GDP ratio) ในระดับที่ใกล้เคียงกัน (แต่จีนมีอัตราการเติบโตขยายตัวของจีดีพีเป็น 2 เท่าตัวของสหรัฐฯ) หนี้สินอเมริกันรวมศูนย์อยู่ที่รัฐบาลกลาง ซึ่งมีหนี้เท่ากับประมาณ 110% ของจีดีพี ทั้งนี้ยังไม่นับพวกหนี้สินสมทบที่รัฐบาลกลางมีข้อผูกพันต้องจ่ายทั้งหลาย (unfunded liabilities) สำหรับจีนนั้น หนี้สินของรัฐบาลมีขนาดเล็ก แต่หนี้สินภาคบริษัทมีขนาดใหญ่โต กระนั้นมันก็เป็นเพียงแบบแผนของการจัดทำบัญชี เพราะพวกธนาคารรัฐวิสาหกิจจีนปล่อยกู้ให้แก่พวกบริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน เพื่อเอาไปสร้างโครงสร้างพื้นฐาน จีนมีอัตราส่วนหนี้สินเมื่อเทียบกับจีดีพีในระดับเดียวกันกับสหรัฐฯ ทว่าจีนได้อะไรบางอย่างออกมาจากเงินหนี้สินเหล่านั้น

แผนภูมิข้างบนนี้แสดงให้เห็นว่าในหนี้สินภาคบริษัทของจีนนั้นใครกันบ้างที่เป็นลูกหนี้ บริษัท 30 แห่งซึ่งแสดงเอาไว้ในแผนภูมินี้ รวมกันแล้วมีหนี้สินคิดเป็น 62% ของหนี้สินของพวกบริษัทนอกภาคการเงินซึ่งอยู่ในดัชนีหุ้น 300 ของตลาดเซินเจิ้น (Shenzhen300 stock index) พวกแท่งสีฟ้าแสดงให้เห็นสัดส่วนสะสมของหนี้สิน ทั้งนี้ ซั่งไห่ ผู่ตง ดีเวลอปเมนต์ (Shanghai Pudong Development) ผู้ดำเนินการหลักของท่าเรือเซี่ยงไฮ้ (แท่งสีฟ้าแท่งแรกจากซ้าย) มีหนี้สินเท่ากับ 18% ของหนี้สินรวม เมื่อบวกหนี้ของ ไชน่า สเตท คอนสตรักชั่น เอนจิเนียริ่ง (China State Construction Engineering หรือ CSCEC) (แท่งสีฟ้าแท่งที่สองจากซ้าย) เข้าไป ยอดหนี้สินของพวกเขาก็จะเท่ากับ 21% ของยอดหนี้ทั้งหมด แล้วก็บวกต่อเนื่องกันไปเช่นนี้เรื่อยๆ ในบรรดาลูกหนี้ที่เป็นหนี้สูงสุด 30 รายแรกนี้ มีเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่ไม่ใช่บริษัทด้านโครงสร้างพื้นฐาน (คือ SAIC Motor และ BOE Technology)

รายรับต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาจากโครงสร้างพื้นฐาน ไม่จำเป็นว่าจะต้องไหลไปยังผู้สร้างผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานเสมอไป นั่นเป็นเรื่องของการกำหนดราคาภายใน ความสามารถในการทำกำไรของพวกบริษัทโครงสร้างพื้นฐานอาจจะสะท้อนหรืออาจจะไม่สะท้อนคุณูปการทางเศรษฐกิจของพวกเขาก็ได้ เรื่องนั้นขึ้นอยู่กับการถ่ายโอนราคาในหมู่กิจการของรัฐบาล –ระหว่างธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นผู้ปล่อยกู้ กับพวกบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นผู้กู้

จีนได้ใช้งบดุลบัญชีของพวกรัฐวิสาหกิจมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานซึ่งบางส่วนอยู่ในระดับดีเยี่ยมที่สุดของโลก และทำให้อัตราส่วนของยอดหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA (Earning Before Interest Tax Depreciation and Amortization
กำไรก่อนหัก ดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย) เพิ่มสูงจากราวๆ 0 มาเป็นกว่า 6 เท่าเมื่อปี 2014 อัตราส่วนนี้กำลังค่อยๆ ลดต่ำลง และทำนายกันว่าจะลงไปสู่ระดับซึ่งสามารถบริหารจัดการได้ นั่นคือ 4 X EBITDA ภายในปี 2020

หมายเหตุผู้แปล
[1] ในคอลัมน์ทางเอเชียไทมส์เมื่อวันที่ 10 มกราคมของ เดวิด พี โกลด์แมน ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนที่น่าสนใจ ซึ่งขอตัดตอนเก็บความมาเสนอในที่นี้ ดังนี้:


**การมองโลกในแง่ร้ายเกี่ยวกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขอบจีนกำลังจางคลายไป มันไม่ควรที่จะมีมุมมองเช่นนั้นเลยด้วยซ้ำ แน่นอนทีเดียวว่าใบสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมของจีนจะได้รับความกระทบกระเทือนจากสงครามการค้าครั้งนี้ แต่ดัชนีการกระจายตัวของเศรษฐกิจนอกภาคโรงงานอุตสาหกรรม (non-manufacturing economy diffusion index) ของจีนยังคงกำลังวิ่งอยู่เหนือระดับ 54% และการลงทุนก็กำลังเพิ่มสูงขึ้นไป โดยส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการลงมือปฏิบัติการของรัฐบาล อัตราการเติบโตของจีนจะออกมาที่ราวๆ 6% อย่างเลวร้ายที่สุดคืออยู่ต่ำกว่าครึ่งเปอร์เซ็นต์ของฉันทามติที่คาดประมาณกันเมื่อ 6 เดือนก่อน ทว่ายากที่จะอยู่ในลักษณะทรุดโทรมย่ำแย่ ...

**สหรัฐฯกับจีนดูเหมือนน่าที่จะตกลงกันได้มากกว่าจะสู้รบเอาชนะกันให้ได้ในสงครามการค้า มีเหตุผลดีๆ จำนวนมากสำหรับเรื่องนี้ ประการแรก อย่างที่พวกผู้นำธุรกิจของสหรัฐฯกำลังกล่าวเตือนคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ สงครามการค้านั้นสร้างความเสียหายให้แก่สหรัฐฯอย่างเลวร้ายพอๆ กับที่มันสร้างความบอบช้ำแก่จีน ประการที่สอง จีนดูเหมือนพรักพร้อมที่จะรวมเอาการตกลงรอมชอมเรื่องประเด็นปัญหานิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี เข้าไว้ในแพกเกจที่มาพร้อมกับดีลทางด้านการค้า ซึ่งจะทำให้ทรัมป์แลดูเหมือนกับเป็นผู้ชนะ ประการที่สาม ความสามารถของอเมริกาที่จะลงโทษจีน ด้วยการห้ามไม่ให้ขายส่วนประกอบไฮเทคตัวสำคัญๆ นั้นได้หดหายลงไปมากในช่วงปีที่ผ่านมา ความสำเร็จของ หัวเว่ย ในการเปิดตัวชิปเซต “คิริน” (Kirin) ของตนเองสำหรับใช้ในโทรศัพท์มือถือ และชิปตัวใหม่สำหรับเครื่องเวิร์กสเตชั่นบิ๊กดาต้าของบริษัท ต้องถือเป็นหลักหมายใหม่ในการที่จีนเป็นอิสระพ้นจากการต้องพึ่งพาอาศัยพวกส่วนประกอบสำคัญๆ ของสหรัฐฯ และประการที่สี่ แน่นอนทีเดียวว่า จีนจะยินดีเปิดทางให้ เพื่อปล่อยให้ทรัมป์เป็นผู้เปล่งประกาศชัยชนะ


กำลังโหลดความคิดเห็น