xs
xsm
sm
md
lg

สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ เสนอร่างกม.ห้ามจำหน่ายชิ้นส่วนไฮเทคให้ ‘หัวเว่ย-ZTE’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รอยเตอร์ - สมาชิกสภาคองเกรสทั้งสายเดโมแครตและรีพับลิกันร่วมกันเสนอร่างกฎหมายห้ามบริษัทอเมริกันจำหน่ายชิปและชิ้นส่วนไฮเทคให้แก่ หัวเว่ย เทคโนโลยีส์, แซดทีอี คอร์ป รวมถึงบริษัทโทรคมนาคมของจีนรายอื่นๆ ที่ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรหรือกฎหมายควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (16 ม.ค.)

ขณะเดียวกัน มีรายงานจากหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์เนิลว่า อัยการกลางสหรัฐฯ กำลังสอบสวนเรื่องที่ หัวเว่ย ถูกกล่าวหาว่าขโมยความลับทางการค้าของ ที-โมบายล์ ยูเอส อิงค์ ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือรายใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐฯ และบริษัทอเมริกันอีกหลายราย

เดอะเจอร์เนิลระบุว่า หัวเว่ย อาจถูกตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้กรณีขโมยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ‘Tappy’ ของ ที-โมบายล์ ซึ่งสามารถเลียนแบบนิ้วมือของมนุษย์ และถูกใช้เพื่อการทดสอบสมาร์ทโฟน

หัวเว่ย แถลงยืนยันว่าบริษัทและ ที-โมบายล์ ได้ทำข้อตกลงระงับข้อพิพาทแล้วในปี 2017 หลังจากคณะลูกขุนสหรัฐฯ ตัดสินว่า “ไม่พบทั้งความเสียหาย, การได้มาซึ่งลาภอันงอกเงยอย่างไม่เป็นธรรม (unjust enrichment) หรือการกระทำมุ่งร้ายโดย หัวเว่ย” ตามที่ ที-โมบายล์ ได้กล่าวอ้าง

สำหรับร่างกฎหมายล่าสุดนี้เป็นหนึ่งในหลายๆ มาตรการที่สหรัฐฯ ในยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์ งัดมาใช้ตอบโต้แนวปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน เช่น การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา, การอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมอย่างผิดกฎหมาย และกฎเกณฑ์ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อบริษัทอเมริกันที่ต้องการส่งสินค้าไปขายในจีน

เดือน พ.ย. ปีที่แล้ว กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้เริ่มเปิดการสอบสวนแนวปฏิบัติทางการค้าของจีน โดยมีการตั้งข้อหากับบริษัท ฝูเจี้ยน จินหวา อินทิเกรต เซอร์กิต (Fujian Jinhua Integrated Circuit Co Ltd) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของแดนมังกร ฐานขโมยความลับทางการค้าเกี่ยวกับงานวิจัยและการพัฒนาอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลของ ไมครอน เทคโนโลยี ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติอเมริกัน

แม้ จินหวา จะยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิด แต่ก็ถูกขึ้นบัญชีเป็นบริษัทที่ไม่สามารถซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในสหรัฐฯ ได้

กลุ่มสมาชิกรัฐสภาซึ่งประกอบด้วย ส.ว. ทอม คอตตอน และ ส.ส. ไมค์ แกลลาเกอร์ จากพรรครีพับลิกัน ร่วมกับ ส.ว. คริส แวน ฮอลเลน และ ส.ส. รูเบน แกลเลอโก จากพรรคเดโมแครต เสนอร่างกฎหมายให้ประธานาธิบดีสั่งห้ามผู้ผลิตอเมริกันจำหน่ายอุปกรณ์ไฮเทคให้แก่บริษัทโทรคมนาคมจีนทุกรายที่ฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรหรือกฎหมายควบคุมการส่งออกของอเมริกา

ร่างกฎหมายนี้ยังอ้างถึง แซดทีอี และ หัวเว่ย อย่างเฉพาะเจาะจง โดยเป็นที่หวาดระแวงในสหรัฐฯ ว่าสวิตช์และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ผลิตโดย 2 ค่ายนี้อาจถูกใช้สอดแนมชาวอเมริกัน และทั้ง 2 บริษัทยังถูกครหาว่าหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านด้วย

“หัวเว่ย ทำหน้าที่เป็นเสมือนหน่วยรวบรวมข่าวกรองให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอก็เป็นวิศวกรที่เคยทำงานให้กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนมาก่อน” คอตตอน ระบุในถ้อยแถลง

“หากบริษัทสื่อสารของจีนอย่าง หัวเว่ย ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรหรือกฎหมายส่งออกของเรา พวกเขาก็สมควรโดนประหารสถานเดียว ซึ่งการห้ามจำหน่ายอุปกรณ์ไฮเทคจะนำไปสู่ผลลัพธ์ดังกล่าว”

สหรัฐฯ ยังกดดันให้ประเทศพันธมิตรเลิกซื้อสวิตซ์และอุปกรณ์อื่นๆ จากหัวเว่ย โดยอ้างว่าเป็นเครื่องมือที่ปักกิ่งใช้จารกรรมข้อมูล

เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย ออกมาแถลงยืนยันในสัปดาห์นี้ว่า บริษัทของเขาไม่ได้เป็นภัยคุกคามความมั่นคง หรือทำภารกิจสอดแนมให้รัฐบาลจีนอย่างที่ประเทศตะวันตกอ้าง

เมิ่ง หว่านโจว บุตรสาวของ เหริน และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของหัวเว่ย ถูกทางการแคนาดาจับกุมเมื่อเดือนที่แล้วตามการร้องขอของสหรัฐฯ ซึ่งต้องการได้ตัว เมิ่ง ไปดำเนินคดีฐานใช้ระบบธุรกรรมการเงินของธนาคารหลบเลี่ยงกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่าน

สำหรับกรณีของแซดทีอี บริษัทได้ยอมจ่ายค่าปรับ 1,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่สหรัฐฯ พร้อมเปลี่ยนตัวคณะผู้บริหารใหม่เมื่อปีที่แล้ว เพื่อให้วอชิงตันยกเลิกคำสั่งกระทรวงพาณิชย์เมื่อเดือน เม.ย. ปี 2018 ซึ่งห้ามไม่ให้บริษัทอเมริกันขายชิ้นส่วนไฮเทคให้แก่แซดทีอีเป็นเวลา 7 ปี สืบเนื่องจากการที่บริษัทแห่งนี้ฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านและเกาหลีเหนือ
กำลังโหลดความคิดเห็น