xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: สหรัฐฯรณรงค์เรียกร้องให้คว่ำบาตรอุปกรณ์ 5 จีของ‘หัวเว่ย’ แต่พวกพันธมิตรในยุโรปใช่ว่าจะทำตาม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การรณรงค์ที่นำโดยสหรัฐฯซึ่งเรียกร้องให้คว่ำบาตรอุปกรณ์สื่อสารไร้สายยุค 5 จี ของหัวเว่ย กำลังได้รับการตอบรับอย่างผสมปนเปหลายหลากจากยุโรป โดยที่บางประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรนักแก่การกระพือความระแวงสงสัยยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมสัญชาติจีนรายนี้ ขณะที่บางรัฐบาลแสดงการหนุนหลังการบอยคอตต์

หัวเว่ยเพิ่งประสบกรณีที่ดูเหมือนเป็นความเพลี่ยงพล้ำครั้งล่าสุดในยุโรป เมื่อมีพนักงานระดับผู้อำนวยการฝ่ายขายคนหนึ่งของบริษัทในโปแลนด์ ถูกจับกุมที่ประเทศนั้นในวันศุกร์ (11 ม.ค.) ด้วยข้อหาต้องสงสัยเป็นสายลับให้จีน ทางบริษัทแถลงกับเอเอฟพีในวันเสาร์ (12) ว่า ได้ไล่ออกพนักงานผู้นั้นแล้ว และย้ำว่า “พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาของเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัท”

สแตนิสสลัฟ แซริน โฆษกของพวกหน่วยงานพิเศษของทางการโปแลนด์ ให้คำอธิบายในลักษณะเดียวกับบริษัทหัวเว่ย ทว่าสื่อมวลชนฝ่ายตะวันตกสนใจมากกว่าที่จะโยงกรณีนี้เข้ากับกระแสการที่แคนาดาจับกุมตัวบุตรสาวของผู้ก่อตั้งหัวเว่ยตามหมายจับของสหรัฐฯ ตลอดจนความพยายามของวอชิงตันในการขึ้นบัญชีดำบริษัทแห่งนี้ในระดับระหว่างประเทศ ด้วยข้ออ้างเรื่องความวิตกกังวลด้านความมั่นคง

บางประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของอเมริกา อย่าง ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, และญี่ปุ่น ได้ขานรับเสียงเรียกร้องของสหรัฐฯที่ให้คว่ำบาตรหัวเว่ย ขณะที่ชาติอื่นๆ อย่างเช่นอินเดีย ยังคงเชื้อเชิญบริษัทจีนแห่งนี้ให้เข้าร่วมในการทดลองด้าน 5 จี สำหรับในยุโรปนั้น ภาพที่ออกมาดูจะมีความสับสนปนเปเช่นกัน เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือ สมรรถนะด้าน 5 จีของหัวเว่ยนั้นมีมนตร์ดึงดูดใจสูงมาก โดยพวกนักวิเคราะห์บอกว่า นำหน้าไปไกลทีเดียวไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับของบริษัทอิริคสันแห่งสวีเดน, โนเกียแห่งฟินแลนด์, หรือซัมซุงแห่งเกาหลีใต้

เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายรุ่นเจเนอเรชั่นที่ 5 (5 จี) คือการก้าวกระโจนพรวดไปไกลยิ่งในเรื่องความเร็วของการสื่อสารไร้สาย และจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนา “อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” (internet of things) ซึ่งรวมถึงรถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยตัวเอง นี่คือเหตุผลที่ยุโรปต้องการได้เทคโนโลยีนี้มาใช้งานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“พวกบริษัทผู้ให้บริการได้ศึกษาพิจารณาทางเลือกอื่นๆ แล้ว แต่ต่างก็ตระหนักว่าในเรื่อง 5 จีในปัจจุบัน หัวเว่ยคือคนที่มีนวัตกรรมมากกว่า และอาจจะดียิ่งกว่าใครๆ” นี่เป็นความเห็นของ เด็กซ์เตอร์ ธิลเลียน นักวิเคราะห์แห่ง ฟิตช์ โซลูชั่นส์

“ความสามารถ” และ “ความสามารถพิเศษอันโดดเด่น”

หัวเว่ยประสบกับการถูกตรวจสอบเจาะลึกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากข้อกล่าวหาที่ว่าบริษัทมีความเกี่ยวพันกับพวกหน่วยข่าวกรองจีน เวลานี้ไม่เพียงแค่สหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังชาติพันธมิตรของอเมริกันอย่างออสเตรเลียและญี่ปุ่นด้วย ต่างประกาศสกัดกั้นไม่ให้บริษัทได้มีส่วนร่วมสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 5 จีของประเทศตน

แต่ในยุโรป เอ็มอีโอ ผู้ให้บริการการสื่อสารไร้สายรายหลักของโปรตุเกส ได้ลงนามในข้อตกลงกับหัวเว่ยเมื่อเดือนธันวาคม ระหว่างที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ไปเยือนประเทศนั้น โดยที่เอ็มอีโอกล่าวยกย่องสรรเสริญบริษัทแดนมังกรแห่งนี้ว่า “มีทั้งโนวฮาว, ความสามารถ, ความสามารถพิเศษอันโดดเด่น, และศักยภาพ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและในการลงทุนในประเทศของพวกเรา”

ตรงกับข้าม ที่นอร์เวย์ ซึ่งเครือข่ายในปัจจุบันแทบทุกส่วนใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย กลับกำลังขบคิดหาทางลดทอน “จุดอ่อน” ของตัวเอง ทั้งนี้ตามปากคำของรัฐมนตรีการขนส่งและคมนาคมของประเทศกลุ่มนอร์ดิกแห่งนี้ ซึ่งอ้างอิงอยู่ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น – โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดอ่อนที่เปิดแบแก่พวกประเทศซึ่งนอร์เวย์ “ไม่ได้มีความร่วมมือด้านความมั่นคงใดๆ ด้วย” อันเป็นการพูดพาดพิงอย่างอ้อมๆ ถึงจีนนั่นเอง

เวลาเดียวกัน ทางด้านรัฐมนตรีกลาโหมสหราชอาณาจักร กาวิน วิลเลียมสัน กล่าวว่า เขา “มีความกังวลอย่างรุนแรงและลึกล้ำยิ่ง ในเรื่องที่หัวเว่ยกำลังเป็นผู้ส่งชิ้นส่วนต่างๆ ให้แก่เครือข่าย 5 จี ในสหราชอาณาจักร”

หน่วยงานความมั่นคงทางไซเบอร์ของสาธารณรัฐเช็ก ก็แถลงว่า กฎหมายของจีนนั้น “บังคับพวกบริษัทเอกชนซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศจีน ต้องร่วมมือกับหน่วยงานข่าวกรอง” จึงทำให้บริษัทเหล่านี้อาจกลายเป็น “ภัยคุกคาม” ถ้าหากเกี่ยวข้องพัวพันกับเทคโนโลยีสำคัญๆ ของประเทศอื่นๆ

ราคาแพงแต่ก็ดีกว่า

เยอรมนีกำลังถูกกดดันหนักจากวอชิงตันให้เดินตามอเมริกา แดร์ ชปีเกล นิตยสารข่าวชื่อดังของแดนดอยซ์รายงาน ทว่าหน่วยงานกำกับตรวจสอบด้านไอทีของประเทศนี้กลับยังคงแถลงว่า ไม่เห็นมีหลักฐานใดๆ เลยซึ่งแสดงว่าหัวเว่ยสามารถใช้อุปกรณ์ของตนเพื่อสอดแนมทำจารกรรมให้ปักกิ่ง

ขณะเดียวกัน พวกบริษัทผู้ให้บริการด้านการสื่อสารทั่วทั้งยุโรป ที่ตกอยู่ใต้แรงบีบคั้นหนักหน่วงให้ต้องเสนอบริการ 5 จี ออกมาอย่างรวดเร็วนั้น ดูเหมือนต่างไม่ให้น้ำหนักเท่าใดนักแก่ความหวาดกลัวด้านความมั่นคง เนื่องจากการใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ของหัวเว่ยเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลในเชิงธุรกิจสำหรับพวกเขา

“ทุกวันนี้หัวเว่ยมีราคาแพงกว่ามากเมื่อเทียบกับพวกคู่แข่ง แต่มันก็ดีกว่ามากเช่นเดียวกัน” เป็นคำกล่าวของโฆษกผู้หนึ่ง ของบริษัทผู้ให้บริการการสื่อสารยุโรปรายหนึ่ง ซึ่งขอให้สงวนนามเนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องอ่อนไหว คุณภาพของอุปกรณ์ของหัวเว่ยนั้น “นำหน้ากว่าจริงๆ” เมื่อเทียบกับพวกคู่แข่งชาวยุโรป เขากล่าวต่อ

ยิ่งไปกว่ากัน “ทุกหนทุกแห่งในยุโรป พวกบริษัทผู้ให้บริการต่างตกเป็นเป้าหมายของการควบคุมอย่างมหาศาลในแวดวงนี้อยู่แล้ว แต่ไม่เคยเลยที่อุปกรณ์ของหัวเว่ยถูกพบว่ามีปัญหามีข้อบกพร่อง”

สิ่งที่ชวนให้รู้สึกสับสนวุ่นวายมากขึ้นไปอีกก็คือ พวกบริษัทผู้ให้บริการรายใหญ่ๆ อาจจะปฏิเสธไม่ยอมใช้อุปกรณ์หัวเว่ยในตลาดบางแห่งของพวกเขา ทว่ากลับยินดีต้อนรับเป็นอันดีในตลาดแห่งอื่นๆ

“ออเรนจ์” ผู้ให้บริการรายเก่าแก่สัญชาติฝรั่งเศส เคยบอกว่าจะไม่ใช้เครือข่ายของหัวเว่ยในฝรั่งเศส แต่กลับพร้อมที่จะนำมาใช้เป็นอย่างอันดีในการให้บริการที่สเปนและโปแลนด์

เดิมพันที่สูงลิ่วในยุโรป

ดอยช์ เทเลคอม ของเยอรมนี ประกาศทำตกลงกับหัวเว่ยสำหรับเครือข่าย 5 จี ในอนาคตของตนในโปแลนด์ แต่ไม่ได้บอกว่าจะทำอย่างเดียวกันในเยอรมนีเอง

ขณะเดียวกัน หัวเว่ยกำลังใช้ความพยายามอย่างมากมายเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าบริษัทเป็นผู้ทำธุรกิจที่สุจริตใจ โดยได้เปิดห้องแล็ปฯทดสอบขึ้นมาหลายแห่งสำหรับการพิสูจน์ตรวจสอบอุปกรณ์ของบริษัททั้งในเยอรมนีและสหราชอาณาจักร ด้วยการร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศเหล่านั้น รวมทั้งมีแผนเปิดห้องแล็ปฯอีกแห่งหนึ่งในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ภายในสิ้นไตรมาสแรกของปีนี้

เดิมพันถือว่าสูงลิ่วทีเดียว เนื่องจากยุโรปเป็นตลาดที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งสำหรับหัวเว่ย ซึ่งยอดขายโดยรวมที่ทำได้จากยุโรป, ตะวันออกกลาง, และแอฟริกานั้น เท่ากับ 27% ของยอดขายทั่วทั้งบริษทเมื่อปี 2017 โดยที่สำคัญที่สุดต้องขอบคุณการซื้อหาใช้จ่ายของพวกผู้ให้บริการในยุโรปนั่นเอง

กว๋อ ผิง ประธานหมุนเวียนของหัวเว่ย บ่นร้องทุกข์เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า บริษัทของเขากำลังตกเป็นเหยื่อของ “การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมชนิดเหลือเชื่อ”
“หัวเว่ยนั้นไม่เคยและก็จะไม่มีทางกลายเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงไปได้” กว๋อเขียนเอาไว้เช่นนี้ในข้อความอวยพรปีใหม่ซึ่งส่งถึงพนักงานของบริษัท

ยังมีนักวิเคราะห์บางรายตั้งข้อสงสัยว่า กระทั่งหากมีการสั่งห้ามใช้อุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคมของจีนอย่างกว้างขวางขึ้นมาแล้วจริงๆ มันจะสามารถรับประกันได้ว่าจะมีความมั่นคงปลอดภัยอย่างรัดกุมไร้ช่องโหว่จริงๆ หรือ

“เฉพาะแค่ในปารีสเท่านั้น ก็มีสมาร์ตโฟนของหัวเว่ยมากกว่า 1 ล้านเครื่อง ถ้าคุณต้องการที่จะดักฟังอะไรแล้ว นั่นคือโอกาสที่มากมายมหาศาลขนาดนั้นแหละที่คุณมีอยู่” ผู้ชำนาญการของแวดวงนี้ผู้นี้กล่าว

(เก็บความและปรับปรุงเพิ่มเติมจากเรื่อง Calls for Huawei boycott get mixed response in Europe ของสำนักข่าวเอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น