xs
xsm
sm
md
lg

ทรัมป์’บอกไม่ห่วงสหรัฐฯเผชิญวิกฤตหนี้สิน เพราะเขาจะไม่อยู่ในตำแหน่งแล้ว ตอนที่มันระเบิดตูมตาม

เผยแพร่:   โดย: วิลเลียม เพเซค


(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Trump’s Asian bankers hold Brazil-sized debt tranche
By William Pesek
14/12/2018

ทรัมป์ทำท่าไม่แยแสภาระหนี้สินของประเทศที่บานเบิกสูงลิ่วขึ้นทุกที โดยพูดทีเล่นทีจริงว่ากว่าปัญหานี้จะระเบิดตูมตาม เขาก็พ้นตำแหน่งไปแล้ว ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง พวกชาติเจ้าหนี้เอเชียก็ยังคงซื้อหาตราสารหนี้สหรัฐฯมาไว้ในครอบครองกันต่อไปด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ แต่สภาวการณ์เช่นนี้จะดำเนินต่อไปได้อีกนานสักแค่ไหน?

บรรดาเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารการเงินในปักกิ่ง, โตเกียว, และที่อื่นๆ ในเอเชีย กำลังเจอปัญหาปวดเศียรเวียนเกล้าขนาดมหึมาเท่าประเทศบราซิลทีเดียว ขณะที่ปี 2019 กำลังขยับใกล้เข้ามา รัฐบาลของประเทศพวกเขาจวบจนถึงบัดนี้คือผู้ที่ถือครองตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐฯรายใหญ่ที่สุด โดยที่ยอดหนี้สินดังกล่าวขยับเพิ่มขึ้นไปเกือบๆ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯแล้วในยุคแห่งการเป็นประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์

คลื่นใหญ่ยักษ์หนี้สินสีแดงเถือกลูกนี้มีขนาดคร่าวๆ เท่ากับผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รายปีของบราซิลทีเดียว และเรื่องนี้ควรที่จะทำให้พวกนายแบงก์เจ้าหนี้ชาวเอเชียของทรัมป์รู้สึกกังวลใจ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.businessinsider.com/trump-debt-crisis-fine-wont-be-here-report-2018-12)

แผนกโลบายหมุนเงินแบบหากู้หนี้ใหม่มาชดใช้หนี้เก่า มีน้อยนักหนาที่จะก่อเกิดผลดีให้แก่พวกลูกค้าซึ่งนำเงินมา “ลงทุน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่เข้ามาร่วมวงในช่วงหลังๆ กระนั้นรัฐบาลของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในกรุงปักกิ่ง และรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ในกรุงโตเกียว ก็ยังคงประสบกับสถานการณ์อันอิหลักอิเหลื่อ เมื่อต้องตัดสินใจเลือกว่าจะยังคงนำเอาเงินงบประมาณของรัฐเติมเข้าไปในแผนกโลบายเงินต่อเงินของวอชิงตันนี้ต่อไป หรือว่าจะตัดใจยุติยอมตัดขาดทุน

จริงๆ แล้วการขาดทุนดูจะหลีกเลี่ยงได้ยากสำหรับจีนซึ่งซื้อหาพันธบัตรคลังสหรัฐฯเอาไว้เป็นมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ และสำหรับญี่ปุ่นที่ครอบครองอยู่ 1.03 ล้านดอลลาร์

แล้วยังพวกเจ้าหนี้รายอื่นๆ ทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งซื้อตราสารเงินกู้ภาครัฐของอเมริกันเอาไว้ ก็มีหวังจะเจอกับชะตากรรมทำนองเดียวกัน ทั้งนี้ มีตัวเลขรายละเอียดว่า ฮ่องกงครอบครองอยู่ 192,000 ล้านดอลลาร์, ไต้หวัน 164,000 ล้านดอลลาร์, อินเดีย 144,000 ล้านดอลลาร์, สิงคโปร์ 135,000 ล้านดอลลาร์, เกาหลีใต้ 110,000 ล้านดอลลาร์, และประเทศไทย 66,000 ล้านดอลลาร์

อเมริกามาเป็นอันดับแรก พวกเจ้าหนี้ชาติเอเชียอยู่ในอันดับท้าย

หากเป็นการวางเดินพันต่อรองกันแล้ว แต้มต่อตอนนี้ก็อยู่ทางข้างที่ว่าเงินทองรวมกันมากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่งพวกชาติเอเชียปล่อยกู้ให้แก่แผนไม่ชอบมาพากลทางการคลังของทรัมป์นั้นมีหวังจะไม่ได้จบลงด้วยดี กระทั่งมาตรการตัดลดภาษีมูลค่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่งพรรครีพับลิกันของเขาผลักดันออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้เมื่อช่วงปลายปี 2017 ก็ยังวางอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าพวกเจ้าหน้าที่เอเชียยินดีที่จะพากันซื้อหาพันธบัตรคลังสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้น (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://seekingalpha.com/news/3416548-u-s-national-debt-rising-fastest-pace-since-2012-bloomberg)

อย่างไรก็ตาม มองกันในบางแง่บางมุม การซื้อตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐฯก็ถือว่าเป็นการวางเดิมพันเล่นพนันที่สมเหตุสมผล ทั้งนี้ถ้าหากเอเชียได้เรียนรู้บทเรียนอะไรขึ้นมาจากการเผชิญวิกฤตการณ์ทั้งในช่วงปี 1997 (ที่ในไทยนิยมเรียกกันว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง -ผู้แปล) และในช่วงปี 2008 (ที่ในไทยนิยมเรียกกันว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ –ผู้แปล) แล้ว มันก็คือเรื่องของความจำเป็นที่จะต้องมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศปริมาณมากมายมหาศาล

นอกจากนั้นแล้ว ความปรารถนาที่จะรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้าเอาไว้ ยังกลายเป็นแรงจูงใจซึ่งทำให้รัฐบาลชาติต่างๆ ในเอเชียพากันสนับสนุนนโยบายเงินดอลลาร์แข็ง ซึ่งก็คือมุ่งหน้าซื้อหาหนี้สินของสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้น

แต่ก็นั่นแหละ การที่ยอดหนี้สินภาคสาธารณะคงค้างของสหรัฐฯทะยานขึ้นไปถึง 6.6% ในระยะเวลาเพียงแค่ 23 เดือนของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ ย่อมยากนักหนาที่จะก่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจขึ้นมาได้ การตั้งงบประมาณจับจ่ายใช้สอยแบบใจกว้างเป็นแม่น้ำของทรัมป์ทั้งในด้านการทหาร, ความมั่นคงบริเวณชายแดน, และในประเด็นซึ่งเป็นที่ชื่นชอบพิเศษของเขาอีกจำนวนหนึ่ง มีลักษณะคลับคล้ายกับพวกเสือแห่งเอเชียในช่วงก่อนปี 1997 มากกว่าจะเป็น 1 ในชาติกลุ่ม จี7

เช่นเดียวกับการที่เขาพูดจาหยอกเย้าหน้าเป็นเกี่ยวกับภาระหนี้สินจำนวนรวม 22 ล้านล้านดอลลาร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สื่อ เดลี่บีสต์ (Daily Beast) รายงานข่าวการพูดจากันอันชวนให้ตื่นตะลึงระหว่างทรัมป์กับพวกที่ปรึกษาของเขา โดยที่เมื่อพวกสมาชิกระดับวงในของเขาหยิบยกแสดงความเป็นห่วงเรื่องที่สหรัฐฯกำลังนำตัวเองเข้าไปอยู่ในวิกฤตแห่งหนี้สิน ทรัมป์ก็ยักไหล่และตอบว่า “มันก็ใช่ล่ะนะ แต่ผมจะไม่ได้อยู่ตรงนี้แล้วนี่” เมื่อมันระเบิดตูมตามขึ้นมา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thedailybeast.com/trump-on-coming-debt-crisis-i-wont-be-here-when-it-blows-up)[1]

ท่าทีกำกวมคลุมเครือเช่นนี้ควรที่จะสร้างความกังวลให้แก่พวกรัฐบาลชาติเอเชียซึ่งกำลังถือครองหนี้สินที่ทำให้สหรัฐฯสามารถใช้จ่ายเกินตัวได้ นอกจากนั้นแล้วยังเป็นสิ่งสมควรที่จะหมายเอาไว้ด้วยว่า ระหว่างการตระเวนหาเสียงเพื่อเป็นประธานาธิบดีนั้น ทรัมป์กระทั่งเคยเสนอแนะอย่างไม่ได้รู้สึกอับอายอะไรในประเด็นปัญหาเรื่องการชักดาบเบี้ยวหนี้

เมื่อถูก ซีเอ็นบีซี สถานีโทรทัศน์ช่องการเงินการลงทุนไต่ถามในเดือนพฤษภาคมปี 2016 ว่า เขาจะเหนี่ยวรั้งภาระหนี้สินที่กำลังพุ่งพรวดพราดขึ้นไปเรื่อยๆ ของวอชิงตันอย่างไร ทรัมป์ก็ตอบว่า “ผมจะกู้ไปเรื่อยๆ โดยรู้ดีว่าถ้าหากเศรษฐกิจเกิดพังครืนลงมา คุณก็สามารถที่จะเจรจาต่อรองทำข้อตกลงได้”

นี่แหละคือความคิดเห็น จากบุรุษผู้ซึ่งในช่วงก่อนขึ้นเป็นประธานาธิบดี ก็ได้ใช้ชีวิตด้วยการกู้ยืมเงินเป็นพันๆ หมื่นๆ ล้าน แล้วก็ประกาศขอล้มละลาย และหลังจากเจรจาต่อรองทำข้อตกลงประนอมหนี้แล้วก็เดินหน้ากันต่อไป แน่นอนทีเดียวว่า ความเสี่ยงที่พวกแบงก์ชาติในเอเชียทั้งหลายต้องคำนึงก็คือ ทรัมป์มองพวกเขาด้วยทัศนะทำนองเดียวกับที่เขาเคยใช้มองเจ้าหนี้ของเขาเองมาก่อน

เรื่องนี้บ่งบอกให้เห็นว่าทรัมป์พร้อมจะจับจ่ายใช้สอยและสะสมหนี้สินพอกพูนขึ้นโดยไม่ใส่ใจแล้วจากนั้นก็ก้าวเดินผละจากไป โดยปล่อยให้พวกทายาทคนรุ่นต่อๆ ไปเป็นผู้ที่ต้องเผชิญกับความยุ่งเหยิงซึ่งเกิดขึ้น แน่นอนล่ะพวกทายาทคนรุ่นต่อๆ ไปที่ว่านี้ย่อมครอบคลุมถึงบรรดาเจ้าหนี้ของอเมริกาด้วย

การใช้มาตรการเสี่ยงๆ มีผลกระทบทั้งด้านตรงและด้านกลับ

การใช้มาตรการแบบเสี่ยงๆ นั้น ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านตรงและด้านกลับ ขณะที่ทรัมป์เพิ่มความดุเดือดเข้มข้นในการทำสงครามการค้าของเขาอยู่นั้น สีก็อาจบลั้ฟกลับโดยใช้เงินดอลลาร์ที่แดนมังกรถือครองเอาไว้จำนวนมหาศาลมาเป็นเครื่องมือต่อรอง

อันที่จริงแล้ว มีรายงานว่า เมื่อปี 2011 รัฐบาลของ หู จิ่นเทา ประธานาธิบดีคนก่อนของจีนกำลังพิจารณาที่จะหยิบอาวุธนี้ออกมาใช้อยู่แล้ว โดยที่ในเวลานั้น เหรินหมินรึเป้า (People’s Daily) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ออกบทบรรณาธิการชิ้นหนึ่งเสนอแนะว่า “ขณะนี้ถึงเวลาสำหรับจีนแล้วที่จะใช้อาวุธทางการเงินของตนมาสั่งสอนให้บทเรียนแก่สหรัฐฯ” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://en.people.cn/90780/91342/7562776.html)

เมื่อปี 2011 ปักกิ่งมีความโกรธเกรี้ยวการที่วอชิงตันเข้าพิทักษ์ปกป้องไต้หวัน ส่วนในทุกวันนี้ปักกิ่งอาจจะยัวะจัดเรื่องภาษีศุลกากร อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องแน่นอนทีเดียวว่าถ้าเมื่อใดปักกิ่งตัดสินใจเทขายดอลลาร์ซึ่งถือครองไว้ มันก็จะก่อให้เกิดผลด้านกลับขึ้นมาด้วย ไม่ได้มีเพียงผลด้านตรงเท่านั้น

นอกเหนือจากต้องประสบการขาดทุนอย่างมหาศาลจากมูลค่าของดอลลาร์ซึ่งจะลดฮวบลงมาเมื่อถูกเทแล้ว สิ่งที่จะต้องเกิดตามมาอย่างอื่นๆ โดยเฉพาะการที่อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯต้องขยับขึ้นพรวดพราด ย่อมจะกระหน่ำใส่การบริโภคของคนอเมริกัน แล้วส่งผลต่อเนื่องกลายเป็นการทำลายเครื่องจักรการส่งออกอันเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของฝ่ายจีน

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลของสีย่อมมีเหตุผลทุกๆ ประการที่จะรู้สึกกังวลใจจากการที่ถือครองตราสารหนี้อเมริกันเอาไว้มากมาย ทำให้ดูเหมือนกับต้องตกเป็นเหยื่ออารมณ์เอาแน่เอานอนไม่ได้ของทรัมป์ ประเด็นนี้ก็เช่นกัน ในอดีตปักกิ่งได้เคยแสดงความวิตกเกี่ยวกับมูลค่าของพันธบัตรคลังสหรัฐฯมาแล้ว

ในปี 2009 เวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีนขณะนั้น ออกมาเรียกร้องวอชิงตันให้ปกป้องคุ้มครองเงินของปักกิ่ง “เราได้ปล่อยเงินกู้ให้สหรัฐฯเป็นจำนวนมหึมา (ด้วยการเข้าซื้อตราสารหนี้ของกระทรวงการคลังอเมริกัน)” เวินบอก “แน่นอนทีเดียว เราต้องมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับความปลอดภัยของสินทรัพย์ของเรา พูดกันตรงไปตรงมาเลยนะ ผมน่ะมีความวิตกกังวลอยู่นิดหน่อยแหละ” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/world/2009/mar/13/china-us-economy)

เวินเรียกร้องให้สหรัฐฯ “รักษาคำพูดของตนเอง, วางตนอยู่ในฐานะชาติซึ่งมีเครดิตน่าเชื่อถือ, และรับประกันว่าสินทรัพย์ซึ่งจีนถือครองอยู่จะมีความปลอดภัย”

แต่พูดก็พูดเถอะ ความเสี่ยงที่สหรัฐฯจะชักดาบเบี้ยวหนี้นั้น ยังถือได้ว่าเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝันจินตนาการ ไม่ว่าทรัมป์จะได้เคยพูดอะไรเอาไว้ในอดีตที่ผ่านมา

สภาวการณ์ในเวลานี้ก็คือ ทำเนียบขาวของเขาต้องการได้เงินทองของเอเชียไหลเข้ามา ขณะที่เอเชียก็ต้องการให้สหรัฐฯเป็นบริกรผู้คอยดูแลเงินออมเป็นหลักล้านล้านดอลลาร์ของพวกเขาอย่างรับผิดชอบ ทั้งสองข้างของความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันและกันนี้ต่างไม่ควรที่จะถืออีกฝ่ายหนึ่งเป็น “ของตาย” ที่จะทิ้งขว้างละเลยอย่างไรก็ได้

ยิ่งฝ่ายทำเนียบขาวด้วยแล้ว ยิ่งไม่ควรคิดทึกทักเลยว่า เอเชียจะยังคงออกเงินกู้มาคอยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยเกินตัวของตนเรื่อยๆ ไป

หมายเหตุผู้แปล

[1] ในรายงานข่าวชิ้นนี้ของเดลี่บีสต์ ระบุว่า
นับตั้งแต่ช่วงออกรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเพื่อเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 แล้ว ทั้งพวกผู้ช่วยและพวกที่ปรึกษาของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้พยายามโน้มน้าวให้เขายอมรับถึงความสำคัญของการแก้ไขจัดการกับภาระหนี้สินของประเทศชาติ

แต่แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีผู้นี้หลายรายเล่าว่า เขาเพิกเฉยไม่ให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยแสดงท่าทีว่าเขาไม่จำเป็นต้องกังวลอะไรเกี่ยวกับเงินทองซึ่งติดหนี้พวกเจ้าหนี้ของอเมริกาเหล่านี้ (ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับประมาณ 21 ล้านล้านดอลลาร์) เพราะเขาจะไม่ได้อยู่ใกล้ๆ เพื่อแบกรับเสียงประณามตำหนิแล้ว เมื่อตอนที่ปัญหานี้กลายเป็นสิ่งที่ต้านทานไม่ไหวยิ่งขึ้นไปกว่านี้

ความขัดแย้งในเรื่องนี้ปรากฏออกมาอย่างชัดเจนในช่วงต้นปี 2017 เมื่อพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสนำเสนอทั้งชาร์ตและกราฟฟิกที่บรรจุตัวเลขต่างๆ และแสดงให้เห็นว่าภาระหนี้สินของประเทศกำลังอยู่ในรูปพุ่งขึ้นไป “แบบไม้ฮอกกี้” ในอนาคตอันไม่ไกลจากนี้นัก ปรากฏว่าทรัมป์โต้ตอบด้วยการชี้ว่า ข้อมูลเหล่านี้บ่งบอกว่าหนี้สินนี้จะไปถึงจุดวิกฤตก็ภายหลังจากวาระที่สองในการดำรงตำแหน่งของเขา (หากเขาชนะเลือกตั้งอีกสมัย) สิ้นสุดลงแล้ว

“มันก็ใช่ล่ะนะ แต่ผมจะไม่ได้อยู่ตรงนี้แล้วนี่” ประธานาธิบดีผู้นี้พูดโพล่งออกมา ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในห้องด้วยเมื่อตอนที่ทรัมป์พูดออกความเห็นเช่นนี้ระหว่างการถกเถียงหารือปัญหาหนี้สินของประเทศ

ฉากเหตุการณ์คราวนั้นวาดภาพให้เห็นว่าประธานาธิบดีทรัมป์มีความกำกวมคลุมเครือขนาดไหนในเรื่องการมุ่งแก้ไขจัดการกับปัญหาซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยกระตุ้นให้พรรครีพับลิกันอยู่เฉยไม่ได้ ตั้งแต่ยุคของโรนัลด์ เรแกน ไปจนถึงช่วงการเป็นประธานาธิบดีของบารัค โอบามา

อย่างไรก็ดี รายงานของเดลี่บีสต์อ้างคำพูดของ มาร์ค ชอร์ต (Marc Short) ซึ่งทำงานเป็นผู้อำนวยการด้านกิจการนิติบัญญัติให้ทรัมป์ จนกระทั่งออกจากตำแหน่งเมื่อเร็วๆ นี้ ที่บอกว่า อันที่จริงทรัมป์ก็ยอมรับเรื่อง “ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นเรื่องหนี้สิน” อยู่เหมือนกัน ดังเห็นได้จากการที่ทรัมป์กังวลใจ “เกี่ยวกับการที่อัตราดอกเบี้ยกำลังเพิ่มสูงขึ้น”

เดลี่บีสต์ยังอ้างคำบอกเล่าของพวกคนที่ใกล้ชิดกับทรัมป์ที่กล่าวว่า เหตุผลประการหนึ่งที่ทรัมป์ไม่เคยถูกกระตุ้นให้รู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรกันมั่ง ในเรื่องการลดภาระหนี้สินเลยก็คือ เขาเชื่อมั่นว่าเรื่องนี้สามารถแก้ไขได้โดยผ่านเครื่องมืออื่นๆ นอกเหนือจากการขึ้นภาษีสูงลิ่ว หรือการลดการใช้จ่ายลงอย่างฮวบฮาบ

สตีเฟน มัวร์ นักเศรษฐศาสตร์หัวอนุรักษนิยมแห่ง เฮอริเทจ ฟาวเดชั่น และก็เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจผู้หนึ่งในทีมรณรงค์หาเสียงเมื่อปี 2016 ของทรัมป์ เล่าความหลังว่าได้เคยนำเสนอภาพเกี่ยวกับความหนักหน่วงของปัญหาหนี้สินแก่ทรัมป์ในช่วงกลางปี 2016 แต่ตัวเขาก็ยืนยันกับทรัมป์ว่า เรื่องนี้สามารถจัดการได้ด้วยการมุ่งโฟกัสไปที่การเติบโตขยายตัวของเศรษฐกิจ

“นั่นคือเหตุผลที่ทำไม เมื่อเขาเผชิญหน้ากับฉากทัศน์ภาพสมมุติสถานการณ์เกี่ยวกับหนี้สินที่เป็นเสมือนฝันร้ายเหล่านี้ ผมคิดว่าเขาจะปฏิเสธไม่ยอมรับมัน เพราะถ้าหากคุณยังทำให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้ ... คุณก็จะไม่มีปัญหาหนี้สิน” มัวร์ยังบอกต่อไปว่า “ผมทราบอยู่สองสามครั้งที่เมื่อมีคนจะหยิบยกปัญหาหนี้สินมหาศาลขึ้นมา เขา(ทรัมป์)ก็จะพูดว่า ‘เราจะเติบโตขยายตัวจากวิธีการของเราจนพ้นจากปัญหานี้ได้’”

เดลี่บิสต์บอกว่า ตัวมัวร์เองนับแต่งนั้นก็ป่าวร้องเชิดชูว่าวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้สินนี้แหละ คือส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของ “ทรัมโปโนมิกส์” (Trumponomics) รวมทั้งได้ร่วมเขียนหนังสือเล่มหนึ่งเพื่อสนับสนุนแนวทางนี้ด้วย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.google.com/amp/s/www.washingtonexaminer.com/news/trump-goes-on-book-endorsing-twitter-tear-ahead-of-christmas%3f_amp=true)

รายงานชิ้นนี้กล่าวว่า ความเชื่อที่ว่าหากเศรษฐกิจเติบโตอย่างหนักแน่นมั่นคงจะสามารถแก้ปัญหาทุกๆ อย่าง ได้กลายเป็นเหตุผลสร้างความชอบธรรมให้แก่ข้อเสนออันแสนทะเยอทะยานของทรัมป์ทั้งในเรื่องการตัดลดภาษี, การเดินหน้าโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ๆ, และการหลีกเลี่ยงไม่ตัดลดแรงๆ ในเรื่องสวัสดิการสังคมและโครงการเมดิแคร์

เจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะบริหารทรัมป์ในปัจจุบันคนหนึ่งได้เคยพูดระบายอารมณ์ว่า ทรัมป์ “ไม่ได้เป็นห่วงใยอะไรจริงจัง” เกี่ยวกับการแก้ไข “วิกฤต” หนี้สินอย่างแท้จริงเลย และนิยมมากกว่าที่จะพูดแต่เรื่อง “การสร้างงานและการเติบโต ไม่ว่ามันจะหมายถึงอะไรก็ตามที”

เดลี่บีสต์ชี้ว่า พรรครีพับลิกันนั้นเดิมตามสิ่งที่ทรัมป์เชื่อนี้เป็นส่วนใหญ่ โดยในช่วง 2 ปีแรกแห่งวาระการเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ ชาวรีพับลิกันในรัฐสภาได้ยินยอมโหวตลดภาษีลงอย่างมหาศาล ขณะที่เพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมและการใช้จ่ายด้านอื่นๆ

แต่ผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมาไม่ได้เป็นอย่างที่ทรัมป์และมัวร์ให้สัญญาไว้ อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นในตอนนี้ จริงอยู่ การเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา รวมทั้งสูงถึง 4.1% ในไตรมาส 2 ของปี 2018 ด้วย ทว่าการขาดดุลงบประมาณแผ่นดินก็เพิ่มขึ้นบานเบิกเช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งเนื่องจากรัฐบาลมีรายรับลดน้อยลงจากการลดภาษี ขณะที่การคาดการณ์ในปัจจุบันเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯในอนาคตก็ดูไม่ค่อยสดใส
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thedailybeast.com/trump-on-coming-debt-crisis-i-wont-be-here-when-it-blows-up)



กำลังโหลดความคิดเห็น