xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นศาลชี้ชะตาอดีตที่ปรึกษาทรัมป์ คาดสร้างภาพเป็นเหยื่อเพื่อหลุดคดี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอพี – จากที่มีแนวโน้มรอดคุกหลังให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับอัยการรัฐมาโดยตลอด แต่การเปิดเผยเอกสารการให้ปากคำกับเอฟบีไอก่อนขึ้นศาลเพียงวันเดียว ทำให้อนาคตของ ไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ไร้ความแน่นอนทันที อย่างไรก็ตาม ผู้รู้บางคนมองว่า ฟลินน์อาจกำลังสร้างภาพว่า ตัวเองตกเป็นเหยื่อเพื่อให้ได้รับการอภัยโทษ

ทีมทนายความของฟลินน์อ้างว่า เจ้าหน้าที่สอบสวนขัดขวางไม่ให้ลูกความของตนมีทนายอยู่ด้วยระหว่างการซักถามเมื่อปีที่แล้ว อีกทั้งไม่แจ้งว่า การให้การเท็จมีความผิดทางอาญา แต่เหล่าอัยการตอกกลับว่า ไม่จำเป็นต้องเตือนว่า การโกหกเจ้าหน้าที่รัฐมีความผิดทางอาญาเพื่อให้ฟลินตระหนักถึงความสำคัญของการพูดความจริง

การโต้แย้งและการแทรกแซงจากผู้พิพากษาเมื่อค่ำวันจันทร์ (17 ธ.ค.) หรือหนึ่งวันก่อนที่ฟลินน์จะขึ้นศาล ส่งผลให้คณะอัยการต้องเปิดเผยสำเนาฉบับแก้ไขตรวจทานบันทึกคำให้การของฟลินน์ต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ที่เผยให้เห็นว่า หลายสิ่งที่ให้การไปเป็นสิ่งที่เขายอมรับในภายหลังว่า ไม่เป็นความจริง

กลยุทธ์การปิดบังความลับด้วยการพูดเป็นนัยกำลังทำให้ความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนราบรื่นระหว่างฟลินน์กับอัยการเริ่มสะดุด และยิ่งน่าสนใจมากขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานของโรเบิร์ต มุลเลอร์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านกฎหมาย เพิ่งยกย่องว่า ฟลินน์ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แถมเสนอแนะว่า ไม่ควรจำคุกอดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

จิมมี กูรูล อดีตอัยการรัฐและปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยนอร์ทร์ดาม คาดว่า ฟลินน์อาจพยายามขอความเห็นใจจากทรัมป์โดยป้ายสีมุลเลอร์ หรือสร้างภาพว่า ตนเองเป็นเหยื่อเพื่อเรียกร้องความเห็นใจจากผู้พิพากษาที่ขึ้นชื่อว่า ไม่ยอมรับการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเด็ดขาด

ก่อนที่จะมีการยื่นเรื่องขอเอกสารคำให้การเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฟลินน์ให้ความร่วมมือกับอัยการอย่างดี และส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้กลยุทธ์ก้าวร้าวแบบผู้ถูกสอบสวนคนอื่นๆ เช่น พอล มานาฟอร์ต อดีตประธานทีมหาเสียงของทรัมป์ ที่ถูกอัยการกล่าวหาว่า ให้การเท็จทั้งที่ตกลงให้ความร่วมมือ เป็นต้น

ปัญหาเริ่มขึ้นเมื่อมีการเปิดเผยบันทึกคำให้การของฟลินน์ โดยแม้เขาและทีมทนายไม่ได้กล่าวหาโดยตรง แต่พูดเป็นนัยว่า เอฟบีไอที่เข้าพบฟลินน์ที่ทำเนียบขาวหลังจากทรัมป์เข้ารับตำแหน่งไม่กี่วัน ใช้ประโยชน์จากการที่เขาต้องการเก็บงำเรื่องการพบกันเป็นความลับ ทำให้เขาไม่สามารถเรียกทนายมาช่วยแนะนำได้ระหว่างการพูดคุย

ฟลินน์และทีมทนายยังพูดเป็นเชิงว่า ฟลินน์ควรได้เครดิตที่ไม่ฉวยโอกาสที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการสอบสวนตนถูกตรวจสอบเสียเองในเวลาต่อมา ยกตัวอย่างเช่น แอนดริว แมคคาบี อดีตรองผู้อำนวยการเอฟบีไอที่เป็นผู้ติดต่อเพื่อซักถามฟลินน์ ที่ถูกกระทรวงยุติธรรมปลดในปีนี้ด้วยเหตุผลว่า ไม่ตรงไปตรงมาเรื่องข้อมูลภายในหลุดถึงหูสื่อ ฯลฯ

ทีมงานของมุลเลอร์โต้กลับกรณีที่ฟลินน์บอกว่า ตัวเองถูกหลอก โดยบอกว่า เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงที่เข้าถึงข้อมูลความมั่นคงของชาติอย่างฟลินน์รู้ดีว่า ไม่ควรโกหกเจ้าหน้าที่รัฐ

ทางด้านทรัมป์ที่วิจารณ์ว่า การสอบสวนของมุลเลอร์เป็นการ “ล่าแม่มด” และโจมตีคณะอัยการว่า อคติกับตนเองนั้น ยังคงแสดงความเห็นอกเห็นใจฟลินน์อย่างชัดเจน และสัปดาห์ที่แล้วออกมายืนยันด้วยความเข้าใจผิดว่า เอฟบีไอบอกว่า ฟลินน์ไม่ได้โกหก

ล่าสุด ฟลินน์ไม่มีทีท่าว่าต้องการยกเลิกการสารภาพความผิด และสัญญาณทุกอย่างบ่งชี้ว่าการพิจารณาคดีจะเป็นไปตามกำหนดเดิมในวันอังคาร (18 ธ.ค.)

อรัน ราโอ อดีตอัยการกระทรวงยุติธรรมรัฐแมรีแลนด์ บอกว่า บันทึกฝ่ายจำเลยน่าสนใจมากเพราะขัดแย้งกับการให้ความร่วมมือของฟลินน์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จนน่าสงสัยว่า อาจเป็นเทคนิคเพื่อเรียกร้องให้ได้รับการอภัยโทษ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ข้อกล่าวอ้างบางส่วนของจำเลยอาจได้รับความสนใจจากเอ็มเม็ต ซัลลิแวน ผู้พิพากษาศาลแขวงที่ขึ้นชื่อว่า ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งรวมถึงอัยการ ใช้กลยุทธ์หรือวิธีการที่ไม่โปร่งใสเพื่อให้ชนะคดี

ในคดีฟลินน์นั้น ซัลลิแวนสั่งให้อัยการนำเสนอบันทึกของเอฟบีไอ ซึ่งรวมถึงบางส่วนของบันทึกคำให้การฟลินน์นับจากวันที่ 24 มกราคม 2017 ซึ่งมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนในช่วงค่ำวันจันทร์และเปิดเผยเกี่ยวกับการซักถามฟลินน์เรื่องการติดต่อกับรัสเซีย รวมถึงการเดินทางไปรัสเซียและการพูดคุยกับเซียร์เก คิสลิยาค เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำวอชิงตันในขณะนั้น

บันทึกเหล่านั้นระบุว่า ฟลินน์ให้การว่า ไม่ได้เสนอกับคิสลิยาคว่า จะระงับการเพิ่มมาตรการแซงก์ชันรัสเซียที่อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาบังคับใช้ แลกเปลี่ยนกับการแทรกแซงการเลือกตั้ง ซึ่งต่อมา ฟลินน์สารภาพในศาลว่า ยื่นข้อเสนอดังกล่าวกับทูตแดนหมีขาวจริง

บันทึกอีกฉบับระบุว่า ฟลินน์ให้การว่า ไม่ได้ขอให้คิสลิยาคพิจารณาว่า รัสเซียพอจะหาวิธีโหวตคัดค้านหรือชะลอมติของสหประชาชาติเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลได้หรือไม่ แต่ในการให้การต่อศาลเมื่อปีที่แล้ว ฟลินน์ยอมรับว่า ขอให้คิสลิยาคทำแบบนั้นจริงตามที่ได้รับคำสั่งมาจากจาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยของทรัมป์
กำลังโหลดความคิดเห็น