เอเอฟพี – วาฬนำร่องกว่า 50 ตัวเกยตื้นตายในนิวซีแลนด์ในวันนี้ (30) ในการเกยตื้นหมู่ครั้งล่าสุดในสัปดาห์นี่ที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่ามีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิในมหาสมุทรที่เพิ่มสูงขึ้น
วาฬเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งฝูงวาฬ 80-90 ตัวที่ถูกพบเมื่อค่ำวันพฤหัสบดี (29) บริเวณชายฝั่งของเกาะชาแธมอันห่างไกล ห่างจากเกาะเซาท์ไอซ์แลนด์ไปทางตะวันออกราว 800 กิโลเมตร หน่วยงานอนุรักษ์ ระบุ
นี่เป็นการเกยตื้นครั้งที่ 5 ในแดนกีวีในช่วงเวลาไม่ถึงสัปดาห์ รวมถึงวาฬนำร่อง 145 ตัวที่ตายทั้งหมดหลังจากเกยตื้นเมื่อสุดสัปดาห์บนเกาะสจ๊วต นอกชายฝั่งทางใต้ของเกาะเซาท์ไอซ์แลนด์
เมื่อเจ้าหน้าที่อนุรักษ์เดินทางไปถึง วาฬ 50 ตัวสุดท้ายได้ตายแล้วในช่วงเช้าวันศุกร์ (30) มีหนึ่งตัวยังคงเกยตื้นอยู่แต่ยังไม่ตาย ขณะที่ส่วนที่เหลือพาตัวเองลอยกลับสู่ทะเลหมดแล้ว
ผู้จัดการหน่วยงานอนุรักษ์ เดฟ คาร์ลตัน กล่าวว่า วาฬตัวที่รอดชีวิตอยู่ในอาการย่ำแย่และได้ถูกการุณยฆาตแล้ว
“นี่เป็นสิ่งที่มีมนุษยธรรมที่สุดที่เราจะทำได้ นี่เป็นการตัดสินใจที่น่าปวดใจเสมอ” เขากล่าว
เกาะชาแธมเป็นสถานที่เคยมีการเกยตื้นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของนิวซีแลนด์เมื่อปี 1918 เป็นการเกยตื้นของวาฬกว่า 1,000 ตัว
นอกเหนือจากการเกยตื้นที่เกาะชาแธมและเกาะสจ๊วตในสัปดาห์นี้ ยังมีวาฬเพชฌฆาตดำ 12 ตัวก็เกยตื้นในตอนเหนือสุดของนิวซีแลนด์ด้วย และมีวาฬสเปิร์มหนึ่งตัวกับวาฬสเปิร์มเล็กอีกหนึ่งตัวเกยตื้นบนเกาะนอร์ธไอซ์แลนด์
เหตุผลที่วาฬและโลมาเกยตื้นยังคงไม่มีใครเข้าใจอย่างชัดเจนแต่ปัจจัยส่วนหนึ่งมีที่ความเกี่ยวข้องคือความเจ็บป่วย ความผิดพลาดในการนำร่อง ลักษณะทางภูมิศาสตร์ การถูกไล่ล่าโดยนักล่า และสภาพอากาศที่เลวร้าย
คาเรน สต็อกกิน นักวิทยาศาสตร์ด้านสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมจากมหาวิทยาลัยแมสซี กล่าวว่า ถึงแม้ว่าการเกยตื้นของวาฬเป็นเรื่องค่อนข้างปกติในนิวซีแลนด์ แต่การที่เกิดขึ้นหลายครั้งในห้วงเวลาสั้นๆ นี้ไม่ใช่เรื่องปกติ
เธอยังชี้ให้เห็นด้วยว่า สัตว์สายพันธุ์อย่างวาฬเพชฌฆาตและวาฬสเปิร์มไม่ได้เกยตื้นเป็นปกติ ต่างกับวาฬนำร่องที่มักขึ้นมาเกยตื้นบนชายฝั่งนิวซีแลนด์ในช่วงเดือนฤดูร้อน
สต๊อกกินซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการเกยตื้นให้กับคณะกรรมการล่าวาฬระหว่างประเทศ (International Whaling Commission) กล่าวว่า ความผิดปกตินี้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา
นอกเหนือจากการเกยตื้นที่เพิ่มมากขึ้น เธอกล่าวว่า จำนวนสายพันธุ์สัตว์จำนวนหนึ่งดูเหมือนไม่ได้ปรากฏให้เห็นน่านน้ำนิวซีแลนด์เหมือนปกติ รวมถึงปลาวาฬสีน้ำเงินขนาดมหึมาในอ่าวฮาอูรากีใกล้เมืองโอ๊คแลนด์
สต๊อกกิน กล่าวว่า ปัจจุบันนิวซีแลนด์เผชิญกับอุณหภูมิมหาสมุทรที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเธอเชื่อว่า มันส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมวาฬ
“เราเผชิญกับสัปดาห์ที่ผิดปกติซึ่งเราไม่ได้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และมันพูดได้เต็มปากว่ามันเป็นปีที่ผิดปกติทั้งปี” เธอบอกกับเอเอฟพี
“ฉันสงสัยว่าการเกยตื้นส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากอุณหภูมิพื้นผิวทะเลที่อุ่นขึ้นอย่างที่เรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้”
“เราเห็นอุณหภูมิที่มีพุ่งสูง นั่นน่าจะส่งผลต่อการย้ายถิ่นของเหยื่อ ด้วยเหตุนั้นเราจึงเห็นเหยื่อกำลังเคลื่อนที่และวาฬก็เคลื่อนย้ายตาม”
เธอกล่าวว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิมหาสมุทรสูงขึ้นถือรูปแบบสภาพอากาศเอลนีโญ แต่ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศก็อาจมีส่วนเช่นกัน