xs
xsm
sm
md
lg

กระแสอยู่ต่อมาแรง! โพลล่าสุดชี้ชาวอังกฤษ 54% หนุนอยู่ร่วมกับสหภาพยุโรป

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี - ผลสำรวจความคิดเห็นซึ่งครอบคลุมที่สุดเท่าที่เคยมีมาพบว่า ชาวอังกฤษร้อยละ 54 ต่อ 46 จะโหวตอยู่ร่วมกับสหภาพยุโรป (อียู) หากมีการทำประชามติว่าด้วยเบร็กซิตครั้งที่สอง ซึ่งมากกว่าผู้ที่สนับสนุนการ ‘แยกตัว’ (leave) ในผลประชามติเมื่อ 2 ปีก่อน

กระแสสนับสนุนให้ ‘อยู่ต่อ’ (remain) นี้อาจถูกนำไปอ้างโดยฝ่ายที่ต้องการจัดลงประชามติอีกครั้งหลังจากที่รัฐบาลอังกฤษบรรลุเงื่อนไขความสัมพันธ์ทางการค้ากับอียู ก่อนที่ลอนดอนจะแยกตัวออกจากกลุ่ม 27 ประเทศอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มี.ค. ปีหน้า

ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าหากอังกฤษและอียูไม่สามารถตกลงกันได้จะเกิดอะไรขึ้น แต่บางคนเสนอว่าควรจะจัดทำประชามติว่าด้วยเบร็กซิตเป็นครั้งที่ 2

นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ปฏิเสธแนวคิดที่ว่านี้ โดยแย้งว่าการจัดหยั่งเสียงใหม่ทั้งที่ชาวอังกฤษได้ตัดสินใจผ่านผลประชามติเมื่อปี 2016 ไปแล้วนั้น “ไม่เป็นประชาธิปไตย”

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ชาวอังกฤษโหวตสนับสนุนการถอนตัวออกจากอียูด้วยคะแนน 52 ต่อ 48% โดยมีปัจจัยกระตุ้นจากความต้องการที่จะทวงคืนอำนาจควบคุมพรมแดนเพื่อสกัดผู้ลี้ภัยนับล้านๆ คนหลั่งไหลเข้าไปยังสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตาม การเจรจาเงื่อนไขความสัมพันธ์กับอียูกลับเผชิญปัญหาเรื่องพรมแดนไอร์แลนด์ และกรอบข้อตกลงกว้างๆ ที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นนั้นก็ไม่เหมือนกับที่ฝ่ายโปรเบร็กซิตคาดหวังเอาไว้เมื่อ 2 ปีก่อน

โพลล่าสุดนี้สรุปจากแบบสำรวจออนไลน์ของสถาบันเซอร์เวชัน (Survation) ซึ่งทำขึ้นตามการว่าจ้างของสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 โดยสอบถามความคิดเห็นชาวอังกฤษ 20,000 คน ระหว่างวันที่ 20 ต.ค. ถึงวันที่ 2 พ.ย. และไม่ได้ระบุว่ามีค่าความผิดพลาดเท่าไหร่

ผลสำรวจยังพบว่า จำนวนผู้สนับสนุนเบร็กซิตในเมืองที่เคยโหวต leave นั้นลดลงประมาณ 10%

ที่เซาแทมป์ตันซึ่งเป็นเมืองท่าทางตอนใต้และมีประชากรราว 250,000 คน เสียงสนับสนุนค่าย leave ลดลงจาก 53.8% เหลือเพียง 41.8% ส่วนที่เบอร์มิงแฮมซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมตอนกลางของประเทศ และมีประชากรราว 1 ล้านคน กระแสโหวต leave ก็ลดลงจาก 50.4% เหลือเพียง 41.8%

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่ประกาศตัวเป็นสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟของ เมย์ สนับสนุนข้อตกลงระหว่างอังกฤษกับอียู 41 ต่อ 30%

ผลสำรวจชิ้นนี้น่าจะเป็นผลดีสำหรับ เมย์ ซึ่งถูกบรรดารัฐมนตรีที่ลังเลสงสัยในอียู (eurosceptics) กดดันให้หาวิธีตัดสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอียูอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด หลังจากที่เบร็กซิตเริ่มมีผลอย่างเป็นทางการในปีหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น