xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งที่‘อาเบะ’ได้จากการไปเจรจากับ‘สี จิ้นผิง – หลี่ เค่อเฉียง’

เผยแพร่:   โดย: แอนดรูว์ แซลมอน

<i>นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น จับมือกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ก่อนเริ่มการเจรจาหารือกันที่ทำเนียบรับรองแขกเมือง เตี้ยวอี่ว์ไถ ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 26 ต.ค. </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Abe’s Chinese takeaway: Filling, but not a feast
By Andrew Salmon
27/10/2018d

นายกฯ‘อาเบะ’ของญี่ปุ่นเดินทางไปเจรจากับผู้นำจีน เพื่อรีเซตความสัมพันธ์กันใหม่ โดยทั้งประเทศได้ลงนามในดีลทางด้านเสถียรภาพทางการเงินและธุรกิจทวิภาคี ทว่ายังคงคลุมเครือในเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีและการคลี่คลายข้อพิพาททางดินแดน

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น เดินทางกลับบ้านเมื่อวันเสาร์ (27 ต.ค.) ภายหลังการเยือนจีนเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งชวนให้ใจฟูฟ่องทั้งด้วยความรู้สึกดีๆ และด้วยข้อตกลงบางอย่างบางประการที่น่าจะก่อดอกผลอันพึงใจในอนาคต อย่างไรก็ดี ยังคงมีม่านหมอกแห่งความกำกวมน่าสงสัยปกคลุมอยู่เหนือพวกข้อตกลงด้านการค้าเสรีและประเด็นปัญหาทางยุทธศาสตร์

ด้วยการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนกำลังเผชิญกับแรงกดดันด้านการค้าอย่างมหาศาลจากอีกฟากฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก (อันเป็นแรงกดดันซึ่งอาเบะเองก็เจอเข้ากับตัวเองด้วยเหมือนกัน ถึงแม้จะอยู่ในลักษณะอ้อมๆ) มันจึงมีเหตุผลอันดีสำหรับการที่ผู้นำทั้งสองจะมุ่งเน้นหนักโฟกัสที่เรื่องบวกเชิงเศรษฐกิจ มากกว่ามัวพะวงกับเรื่องลบทางภูมิรัฐศาสตร์และทางการเมือง

สถานการณ์พิเศษดังกล่าวนี้เองดูเหมือนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดตัดสินทริปเดินทางเที่ยวนี้ของอาเบะ อย่างไรก็ดี ขณะที่มีอะไรอยู่มากซึ่งดูเหมือนให้ความหวังแห่งอนาคตอันสดใส แต่ปรากฎว่ายังคงขาดไร้รายละเอียดเกี่ยวกับผลลัพธ์จริงๆ ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับการค้า, แผนการริเริ่มแถบและเส้นทางซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอย่างมากของฝ่ายจีน, ตลอดจนข้อพิพาทต่างๆ ทางด้านดินแดน

สิ่งที่ถือเป็นเครื่องบอกทิศทางลมอันสำคัญที่สุดสำหรับทริปเดินทางเยือนเที่ยวนี้เสมอมา ก็คือประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนจะตอบตกลงเดินทางเยือนโตเกียวเป็นการตอบแทนหรือไม่ โดยถ้าหากเขาตอบรับก็จะกลายเป็นการเยือนญี่ปุ่นครั้งแรกของผู้นำจีนนับตั้งแต่การเดินทางไปของหู จิ่นเทา เมื่อปี 2008

ผลลัพธ์ของเรื่องนี้ ดูเหมือนเป็นภาพสะท้อนของผลลัพธ์จากการประชุมหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกับเหล่าผู้นำจีนในเที่ยวนี้โดยรวมไปด้วย กล่าวคือ ในการตอบคำเชื้อเชิญของอาเบะนั้น สีบอกว่าเขาจะ “พิจารณาอย่างจริงจัง” ในเรื่องการไปเยือนแดนอาทิตย์อุทัย นี่ดูจะไม่ค่อยเป็นคำตอบอย่างเป็นรูปธรรมแน่นอนที่สร้างความพึงพอใจให้แก่ฝ่ายโตเกียว ดังที่ ยาสุโตชิ นิชิมูระ (Yasutoshi Nishimura) รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น บอกกับพวกผู้สื่อข่าวในกรุงปักกิ่งว่า “ตอนนี้เราต้องการที่จะกำหนดวันที่กันให้แน่นอนชัดเจนลงไป” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/article/us-china-japan-visit/xi-to-seriously-consider-abes-invitation-to-visit-japan-spokesman-idUSKCN1N01T1)

ผลที่ออกมาในทางบวก

แต่ถึงกระนั้น สิ่งที่ปรากฏออกมาต่อภายนอกยังคงถือได้ว่าดีเยี่ยม ในการพบปะหารือทวิภาคีระดับผู้นำของ 2 ชาติครั้งแรกซึ่งมีขึ้นในประเทศจีนในรอบระยะเวลา 7 ปีครั้งนี้ สีจัดให้ในระดับที่เรียกได้ว่าคลี่พรมแดงออกมาต้อนรับอาเบะอย่างครบเครื่อง โดยมีทั้งพิธีตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ, งานเลี้ยงรับรองอันใหญ่โตที่มหาศาลาประชาชนเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 40 ปีของสนธิสัญญามิตรภาพจีน-ญี่ปุ่น, และงานเลี้ยงอาหารอย่างหรูหราเป็นพิธีการในอาคารต้อนรับแขกเมืองเตี้ยวอี่ว์ไถ (Diaoyutai State Guesthouse) สื่อมวลชนญี่ปุ่นยังตั้งข้อสังเกตว่า ภาษาใบหน้าและภาษากายของ สี ในคราวนี้ อยู่ในสภาพสดใสมีชีวิตชีวาเพิ่มขึ้นมาก หากเปรียบเทียบกับการพบปะหารือครั้งก่อนๆ ระหว่างผู้นำ 2 รายนี้

เมื่อพิจารณาจากประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งกำลังสร้างความเครียดเค้นให้แก่สายสัมพันธ์ในระยะไม่กี่ปีหลังๆ --ตั้งแต่ความแตกต่างไม่ลงรอยกันอย่างสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสงครามในแปซิฟิกในอดีตที่ผ่านมา, ข้อพิพาทเรื่องดินแดนหมู่เกาะเซงกากุ/เตี้ยวอี๋ว์ในทะเลจีนตะวันออก, เสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้, และเรื่องนโยบายว่าด้วยเกาหลีเหนือ เหล่านี้ทำให้การต้อนรับอย่างเอิกเกริกล้นเหลือในคราวนี้ต้องถือว่าเป็นผลลัพธ์ในทางบวก

เรื่องทำความตกลงรายละเอียดสำคัญต่างๆ ทางเศรษฐกิจนั้น ถูกมอบหมายให้เป็นการทำงานระหว่างอาเบะกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ส่วนการพบปะเจรจาที่ติดตามมาต่อจากนั้นตลอดจนงานเลี้ยงอาหารหรูหราแบบรัฐพิธี ก็กลายเป็นโอกาสสำหรับ อาเบะ กับ สี ที่จะหารือกันในเรื่องการรีเซตความสัมพันธ์ระหว่างกันเสียใหม่

“ขณะที่สถานการณ์ระหว่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไป จีนกับญี่ปุ่นก็กำลังมีการพึ่งพาอาศัยอีกฝ่ายหนึ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ” สีบอกกับอาเบะเช่นนี้ พร้อมกับกล่าว (โดยบางทีอาจจะด้วยความมุ่งหมายที่จะพาดพิงไปถึงวอชิงตัน) ต่อไปว่า “ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกกำลังอำนวยโอกาสให้แก่จีนกับญี่ปุ่น ในการร่วมมือกันอย่างหยั่งรากลึกยิ่งขึ้นไปอีก” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.financialexpress.com/world-news/china-japan-pledge-new-economic-collaboration-as-abe-backs-belt-and-road-initiative/1362720/)

สายสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับโตเกียวอยู่ในอาการดิ่งลงเหวตั้งแต่ปี 2012 เมื่อโตเกียวดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเซงกากุ/เตี้ยวอี๋ว์ ซึ่งบางส่วนเคยเป็นของเอกชนชาวญี่ปุ่น “ให้กลายเป็นกรรมสิทธิ์ของชาติ” แต่มาถึงเวลานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง “หวนกลับเข้าสู่เส้นทางที่ถูกต้องแล้ว” สี ตั้งข้อสังเกต (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.xinhuanet.com/english/2018-10/27/c_137561259.htm)

ทางด้านอาเบะ ซึ่งบางคนบางฝ่ายมองว่าเป็นพวกเหยี่ยว ขณะที่คนอื่นๆ ฝ่ายอื่นๆ เห็นว่าเป็นผู้คำนึงถึงผลในทางปฏิบัติมากกว่าคนเคร่งครัดหลักการทฤษฎี ก็ดูมีความเชี่ยวชาญระดับทัดเทียมกันทีเดียวในการส่งเสียงสนองรับออกมาในเชิงบวก “จากการแข่งขันชิงดีกัน มาสู่การอยู่ร่วมกัน ความสัมพันธ์ทวิภาคีของญี่ปุ่นกับจีนเวลานี้ได้ก้าวเข้าสู่ระยะใหม่แล้ว” อาเบะกล่าว “ผมปรารถนาที่จะร่วมมือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการใช้ความพยายามเพื่อสถาปนายุคสมัยใหม่สำหรับจีนและญี่ปุ่นขึ้นมา” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.moneycontrol.com/news/world/china-japan-to-forge-closer-ties-at-historic-turning-point-3094451.html)

ขณะที่นายกฯหลี่ ซึ่งดูเหมือนแสดงอาการรับรู้รับทราบประเด็นปัญหาต่างๆ จำนวนมากที่พวกธุรกิจต่างประเทศ รวมทั้งธุรกิจญี่ปุ่นด้วย ต้องเผชิญอยู่ในจีน ก็ได้บอกกับอาเบะว่า “จีนจะเร่งเดินหน้าไปอย่างไม่ลังเลใจเพื่อเปิดประตูให้แก่โลกอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น, ส่งเสริมสนับสนุนกฎระเบียบกติกาที่เป็นธรรมมากขึ้น, คุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด, และสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มุ่งเน้นตลาด, อิงอยู่กับหลักกฎหมาย, และมีความเป็นสากล” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.xinhuanet.com/english/2018-10/27/c_137561259.htm)

เรื่องหลักๆ ที่ออกมาจากการประชุมซัมมิตคราวนี้ดูเหมือนจะอยู่ในแวดวงของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและธุรกิจทวิภาคี ทั้งนี้การค้าสองทางระหว่างสองประเทศได้ขยับขึ้นไปมีมูลค่าทะลุหลัก 300,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2017 ดังนั้น จีนกำลังหวนกลับมาเป็นคู่ค้าชั้นนำของญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง ทว่านี่ย่อมหมายความด้วยเหมือนกันว่า ญี่ปุ่น (ทำนองเดียวกันกับเกาหลีใต้) จะต้องพลอยบาดเจ็บไปด้วยแน่ๆ จากมาตรการแซงก์ชั่นซึ่งสหรัฐฯนำมาใช้เล่นงานจีน เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นผู้ซัปพลายส่วนประกอบจำนวนมากที่ใช้อยู่ในสินค้าส่งออกสำเร็จรูปซึ่งออกมาจากจีน

อาเบะ ซึ่งถึงแม้ต้องพึ่งพาอาศัยการทหารของสหรัฐฯสำหรับการป้องกันทั้งลัทธิแผ่ขยายอำนาจของจีนและทั้งลัทธิเสี่ยงภัยมุ่งบีบบังคับผู้อื่นให้โอนอ่อนของเกาหลีเหนือ ก็ยังคงสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า “มาตรการแก้เผ็ดตอบโต้ใส่กันนั้นไม่ได้ให้ผลประโยชน์แก่ฝ่ายใดเลย สหรัฐฯกับจีนควรแก้ไขคลี่คลายความตึงเครียดของพวกเขาโดยผ่านการสนทนากัน” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asia.nikkei.com/Politics/International-Relations/Xi-and-Abe-use-economy-as-binding-force-but-hold-back-on-security)

ท่ามกลางคำเตือนของไอเอ็มเอฟเกี่ยวกับความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเงินที่กำลังจะเกิดขึ้นมา รวมทั้งในการเผชิญหน้ากับความเคลื่อนไหวทางการค้าแบบมุ่งทำลายคู่แข่งของวอชิงตัน ทั้งสองประเทศจึงได้ตกลงกันทั้งเรื่องการสวอปเงินตรามูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์ และการจัดตั้งเคลียริ่งแบงก์สกุลเงินหยวนขึ้นในญี่ปุ่น

พวกเขายังเห็นพ้องกันที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งการจดทะเบียนกองทุน อีทีเอฟ (exchange-traded funds หรือ ETFs) และการอำนวยความสะดวกให้การผ่านด่านศุลกากรเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.moneycontrol.com/news/world/china-japan-to-forge-closer-ties-at-historic-turning-point-3094451.html)

การเดินทางในเที่ยวนี้ของอาเบะ มีคณะผู้แทนทางธุรกิจของญี่ปุ่นติดตามมาด้วยคณะใหญ่ และเมื่อวันศุกร์ (26 ต.ค.) ก็มีการลงนามกันในดีลเกี่ยวกับการดำเนินงานในตลาดของประเทศที่สามเป็นจำนวน 52 ฉบับมูลค่ารวม 18,000 ล้านดอลลาร์ โดยโครงการที่โดดเด่นที่สุดได้แก่ การจับมือกันเข้าพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี, ประเทศไทย เพื่อให้กลายเป็น “สมาร์ท ซิตี้” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asia.nikkei.com/Politics/International-Relations/Thai-smart-city-to-be-first-of-50-Japan-China-joint-projects)

ผลลัพธ์ที่ยังกำกวม

อย่างไรก็ตาม ยังมีด้านอื่นๆ อีกหลายด้านทีเดียว ซึ่งยังมีความไม่กระจ่างชัดเจนเป็นอย่างมากว่า ทั้งสองประเทศสามารถตกลงอะไรกันได้แน่ๆ โดยขณะพวกเจ้าหน้าที่หยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาพูดถึงนั้น กลับแทบไม่ได้มีการอ้างอิงถึงผลลัพธ์ซึ่งเป็นรูปธรรมกันเลย

ญี่ปุ่นกับจีนนั้นเป็นคู่แข่งขันที่ต่อสู้กันอย่างดุเดือดมากในการช่วงชิงโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ พวกผู้สังเกตการณ์บอกว่าญี่ปุ่นมักเสนอคุณภาพที่สูงกว่า, บริการที่แพงกว่า และบ่อยครั้งมักถูกตัดราคาด้วยบริการซึ่งราคาถูกกว่าและคุณภาพด้อยกว่าจากประเทศจีน โดยที่เวลานี้ปักกิ่งยังพยายามโปรโมตส่งเสริมโครงการเหล่านี้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ของตนอีกด้วย ในปริมณฑลนี้ สื่อจีนพยายามประโคมคำแถลงของ หวา ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนที่กล่าวว่า “ญี่ปุ่นยังแสดงความพรักพร้อมของพวกเขาในการเข้าร่วมใน BRI อย่างกระตือรือร้น ... เวลานี้เรากำลังเข้าร่วมมือกันในตลาดประเทศที่สามอย่างกระตือรือร้น เรากำลังมองหาทางที่จะร่วมมือกันอย่างเป็นฝ่ายรุกในเรื่องนี้” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.financialexpress.com/world-news/china-japan-pledge-new-economic-collaboration-as-abe-backs-belt-and-road-initiative/1362720/)

สื่อจีนยังพยายามเสนอข่าวออกมาอย่างชัดเจนว่า ทั้งสองประเทศได้ตกลงกันที่จะเดินหน้าในเรื่องการจัดทำ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ซึ่งจีนเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ และมีขอบเขตมุ่งเน้นเอเชียเป็นศูนย์กลาง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://mainichi.jp/english/articles/20181026/p2a/00m/0na/032000c) ถึงแม้รายละเอียดมีอยู่น้อยมากว่าความเคลื่อนไหวเช่นนี้จะหมายถึงอะไรบ้าง ญี่ปุ่นนั้นเป็นชาติหนึ่งซึ่งเข้าร่วมการเจรจาเพื่อจัดทำ RCEP ก็จริงอยู่ แต่พวกเจ้าหน้าที่ด้านการค้าของโตเกียวกำลังแสดงความแข็งขันยิ่งกว่านักหนาในการโปรโมตส่งเสริมแผนการริเริ่มการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอีกแผนการหนึ่ง ซึ่งถือเป็นคู่แข่งของ RCEP อันได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) เวอร์ชั่นที่ยกเครื่องปรับปรุงใหม่ภายหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำสหรัฐฯถอนตัวออกไป

เรื่องที่ดูคลุมเครืออีกเรื่องหนึ่งคือ ฝ่ายอาเบะแถลงแสดงความขอบคุณจีนสำหรับความเต็มใจของปักกิ่งที่จะพิจารณายกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าอาหารของญี่ปุ่นบางรายการ ซึ่งประกาศบังคับใช้ภายหลังวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ฟูกูชิมะปี 2011 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asia.nikkei.com/Politics/International-Relations/Xi-and-Abe-use-economy-as-binding-force-but-hold-back-on-security) ขณะที่จีนแถลงเพียงแค่ว่าจะดำเนินการศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ในประเด็นปัญหานี้

ผลที่ออกมาในทางลบ

ขณะที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันที่จะยังคงเดินหน้าบังคับใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรเกาหลีเหนือต่อไปเพื่อบีบคั้นระบอบปกครองเปียงยางให้ปลดอาวุธนิวเคลียร์นั้น ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากกลับแสดงความสงสัยข้องใจว่าปักกิ่งเข้มงวดกวดขันการแซงก์ชั่นเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน โดยที่ต้องไม่ลืมว่าแดนมังกรเป็นผู้ที่มีส่วนในการค้าของเกาหลีเหนืออย่างมหาศาลถึงราวๆ 80-90% ทีเดียว ก่อนหน้านี้ในสัปดาห์นี้เอง ที่เกาหลีใต้ สมาชิกรัฐสภาจากพรรคอนุรักษนิยมรายหนึ่ง ได้หยิบยกตัวเลขข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีนมาแสดงและตั้งข้อกล่าวหาว่า เปียงยางยังคงสามารถนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นมูลค่าราว 4,000 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 2012 อันเป็นปีที่ คิม จองอึน ก้าวขึ้นครองอำนาจ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://english.chosun.com/site/data/html_dir/2018/10/22/2018102201262.html)

ประเด็นเรื่องดินแดนก็ถูกระบุว่าทั้งสองฝ่ายมีการหยิบยกขึ้นมาเจรจากันด้วย โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หนึ่งแถลงว่า อาเบะบอกกับหลี่ระหว่างการพบปะหารือของพวกเขาเมื่อวันศุกร์ (26 ต.ค.) ว่า ความผูกพันระหว่างประเทศทั้งสองจะ “ไม่มีการปรับปรุงกระเตื้องดีขึ้นอย่างแท้จริงได้เลย” ถ้าหากยังไม่มี “เสถียรภาพในทะเลจีนตะวันออก” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.moneycontrol.com/news/world/china-japan-to-forge-closer-ties-at-historic-turning-point-3094451.html) ข้อความเช่นนี้แทบจะเป็นเรื่องแน่นอนชัดเจนว่าคือการอ้างอิงถึงข้อพิพาทหมู่เกาะเซงกากุ/เตี้ยวอี๋ว์ ซึ่งพวกเรือประมงจีนคอยแล่นเข้ารบกวนท้าทายเรือของญี่ปุ่นในบริเวณนั้นอย่างแข็งกร้าวอยู่บ่อยครั้ง

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะจัดการประชุมหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ด้านกลาโหมของสองประเทศ โดยเป็นไปได้ว่าจะมีขึ้นก่อนสิ้นปีนี้ ทว่าไม่ได้มีการทำความตกลงใดๆ ในเรื่องการจัดตั้งโทรศัพท์สายฮอตไลน์ยามวิกฤตขึ้นมา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะกันอย่างไม่ตั้งใจ ถึงแม้นี่เป็นหัวข้อที่มีการเจรจาต่อรองกันมานานเป็นแรมเดือนแล้ว มองกันโดยภาพรวมแล้ว เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นผู้หนึ่งบอกกับหนังสือพิมพ์นิกเกอิว่า การประชุมหารือคราวนี้ถือว่าเป็น “การก้าวไปข้างหน้าครึ่งก้าว” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asia.nikkei.com/Politics/International-Relations/Xi-and-Abe-use-economy-as-binding-force-but-hold-back-on-security)

หลังจากการสนทนากันในปักกิ่งของพวกเขาแล้ว ทั้งอาเบะและสีต่างก็เตรียมตัวเพื่อเข้าร่วมการประชุมซัมมิตรายการอื่นๆ ต่อไปอีก

อาเบะซึ่งมุ่งโฟกัสเรื่องอินโด-แปซิฟิก เป็นเจ้าภาพต้อนรับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ซึ่งไปเยือนญี่ปุ่น ในวันอาทิตย์ที่ 28 ต.ค. และวันจันทร์ที่ 29 ต.ค. ขณะที่ สีเตรียมเข้าเจรจากับทรัมป์ ในการหารือข้างเคียงระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายต่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่ม จี20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ตอนช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น