xs
xsm
sm
md
lg

“วิกฤตศรีลังกา” ประธานาธิบดีงัดข้อปลดนายกฯ ทำท่ารุนแรงมียิงกันในกระทรวง ตายแล้ว 1 เจ็บ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>ทหารตำรวจศรีลังกาเฝ้าดูสถานการณ์ที่บริเวณด้านนอกของกระทรวงพัฒนาทรัพยากรน้ำมันปิโตรเลียม ในกรุงโคลัมโบ เมื่อวันอาทิตย์ (28 ต.ค.) โดยที่ภายในกระทรวงได้เกิดเหตุยิงกันทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 1 บาดเจ็บ 2 คน </i>
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - วิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญที่ครอบงำศรีลังกานับตั้งแต่ประธานาธิบดีปลดนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห อย่างสุดช็อก ได้ปะทุตัวเข้าสู่ความรุนแรงเมื่อวันอาทิตย์ (28 ต.ค.) โดยมีผู้ถูกยิงเสียชีวิตไป 1 ราย บาดเจ็บอีก 2 ราย ภายในกระทรวงพัฒนาน้ำมันปิโตรเลียม ที่เมืองหลวงโคลัมโบ

ตำรวจแถลงว่า กลุ่มองครักษ์อารักขา อาร์จูนา รานาตุงคะ รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาทรัพยากรน้ำมันปิโตรเลียมของศรีลังกาที่เป็นพันธมิตรกับนายกฯวิกรมสิงเห ได้เปิดฉากยิงปืนภายในกระทรวง ขณะที่ฝูงชนซึ่งจงรักภักดีต่อประธานาธิบดีไมตรีปาลา ศิริเสนา เข้ายึดสำนักงานของรัฐมนตรีผู้นี้เอาไว้ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คน แล้วไม่นานหลังจากนั้นชายที่บาดเจ็บคนหนึ่งก็เสียชีวิต เขามีอายุ 34 ปี

นี่เป็นกรณีการบาดเจ็บเสียชีวิตกรณีแรกซึ่งเกิดขึ้น ตั้งแต่ที่ศิริเสนาปลดวิกรมสิงเหออกจากตำแหน่งเมื่อวันศุกร์ (26 ต.ค.) แล้วแต่งตั้งอดีตผู้นำจอมเผด็จอำนาจขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ กลายเป็นชนวนให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองในประเทศซึ่งเป็นเกาะตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดียแห่งนี้

วิกรมสิงเหนั้นยังไม่ยอมโยกย้ายออกจากทำเนียบที่พักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกำลังจัดวางกำลังป้องกันตัวเขาให้แข็งแรง โดยที่มีผู้สนับสนุนมากกว่า 1,000 คน รวมทั้งกลุ่มพระภิกษุในพุทธศาสนาซึ่งคอยสวดมนตร์ ชุมนุมอยู่ทั้งด้านในและด้านนอกของทำเนียบ

นักการเมืองวัย 69 ปีผู้นี้แถลงว่าการสั่งปลดเขาครั้งนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และเรียกร้องให้จัดการประชุมรัฐสภาวาระฉุกเฉิน เพื่อพิสูจน์ยืนยันว่าเขายังคงสามารถควบคุมเสียงข้างมากในสภาเอาไว้ได้
<i>ทหารตำรวจศรีลังการักษาการณ์ที่ด้านนอกกระทรวงพัฒนาทรัพยากรน้ำมันปิโตรเลียมเมื่อวันอาทิตย์ (28 ต.ค.) </i>
ประธานาธิบดีศิริเสนาได้สั่งปิดรัฐสภาเป็นเวลาเกือบๆ 3 สัปดาห์ เพื่อขัดขวางไม่ให้มีการท้าทายใดๆ ต่อคำสั่งของเขาซึ่งแต่งตั้งให้ มหินทรา ราชปักษี อดีตประธานาธิบดีผู้ถูกกล่าวว่าใช้อำนาจโดยมิชอบในช่วงสงครามปราบปรามกบฎชาวทมิฬ ขึ้นเป็นนายกฯคนใหม่

ราชปักษีเร่งรีบหาความยอมรับสนับสนุนจากวัดพุทธศาสนาที่สำคัญมากเมื่อวันอาทิตย์ (28) ขณะที่พยายามช่วงชิงรวบรวมอำนาจในการก้าวขึ้นเป็นนายกฯของเขา

แต่วิกรมสิงเหได้คะแนนสำคัญในวันอาทิตย์เช่นกัน เมื่อประธานรัฐสภาปฏิเสธไม่ยอมรับการที่ประธานาธิบดีสั่งปลดเขาออกจากตำแหน่ง ตรงกันข้าม คารุ ชะยะสุริยะ ประธานรัฐสภาสนับสนุนข้อเรียกร้องของวิกรมสิงเห ที่ให้เขายังคงมีสิทธิพิเศษและได้รับการดูแลด้านความปลอดภัยในฐานะนายกฯต่อไป จนกว่าคู่แข่งขันอีกคนหนึ่งจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้มีเสียงข้างมากในรัฐสภา

ชะยะสุริยาบอกว่า ข้อเรียกร้องของวิกรมสิงเหนั้น “เป็นประชาธิปไตยและยุติธรรม” นอกจากนั้นเขายังเตือนประธานาธิบดีว่าการสั่งปิดรัฐสภา ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิด “ผลต่อเนื่องอันร้ายแรงและไม่พึงปรารถนาสำหรับประเทศชาติขึ้นมา”

พวกเจ้าหน้าที่ซึ่งภักดีต่อราชปักษีบอกว่า ถึงเวลานี้ตำรวจจะหันไปใช้วิธีขอคำสั่งศาลเพื่อขับไล่วิกรมสิงเหออกจากทำเนียบที่พักประจำตำแหน่ง ซึ่งหากมีการผลักไสกันขึ้นมาจริงๆ ก็อาจทำให้การประจันหน้ากันครั้งนี้ยิ่งบานปลาย

เวลานี้มีการส่งทหารเข้ารักษาการณ์ใกล้ๆ กับทำเนียบที่พักนายกฯ ถึงแม้การรักษาความปลอดภัยให้แก่วิกรมสิงเห รวมทั้งพวกรถยนต์หลวงได้ถูกถอนออกจากที่นั่นตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ (27)

<i>กลุ่มผู้สนับสนุน รานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกาที่ถูกประธานาธิบดีไมตรีปาลา ศิริเสนา สั่งปลดออกจากตำแหน่ง แต่เจ้าตัวขัดขืนบอกว่าคำสั่งผิดกฎหมาย  พากันไปชุมนุมกันอยู่ทั้งภายในและภายนอกทำเนียบที่พำนักอาศัยประจำตำแหน่งของนายกฯ ในกรุงโคลัมโบ วันอาทิตย์ (28 ต.ค.) </i>
ทั่วทั้งกรุงโคลัมโบบรรยากาศเต็มไปด้วยความตึงเครียด โดยตำรวจสั่งระงับการลาหยุดทั้งหมดของกำลังพล ท่ามกลางคำเตือนที่ว่าความรุนแรงตามท้องถนนอาจปะทุขึ้นมาหากประธานาธิบดีไม่ยอมเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อยุติภาวะชะงักงันคราวนี้

ขณะที่เมื่อวันอาทิตย์ (28) ศิริเสนาได้กล่าวปราศรัยถ่ายทอดทางทีวีทั่วประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตการณ์คราวนี้เริ่มต้นขึ้นมา โดยเขาระบุวาที่ปลดวิกรมสิงเหเนื่องจากเกิดพิพาทกันทั้งในทางส่วนตัวและในทางการเมือง

“นอกเหนือจากเรามีความแตกต่างกันในด้านความคิดอุดมการณ์แล้ว เรายังมีความแตกต่างกันอย่างร้ายแรงในด้านวัฒนธรรม” ศิริเสนาบอก โดยอ้างอิงถึงภูมิหลังแบบเสรีนิยมของวิกรมสิงเห และการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในแวดวงอนุรักษนิยมแบบชนบทของตัวเขาเอง

เขาบอกว่าเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากแต่งตั้งราชปักษี และเรียกร้องให้รัฐสภาสนับสนุนขา

พวกผู้จงรักภักดีต่อราชปักษีได้รับแต่งตั้งเมื่อวันอาทิตย์ ให้เข้าบริหารสถานีโทรทัศน์ 2 ช่องของทางการ และหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลอีกฉบับหนึ่ง แต่พวกผู้ช่วยของราชปักษีเผยว่า แผนการแต่งตั้งรัฐมนตรีบางคนนั้นถูกชะลอเอาไว้ก่อน ขณะที่จนถึงเวลานี้ราชปักษียังไม่ได้มีคำแถลงอย่างเป็นทางการใดๆ ตั้งแต่ที่ได้รับแต่งตั้งเข้าเป็นนายกฯคนใหม่
<i>มหินทรา ราชปักษี (ที่ 2 จากขวา) อดีตประธานาธิบดีศรีลังกาคนดังผู้เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่  เดินทางถึงวิหารพระเขี้ยวแก้ว ในเมืองแคนดี วันอาทิตย์ (28 ต.ค.) ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อให้เห็นเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าวัดสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนาแห่งนี้รับรองการแต่งตั้งตัวเขา </i>
ราชปักษี ซึ่งครองอำนาจอย่างยาวนานเป็นสิบปี ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในระหว่างการปราบปรามการลุกฮือของกลุ่มกบฎพยัคฆ์ทมิฬ อีกครั้งถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจแบบเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ

เขาถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับจีนมากกว่าวิกรมสิงเห ผู้ซึ่งพยายามหาทางฟื้นคืนเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับอินเดีย

นิวเดลีแถลงว่ากำลังเฝ้าติดตามเหตุการณ์ต่างๆ ในโคลัมโบอย่างใกล้ชิด ขณะที่เอกอัครราชทูตทั้งขอวสหรัฐฯและสหภาพยุโรปประจำศรีลังกา เรียกร้องให้เหล่าปรปักษ์ชาวศรีลังกาทั้งหลายปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและหลีกเลี่ยงไม่ใช้ความรุนแรง

ความเป็นปรปักษ์กันระหว่างวิกรมสิงเหกับศิริเสนา ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนนับแต่ที่ก่อนหน้านี้ในปีนี้ ประธานาธิบดีศิริเสนาได้หนุนหลังเปิดอภิปรายไว้ไม่วางใจบุรุษผู้ซึ่งเขาเลือกมากับมือเพื่อให้เป็นผู้นำรัฐบาล

ทั้งคู่เคยเป็นพันธมิตรกันในการต่อสู้กับราชปักษีในการเลือกตั้งเมื่อปี 2015 ทว่าหลังจากนั้นความสัมพันธ์ของพวกเขาก็ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ

ตอนต้นทีเดียวศิริเสนาแถลงว่าจะเป็นประธานาธิบดีแค่เพียง 1 สมัย ทว่าหลังจากนั้นก็แสดงท่าทีว่าจะลงสมัครเลือกตั้งอีกสมัยในปีหน้า ทำให้เขาระหองระแหงหนักกับวิกรมสิงเห ผู้ซึ่งก็มีความต้องการก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีเช่นเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น