xs
xsm
sm
md
lg

โบลตันหารือปูตินตกลงจัดซัมมิตเดือนหน้า ชี้ทรัมป์ถอนสัญญานิวเคลียร์ยุคสงครามเย็น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รอยเตอร์ – โบลตันระบุหลังพบปูติน ยืนยันวอชิงตันเดินหน้าแผนถอนตัวจากสนธิสัญญาควบคุมนิวเคลียร์ยุคสงครามเย็น แม้ถูกคัดค้านจากรัสเซียและบางประเทศในยุโรป ชี้สนธิสัญญาดังกล่าวล้าสมัย ไม่สอดรับกับภัยคุกคามปัจจุบันจากประเทศอย่างจีน เกาหลีเหนือ และอิหร่าน

การหารือนาน 90 นาทีระหว่างจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ที่วังเครมลินในมอสโกเมื่อวันอังคาร (23 ต.ค.) จบลงด้วยการตกลงว่า ผู้นำรัสเซียจะพบกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ปารีสเดือนหน้า ซึ่งจะเป็นการพบกันครั้งแรกนับจากการประชุมสุดยอดเดือนกรกฎาคมที่เฮลซิงกิ

อย่างไรก็ตาม การหารือครั้งนี้ไม่มีผลอันใดต่อเจตนารมณ์ของทรัมป์ในการเพิกถอนสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (ไอเอ็นเอฟ) ซึ่งมอสโกระบุว่า อันตรายและหลายประเทศในยุโรปเตือนว่า จะปลุกเร้าให้เกิดการแข่งขันสะสมอาวุธเหมือนเมื่อครั้งสงครามเย็น โดยโบลตันกล่าวว่า สนธิสัญญายุคสงครามเย็นไม่สอดรับกับความท้าทายใหม่ด้านนิวเคลียร์ในปัจจุบันจากประเทศต่างๆ เช่น จีน อิหร่าน และเกาหลีเหนือ จึงถือว่า ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

มอสโกเตือนว่า ตนเองอาจถูกบีบให้ตอบโต้ด้วยการฟื้นสมดุลทางทหาร หากอเมริกาถอนตัวจากไอเอ็นเอฟ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สองประเทศลงนามร่วมกันในปี 1987 เพื่อยุติการครอบครองขีปนาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธแบบแผนพิสัยใกล้และพิสัยกลางในยุโรป

ปูตินเริ่มต้นการหารือด้วยการหยิบยกประเด็นที่อเมริกาดำเนินการขั้นตอนต่างๆ เพื่อยั่วยุรัสเซีย แต่โบลตันให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า ปัญหาขณะนี้คือ รัสเซียเองที่ละเมิดไอเอ็นเอฟด้วยการติดตั้งขีปนาวุธในยุโรป และว่า รัสเซียทดสอบขีปนาวุธร่อนจากพื้นดินครั้งแรกในปี 2008

ด้านรัสเซียแย้งว่า วอชิงตันต่างหากที่ละเมิดไอเอ็นเอฟ โดยต่างฝ่ายต่างปฏิเสธข้อกล่าวหาของกันและกัน

ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ เสริมว่า ไอเอ็นเอฟล้าสมัยแล้วเนื่องจากประเทศอื่นๆ ยังสามารถผลิตขีปนาวุธและขีปนาวุธร่อนพิสัยกลางได้ ขณะที่อเมริกาถูกจำกัดจากสนธิสัญญานี้ และว่า ความพยายามก่อนหน้านี้ในการขยายผลให้ไอเอ็นเอฟครอบคลุมประเทศอื่นๆ ด้วยไม่บรรลุผล

นอกจากนั้นก่อนการหารือ โฆษกเครมลินได้กล่าวว่า สนธิสัญญาไอเอ็นเอฟมีจุดอ่อนจริง แต่การที่อเมริกาประกาศจะถอนตัวโดยไม่เสนอข้อตกลงทดแทนถือว่าอันตรายมาก

ถึงกระนั้น ยูริ อูชาคอฟ ผู้ช่วยด้านนโยบายต่างประเทศของเครมลิน ให้สัมภาษณ์ภายหลังสิ้นสุดการหารือว่า มอสโกมองการเยือนของโบลตันเป็นสัญญาณว่า วอชิงตันต้องการเจรจาประเด็นนี้ต่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่มอสโกต้องการเช่นเดียวกัน

มิคาอิล กอร์บาชอฟ วัย 87 ปี อดีตผู้นำสมัยสหภาพโซเวียตและเป็นผู้ลงนามรับรองไอเอ็นเอฟ เตือนว่า การยกเลิกไอเอ็นเอฟจะนำมาซึ่งหายนะ อย่างไรก็ตาม บางประเทศ เช่น โปแลนด์ สนับสนุนความเคลื่อนไหวของทรัมป์

การประกาศแผนถอนตัวจากไอเอ็นเอฟของผู้นำสหรัฐฯ สร้างความกังวลเป็นพิเศษในยุโรป ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์หลักจากสนธิสัญญานี้ เนื่องจากมีผลให้อเมริกาถอนขีปนาวุธร่อนเปอร์ชิงออกจากยุโรป และมอสโกถอนขีปนาวุธเอสเอส-20 ออกจากบางส่วนในยุโรปที่เป็นดินแดนสหภาพโซเวียต

บางประเทศในยุโรปจึงวิตกว่า หากไม่มีไอเอ็นเอฟ วอชิงตันอาจนำขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางกลับมาติดตั้ง และรัสเซียอาจทำเช่นเดียวกันในดินแดนส่วนแยกของคาลินินกราด ทำให้ยุโรปกลายเป็นสนามรบนิวเคลียร์อีกหน

โบลตันยืนยันว่า คงอีกนานหากวอชิงตันจะคิดอ่านติดตั้งขีปนาวุธในยุโรป และคำเตือนที่ว่า การถอนตัวจากไอเอ็นเอฟของอเมริกาเป็นอันตรายก็เป็นการคาดการณ์ที่ห่างไกลความจริง เหมือนกับคำเตือนแบบเดียวกันตอนที่อเมริกาถอนตัวจากสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธยุคสงครามเย็นในปี 2002
กำลังโหลดความคิดเห็น