xs
xsm
sm
md
lg

รมต.กลาโหมอาเซียนจัดทำ ‘แผนเผชิญหน้าทางอากาศในกรณีสุดวิสัย’ พร้อมแชร์ข้อมูลสกัดภัยก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รอยเตอร์ - รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนร่วมลงนามในระเบียบปฏิบัติสำหรับกรณีที่เกิดการเผชิญหน้าอย่างสุดวิสัยระหว่างอากาศยานทางทหารวันนี้ (19 ต.ค.) ซึ่งสิงคโปร์ยกให้เป็นความตกลงระดับพหุภาคีฉบับแรกของโลก และเตรียมเชิญชวนนานาชาติเข้าร่วมเป็นภาคี

รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม 10 ชาติอาเซียนซึ่งจัดการประชุมที่สิงคโปร์ยังได้มีการทำข้อตกลงระดับภูมิภาคว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับภัยคุกคามก่อการร้ายด้วย

สำหรับแนวปฏิบัติซึ่งไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายนี้อาศัยกรอบของระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการเผชิญหน้าอย่างไม่คาดฝันในทะเล (Code for Unplanned Encounters at Sea - CUES) ที่มีการลงนามเมื่อปีที่แล้วระหว่างอาเซียนกับประเทศหุ้นส่วน ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ รัสเซีย เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา

เอิง เอ็ง เฮ็น (Ng Eng Hen) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ ระบุในงานแถลงข่าววันนี้ (19) ว่า “ผมยินดีที่จะประกาศให้ทราบว่า เราได้จัดทำแนวปฏิบัติสำหรับการเผชิญหน้าทางอากาศระหว่างอากาศยานทางทหาร ซึ่งถือเป็นข้อตกลงพหุภาคีฉบับแรก”

“นี่คือความสำเร็จที่สำคัญ”

หลังจากนี้ รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนจะมีการประชุมร่วมกับผู้แทนของ 8 ประเทศคู่เจรจาในวันเสาร์ (20) ซึ่ง เอิง ย้ำว่าอาเซียนจะพยายามเชิญชวนให้ประเทศเหล่านี้รับรองระเบียบปฏิบัติใหม่ด้วย

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ และจีนได้เปิดสายด่วนทางทหารและจัดทำระเบียบว่าด้วยการเผชิญหน้าทั้งทางทะเลและอากาศเมื่อปี 2015 แต่ก็ยังเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะบริเวณทะเลจีนใต้

จีนอ้างอธิปไตยเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด จนนำมาสู่ข้อพิพาทกับไต้หวันและประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อน ซึ่งได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน

ล่าสุด จีนได้ออกมาประท้วงที่สหรัฐฯ ส่งเรือพิฆาตเข้าไปเฉียดหมู่เกาะซึ่งตนครอบครองอยู่เมื่อต้นเดือนนี้ โดยยืนยันว่ารับไม่ได้กับภารกิจสำแดงเสรีภาพที่คุกคามอธิปไตยของแดนมังกร

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า CUES นั้นใช้ได้ผลหรือไม่ รัฐมนตรีกลาโหมสิงคโปร์ก็ตอบว่า “มันก็ทำหน้าที่เหมือนเข็มขัดนิรภัย ไม่ได้ปกป้องเสียทีเดียว แต่อย่างน้อยก็พอจะช่วยป้องกันได้บ้าง”

ระหว่างการประชุมและรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับบรรดารัฐมนตรีอาเซียน เจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ยืนยันว่าวอชิงตันต้องการมี ‘ความสัมพันธ์ในเชิงสร้างสรรค์’ กับปักกิ่ง แต่ก็ยังกังวลเรื่องที่จีนพยายามเสริมกำลังทหารในทะเลจีนใต้

เมื่อเดือน ส.ค. อาเซียนและจีนได้บรรลุข้อตกลงจัดทำร่างระเบียบปฏิบัติว่าด้วยทะเลจีนใต้ ซึ่งมุ่งพัฒนาต่อยอดจากปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration of Conduct of Partues in the South China Sea) ปี 2002 ซึ่งมักถูกละเลยโดยประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ โดยเฉพาะจีนซึ่งเข้าไปถมทะเลสร้างเกาะเทียมถึง 7 แห่งในน่านน้ำพิพาท

จีนยังสร้างทางวิ่งสำหรับเครื่องบินทหาร รวมถึงติดตั้งระบบเรดาร์และขีปนาวุธชนิดยิงจากพื้นดินสู่อากาศไว้บนเกาะเทียม 3 แห่งด้วย

รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนยังมีมติสนับสนุนโครงการริเริ่ม ‘our eyes’ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข่าวกรองเกี่ยวกับ “ลัทธิก่อการร้าย ลัทธิหัวรุนแรง ลัทธิสุดโต่ง รวมไปถึงภัยคุกคามนอกแบบ (non-traditional threats) อื่นๆ” นอกจากนี้ยังตกลงสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญกลาโหมด้านเคมี ชีวภาพ และรังสีแบบเสมือนจริง เพื่อแลกเปลี่ยนการทำงานที่ดีที่สุด และติดต่อประสานงานกันได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดวิกฤต
กำลังโหลดความคิดเห็น