xs
xsm
sm
md
lg

'ไทย'ขึ้น2อันดับดัชนี'ความสามารถแข่งขัน' WEFระบุสหรัฐฯโค่นสวิสแชมป์เก่าเข้าที่ 1 แต่ไม่ใช่ฝีมือ'ทรัมป์'

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>(ภาพจากแฟ้ม) เคลาส์ ชวาบ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ขณะกล่าวปราศรัยในพิธีเปิดเวที เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ว่าด้วยอาเซียน ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติ ในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2018  ทั้งนี้ WEF เพิ่งเผยแพร่รายงานความสามารถในการแข่งขันของทั่วโลกประจำปี 2018 ซึ่งปรากฏว่าสหรัฐฯเข้าป้ายเป็นอันดับ 1 </i>
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) เผยแพร่ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันและมีนวัตกรรมสูงของชาติต่างๆ ทั่วโลกประจำปีล่าสุดในวันพุธ (17 ต.ค.) โดยระบุว่าสหรัฐฯคืออันดับ 1 ทั้งนี้ภายหลังมีการปรับเปลี่ยนระเบียบวิธีในการคำนวณ ซึ่งช่วยให้อเมริกาแซงหน้าโค่นแชมป์เก่าคือสวิตเซอร์แลนด์ที่ครองตำแหน่งมาเกือบ 10 ปี สำหรับประเทศไทยอยู่อันดับ 38 ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 2 อันดับ

ดับเบิลยูอีเอฟ องค์การชื่อดังจากการเป็นเจ้าภาพจัดเวทีประชุมที่มีชนชั้นนำทางธุรกิจและทางการเมืองจากทั่วโลกไปพูดคุยกันที่ดาวอส, สวิตเซอร์แลนด์ เป็นประจำทุกปี แถลงว่า ได้ใช้ระเบียบวิธีแบบใหม่ในการจัดทำ “รายงานความสามารถในการแข่งขันของทั่วโลก” (Global Competitiveness Report) ของตนฉบับประจำปี 2018 เพื่อให้สามารถสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในโลกที่เทคโนโลยีดิจิตอลใหม่ๆ มีบทบาทเพิ่มขึ้นทุกที

รายงานในปีนี้มุ่งทำการศึกษาว่า ระบบเศรษฐกิจ 140 แห่งทั่วโลกสามารถทำได้ดีแค่ไหนเมื่อวัดคำนวณด้วยตัวบ่งชี้ต่างๆ รวม 98 ตัว ซึ่งจัดหมวดหมู่ได้เป็น 12 เสาหลัก เป็นต้นว่า สถาบัน, โครงสร้างพื้นฐาน, เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค, พลวัตทางธุรกิจ, และศักยภาพทางนวัตกรรม

“สหรัฐฯสามารถมีผลงานโดยรวมที่ดีเยี่ยมที่สุด” ดับเบิลยูอีเอฟระบุในคำแถลง

ทางด้าน ซาเดีย ซาฮิดี สมาชิกผู้หนึ่งในคณะกรรมการบริหารของดับเบิลยูอีเอฟ บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า สหรัฐฯอยู่ในฐานะเป็นมหาอำนาจในด้านนวัตกรรม

“พวกเขาทำได้ดีในด้านตลาดแรงงาน พวกเขาทำได้ดีในด้านขนาดของตลาด พวกเขาทำได้ดีทีเดียวในด้านสถาบัน” เธอกล่าว

เมื่อถูกถามว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ควรได้รับเครติดสำหรับการแซงขึ้นเป็นที่ 1 ในคราวนี้หรือไม่ เธียร์รี ไกเกอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการวิเคราะห์และการวิจัยเชิงปริมาณ ที่ดับเบิลยูอีเอฟ ตอบโดยเน้นย้ำว่าข้อมูลส่วนใหญ่ซึ่งใช้ในรายงานฉบับนี้มาจากช่วงเวลาก่อนหน้าที่ทรัมป์จะขึ้นครองอำนาจในปีที่แล้ว

“สิ่งต่างๆ ที่เราจับตานั้นคือพวกพลังขับดันระยะยาว” เขากล่าวกับพวกผู้สื่อข่าว

เวลาเดียวกัน ซาฮิดีบอกว่า “มีสัญญาณที่น่าวิตกกังวลจำนวนมากเช่นเดียวกัน” ในเรื่องความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ

เธอชี้ไปที่การได้คะแนนต่ำของสหรัฐฯในด้านการเข้าร่วมของสตรีในกำลังแรงงาน โดยติดอันดับที่ 37 ของทั่วโลก เช่นเดียวกับด้านเสรีภาพของสื่อมวลชนก็อยู่ในอันดับที่ 40

รายงานของดับเบิลยูอีเอฟยังย้ำถึง “ความสำคัญของการเปิดกว้างที่มีต่อความสามารถในการแข่งขัน” เป็นต้นว่า กำแพงกีดกั้นการค้าในรูปของพิกัดอัตราศุลกากร และในรูปของสิ่งที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร ควรจะอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งควรผ่อนคลายให้ความสะดวกแก่การจ้างแรงงานต่างประเทศ

“ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่า สุขภาพของเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบในเชิงบวก เมื่อมีการหวนกลับคืนไปสู่การเปิดกว้างและการบูรณาการอย่างใหญ่โตยิ่งขึ้น” ดับเบิลยูอีเอฟบอก
<i>(ภาพจากแฟ้ม) ทิวทัศน์ภายนอกเมื่อมองออกจากสถานที่ประชุม WEF ที่ดาวอส, สวิตเซอร์แลนด์ </i>
โดยรวมแล้ว สหรัฐฯได้คะแนนโดยเฉลี่ยเท่ากับ 85.6 คะแนน จากตัวบ่งชี้ต่างๆ 98 ตัวที่ช่วงคะแนนอยู่ระหว่าง 0 จนถึง 100 ขณะที่อันดับ 2 คือ สิงคโปร์ (83.5 คะแนน) และที่ 3 ได้แก่ เยอรมนี (82.8 คะแนน)

แชมป์เก่าสวิตเซอร์แลนด์หล่นมาอยู่อันดับที่ 4 ด้วยคะแนน 82.6 คะแนน หลังจากอยู่อันดับ 1 ในการจัดอันดับของดับเบิลยูอีเอฟตลอด 9 ปีที่ผ่านมา

สำหรับอันดับ 5 เป็น ญี่ปุ่น (82.5 คะแนน) ตามมาด้วย เนเธอร์แลนด์ (82.4 คะแนน), เขตบริหารพิเศษฮ่องกง (82.3 คะแนน), สหราชอาณาจักร (82.0 คะแนน), สวีเดน (81.7 คะแนน) , และเดนมาร์กอยู่อันดับ 10 (80.6 คะแนน)

ประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉลี่ยแล้วได้คะแนนอยู่ที่ 60 คะแนน

เคลาส์ ชวาบ ผู้ก่อตั้งดับเบิลยูอีเอฟ บอกว่าความเข้าใจและการเปิดกว้างต้อนรับเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งกำลังขับดันสิ่งที่เรียกกันว่า “การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศ

“ผมคาดหมายว่าจะเกิดการแบ่งแยกในระดับโลกอย่างใหม่ปรากฏขึ้นมา นั่นคือระหว่างพวกประเทศซึ่งเข้าใจดีว่าจะต้องทำการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในเชิงนวัตกรรม และพวกประเทศซึ่งไม่เข้าใจ” เขาระบุในคำแถลง

อย่างไรก็ดี ซาฮิดี ย้ำว่า “เทคโนโลยีไม่ได้เป็นยาวิเศษในตัวของมันเอง”

“ประเทศต่างๆ ต้องลงทุนในเรื่องคนและในเรื่องสถาบัน จึงจะสามารถได้รับผลตามที่เทคโนโลยีให้สัญญาไว้”

สำหรับประเทศไทยขึ้นมาอยู่ในอันดับ 38 จากอันดับ 40 ในปีที่แล้ว ด้วยคะแนน 67.5 คะแนน เพิ่มขึ้น 1.3 คะแนน ทั้งนี้เมื่อดูเฉพาะในกลุ่มอาเซียนแล้ว ไทยได้อันดับ 3 ของภูมิภาคเป็นรองสิงคโปร์ (อันดับ 2) และมาเลเซีย (อันดับ 25) ขณะที่เหนือกว่าอินโดนีเซีย (อันดับ 45) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 56) เวียดนาม (อันดับ 77) กัมพูชา (อันดับ 110) ลาว (อันดับ 112)

ในส่วนของชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ๆ จีนอยู่อันดับ 28 รัสเซียอันดับ 43 อินเดียอันดับ 58


กำลังโหลดความคิดเห็น